ไปต่อ ‘แบบใด’ เมื่อเศรษฐาโดน ‘โค่น’ ‘ชัยเกษม’ เป็นคำตอบ ?

ไปต่อ ‘แบบใด’เมื่อเศรษฐาโดน ‘โค่น’

‘ชัยเกษม’ เป็นคำตอบ ?

 

ไทยตกเป็นข่าวด่วนในหน้าสื่อใหญ่ต่างประเทศ ชวนให้นักลงทุนทั่วโลกแตกตื่นติดต่อกันอีกสัปดาห์ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จึงถือเป็นการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

ศาลอ่านคำวินิจฉัยยกให้เห็นว่า “นายพิชิต ชื่นบาน” เคยถูกศาลฎีกาสั่งจำคุก เป็นเรื่องที่คนทั่วไปรับทราบกันดี แต่นายเศรษฐาก็ยังแต่งตั้งนายพิชิตร่วมคณะรัฐมนตรี การที่นายเศรษฐาอ้างว่าตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่รู้ว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติมีลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรีนั้น ไม่สามารถรับฟังได้

มีผลทำให้นายเศรษฐาและคณะรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่งทันที โดยในส่วนรัฐมนตรีให้อยู่รักษาการต่อได้จนกว่าจะมีการตั้ง ครม.ใหม่

 

ต่างชาติที่อาจจะ “ไม่คุ้นเคยกับการเมืองไทย” อ่านข่าวประเทศไทยช่วงนี้คงจะอุทานว่า “นี่มันประเทศอะไรกัน” ยุบพรรค-ปลดนายกฯ กันแบบง่ายดาย แต่สำหรับคอการเมืองไทยแล้ว “ปรากฏการณ์การเมืองที่ไร้เสถียรภาพ” จะเกิด “อุบัติเหตุทางการเมือง” เมื่อไหร่ก็ได้เช่นนี้ แทบจะเป็นเรื่อง “คุ้นชิน” ไปแล้ว

เป็นอันว่า จากนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังระดับประเทศ ใช้เวลาเพียงราวๆ ครึ่งปี จากการประกาศตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐาก็สามารถเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้ แต่ก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียง 358 วัน ยังไม่ครบปีดี

หลังการอ่านคำวินิจฉัย นายเศรษฐาออกมาแถลงข่าวด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้าอำลาตำแหน่งนายกฯ ยอมรับว่าไม่คาดคิดว่าจะหลุดจากเก้าอี้ แต่ก็หมดเวลาของผมแล้ว…พร้อมขอบคุณศาลที่ให้โอกาสชี้แจง แต่ก็เสียใจที่บอกว่าตนเองเป็นนายกฯ ที่ไม่มีจริยธรรม เพราะความจริงไม่เป็นแบบนั้น

ขณะที่คู่แข่งทางการเมือง ‘พรรคประชาชน’ แถลงข่าวด่วนทันทีเช่นกัน ประกาศจุดยืนกังวลและไม่เห็นด้วยที่นายเศรษฐาถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมชี้ชัดเป็นความจำเป็นเร่งด่วนจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทบทวนเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

ปฏิบัติการ “เชือด” นายเศรษฐาและ ครม.เพื่อไทย ต้องยอมรับว่าเป็นผลงานทิ้งท้ายของ ส.ว.ชุดลากตั้งโดยคณะรัฐประหาร

เพราะกลุ่ม 40 ส.ว.ที่กำลังจะพ้นวาระอยู่แล้ว จู่ๆ ชิงยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา

ทั้งหมดกระทำอย่างรวดเร็ว จนเพื่อไทยแทบตั้งตัวไม่ทัน

นายทักษิณก็กลับทนไม่ได้ ออกมาระบุ เป็นฝีมือ “คนในบ้านป่าฯ” พร้อมๆ กระแสข่าวว่าบุคคลดังกล่าวเดินเกม มีเป้าหมายคือ “เก้าอี้นายกฯ”

แม้เพื่อไทยจะพยายามแก้เกม ผลักดันให้นายพิชิตลาออกจากรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ทันแล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง 40 ส.ว.ไว้พิจารณา สร้างความตึงเครียดให้กับนายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยตลอด 3 เดือน

แต่เพื่อไทยก็เรียกเซอร์ไพรส์อีก ด้วยการไปดึง “สุดยอดเนติบริกรของคณะรัฐประหาร” อย่างนายวิษณุ เครืองาม มาเป็นกุนซือกฎหมายสู้คดี

แต่สุดท้ายผลออกมาแบบคดีพลิก ไม่เป็นไปตามที่ “เซียนการเมือง” หลายคนคาดการณ์

 

ท่ามกลางข่าวการ “สะสมกำลังของขั้วต่างๆ ในฟากรัฐบาล” อยู่ในสถานการณ์ “ใครสามารถฟอร์มเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาได้สำเร็จ” ก็จะเข้าไปครองเก้าอี้ตึกไทยคู่ฟ้าได้

เพื่อไทยเห็นและเข้าใจสถานการณ์นี้ดีจึงเลือกเดินเกมเร็ว เปิดประชุมสภาเลือกนายกฯ คนใหม่ทันที

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดภาวะสุญญากาศในฝ่ายบริหาร ภาระความกดดันกลับไปตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทยและนายทักษิณว่าจะเลือกใครเป็นผู้นำคนต่อไป เพราะอย่างที่รู้กันว่าในภาวะการเมืองเช่นนี้ นายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ ก็มีปัญหาสุขภาพหากได้รับการเลือก แต่หากเป็น น.ส.แพทองธาร เป็นนายกฯ ตัวจริงก็อาจจะเสี่ยงเกินไปหรือไม่สำหรับอนาคตทางการเมืองของ “ตระกูลชินวัตร”

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์บีบบังคับ ท้ายที่สุด หวยจึงไปออกที่ “ชัยเกษม” โดยจะมีการเลือกในวันที่ 16 สิงหาคมนี้

การเมืองหลังจากนี้จึงยังคงอยู่ในภาวะไม่อาจจะไว้วางใจในเสถียรภาพได้ งานหนักรอนายชัยเกษมที่อาจเป็นผู้ถูกเลือกให้นั่งนายกฯ และรอรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย “เพื่อไทย” อยู่

1. คำวินิจฉัยส่งผลต่อบรรยากาศทางการเมืองของประเทศให้อึมครึม ตึงเครียดยิ่งขึ้น ปัญหาทางการเมืองอันเป็นผลผลิตของโครงสร้างการเมืองมรดกรัฐประหาร 2557 ยังคงอยู่ มองไม่เห็นทางออก ซึ่งผลจากความไม่พอใจนี้ กระทบศรัทธาที่มีต่อพรรคเพื่อไทยโดยตรงนับตั้งแต่การพลิกขั้วตั้งรัฐบาล แม้จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกว่า 1 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีทีท่าจะแก้ไข มีเพียงท่าทีการมุ่ง “รอมชอมทางการเมือง” กับขั้วอำนาจเดิมเท่านั้น

มีเพียงการทำการเมืองใหม่ กล้าแตะต้องโครงสร้างการเมืองมากกว่านี้เท่านั้นจึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งก็ต้องรอดูว่า รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายชัยเกษม จะขยับเรื่องนี้อย่างไร

2. สมรภูมิการต่อรองทางการเมืองภายในฝ่ายขั้วอำนาจรัฐบาลจะ “เข้มข้นขึ้น”

ล่าสุด จะเห็นการเดินเกมเปิดหน้าต่อรองทางการเมืองมากขึ้นจาก ภูมิใจไทย พรรคที่มีเก้าอี้ ส.ส.อันดับ 2 ในฝั่งรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นการออกหน้าปะทะรัฐบาลเพื่อไทย เรื่องนโยบายกัญชา จนคนเพื่อไทยจากเดิมที่เสียงแข็ง ต้องยอมผิดคำพูด ไม่เอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “บ่อนเสรี” ที่ภูมิใจไทยยกพลมาแถลงเปิดฉากคว่ำ ทั้งที่เพื่อไทยหวังจะใช้เป็น “นโยบายเรือธงใหม่”

หรือล่าสุดคือการประกาศ จะเอาตำแหน่ง รองประธานสภา ซึ่งคนพรรคเพื่อไทยก็แทบจะต้องรีบเอาไปประเคนให้แบบไม่มีคัดง้าง

ทั้งนี้ การเข้ามาของกลุ่ม ส.ว.สีน้ำเงินที่มีจำนวนสมาชิกกว่า 70% ของสภาสูง ยิ่งเพิ่มอำนาจต่อรอง ขณะที่ก็เก็บชัยชนะเลือกตั้งซ่อมท้องถิ่นได้หลายสนาม พร้อมๆ ไปกับการที่พรรคฝ่ายค้าน คะแนนอันดับ 1 ถูกยุบ ยิ่งทำให้สปอตไลต์ทางการเมือง ส่องไปที่ภูมิใจไทยมากขึ้น ในฐานะผู้ถือดุลอำนาจสำคัญของรัฐบาล

3. ปัญหาภายในพรรคเพื่อไทย ที่วันนี้แม้จะบริหารประเทศมาครบ 1 ปี แต่นโยบายเชิงรูปธรรมที่หาเสียง ยังจับต้องไม่ได้มาก ทั้งๆ ที่เคยเป็นจุดขายของพรรค

แม้นายทักษิณจะลงมาช่วยอย่างสุดตัว ลงพื้นที่ เข้าไปพูดคุยถึงที่ประชุม ส.ส. ความเชื่อมั่นก็ยังไม่ขยับ ขณะเดียวกันนายทักษิณเองก็ต้องโฟกัสไปที่อนาคต “น้องสาว”

4. สมรภูมิกับ “พรรคประชาชน” ในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ฟื้นตัวไวมาก แม้จะถูกคำพิพากษาประหารชีวิตทางการเมือง ยุบพรรคทิ้ง ใช้เวลาแค่อาทิตย์เดียวก็สามารถระดมคนมาสมัครสมาชิกได้แล้วเกือบ 6 หมื่นคน มีคนบริจาคเงินให้แล้วเกือบ 30 ล้านบาท โดยสถิติที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่มาจากเงินคนละเล็กคนละน้อย

แน่นอนสมรภูมิแรกในการปะทะกันของพรรคประชาชน ในฐานะฝ่ายค้าน และพรรคฝ่ายรัฐบาล คือ การเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี และการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกเขต 1 ที่จะต้องจับตา โดยทั้งสองสนาม สัญญาณตรงกันคือ “บ้านใหญ่รวมพลัง” สู้ “พรรคส้ม”

5. รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้นายกฯ คนใหม่ที่เป็นนักกฎหมายอย่างนายชัยเกษมต้องเจอกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมล้อม หนี้ครัวเรือนสูง กำลังซื้อไม่มี ดอกเบี้ยสูง หนี้สาธารณะพุ่งกระฉูด งบประมาณจะมาดำเนินนโยบายเรือธงก็หายาก ไม่นับปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลก ไม่นับวิกฤตการทุ่มตลาดราคาสินค้าจากจีนที่กำลังถาโถมประเทศไทย

รัฐบาลเพื่อไทยยังคงจับมือกับขั้วอำนาจเก่า ไปต่อแบบใด คำตอบคือลากกันไป ไปต่อ…แบบเหนื่อยหนักแน่นอน