ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางการเมืองนับตั้งแต่เข้าสู่เดือนสิงหาคมนั้น อุณหภูมิการเมืองเริ่มทวีความร้อนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาแค่เพียงครึ่งเดือนแรกกลับมีประเด็นให้เกาะติดและลุ้นมากมาย
เริ่มจากคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี
เมื่อพรรคสิ้นสภาพลง ส่งผลให้ ส.ส.ต้องรีบหาสังกัด ภายใน 60 วัน พรรคก้าวไกลจึงเปิดตัวบ้านใหม่ “พรรคประชาชน” ซึ่งเทกโอเวอร์มาจากพรรคการเมืองเดิมที่มีชื่อว่า “ถิ่นกาขาวชาววิไล” เพื่อรองรับ ส.ส.ทั้ง 143 คน
พร้อมกันนี้ยังเปิดตัว “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ขึ้นเป็นผู้นำทัพคนใหม่อีกด้วย
ถัดมาสัปดาห์นี้ มีเรื่องถึงขั้นเกิดแผ่นดินไหวทางการเมือง นั่นคือ คดีที่กลุ่มอดีต 40 สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมกันเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถอดถอน “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง
จากกรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดศาล
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) กรณีแต่งตั้ง “พิชิต” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ส่งผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องพ้นจากการทำหน้าที่ทั้งคณะด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 ตามกระบวนการ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะทำหน้าที่รักษาการนายกฯ
จนกว่าจะมีการฟอร์มเสียงเพื่อเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่สามารถเสนอได้ 7 ชื่อ จาก 5 พรรคการเมือง คือ
พรรคเพื่อไทย (พท.) มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายชัยเกษม นิติสิริ
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรรณ หัวหน้าพรรค
พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค
พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มี “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี
พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”
ส่วนพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เมื่อถูกยุบพรรคไปแล้ว “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก. ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี จึงพ้นจากการเป็นแคนดิเดตนายกฯ
สําหรับขั้นตอนเมื่อแต่ละพรรคฟอร์มเสียงกันได้ว่าจะเสนอแคนดิเดตนายกฯ เป็นชื่อใด ก็จะประสานไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอเปิดประชุมสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยจะใช้เสียงข้างมากของสภาชี้ขาด คือ ต้องไม่ต่ำกว่า 250 เสียง
ขณะที่ขั้วของพรรคร่วมรัฐบาลเศรษฐาเดิม ที่ทำงานร่วมกันมาเกือบจะครบ 1 ปี ในเดือนกันยายนนี้ โดยมีเรื่องที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องตกลงร่วมกันก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัยคุณสมบัตินายกฯ คือ
ผลพวงจากการที่พรรคก้าวไกลถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไป นั่นคือ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และ ส.ส.พิษณุโลก ถูกตัดสิทธิทางการเมือง เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ชุดที่มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหัวหน้าพรรค
ฉะนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.พิษณุโลก ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร ต้องโหวตเลือกบุคคลที่เหมาะสมเพื่อเข้ามาทำหน้าที่รองประธานสภาคนที่ 1
สำหรับตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 นั้น พรรคร่วมรัฐบาลมีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เก้าอี้ที่ว่างลงนั้นเป็นโควต้าของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และไม่มีความจำเป็นต้องสลับตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 กับรองประธานสภาคนที่ 2 ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคภูมิใจไทย
ส่วนการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น เมื่อย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อปี 2566 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 2 ส่วนพรรคเพื่อไทยได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3 ฉะนั้น ต้องรอดูว่า สรุปแล้วจะเป็นพรรค พปชร.หรือพรรค พท. ที่จะส่งผู้สมัครลงสนามชิงเก้าอี้ ส.ส. เพราะบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ต่างก็แสดงท่าทีชัดเจนพร้อมกับยึดมารยาททางการเมืองว่าจะไม่ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกันเอง
อย่างไรก็ดี เรื่องที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย เรียกประชุมพรรคร่วมรัฐบาล โดยเชิญหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค เข้าร่วมประชุม ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
โดยคาดการณ์ว่าจะมีการหารือประเด็นต่างๆ ทางการเมือง อาทิ ตำแหน่งรองประธานสภาคนที่ 1 ที่ว่างลง หลังนายประดิพัทธ์ สันติภาดา ถูกตัดสิทธิทางการเมือง รวมถึงการผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่ค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร
โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) พ.ศ….
ภายหลังการประชุมกลับมาเสียงจากแกนนำออกมายืนยันว่าไม่มีการหารือประเด็นร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ว่ารัฐบาลรับเข้ากระบวนการแล้ว อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ เมื่อเสร็จแล้วจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและนำเข้าสู่ ครม. หากตกลงอย่างไรจึงส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
แต่ทว่า ถัดมาเพียงวันเดียว พรรคภูมิใจไทย (ภท.) หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ออกมาตั้งโต๊ะแถลงจุดยืนต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์) พ.ศ…. โดยไม่เห็นด้วยกับสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ
1. พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่แก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และอาจทำให้มีการพนันทั้งบนดินและใต้ดินจนเกิดปัญหา
2. เรื่องผลประโยชน์ต่อรัฐ และประชาชน เรายังรู้สึกว่ายังไม่มีความชัดเจนมากพอที่จะลงทุนทำเรื่องแบบนี้
3. ผลกระทบต่อการขับเคลื่อนกระตุ้นท่องเที่ยว ซึ่งเราไม่มั่นใจว่ากาสิโนจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้
4. เท่าที่ดูยังไม่เห็นมาตราไหนของร่างกฎหมายดังกล่าว ระบุเรื่องการช่วยเหลือแรงงานชาวไทยในการจ้างงาน ซึ่งเชื่อว่าพรรคร่วมอื่นๆ คงมีความเห็นเช่นกัน และหวังว่ารัฐบาลจะนำประเด็นต่างๆ เหล่านี้ไปพิจารณา
อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทยยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการหักรัฐบาล แต่เป็นการเสนอความเห็นตามที่ได้รับโจทย์มาเท่านั้น
เรื่องนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลสามารถให้ความเห็นได้ เป็นเรื่องที่ดี จะได้ออกมาเพราะค่อนข้างละเอียดอ่อน และพรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. 70 กว่าคน เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนในหลายจังหวัด เรื่องนี้เราต้องมาพูดคุยกัน ถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่ได้มีอะไร
แต่ดูเหมือนแวดวงการเมืองไม่ได้มองบวกอย่างที่นายเศรษฐามอง โดยเชื่อว่า “มีอะไร”
โดยเฉพาะการแสดงตัวตน และ “เสียงดัง” ของพรรคภูมิใจไทยที่ในตอนนี้ซึ่งโดดเด่นยิ่ง จึงอาจทำให้พรรคเพื่อไทยต้องประเมินและวิเคราะห์ท่าทีของพรรคภูมิใจไทยอย่างใกล้ชิด
แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผัน ครม.ต้องสิ้นสภาพไปตามนายเศรษฐา การเมืองต้องมาจัดแถวกันใหม่
อย่างไรก็ตาม พรรคภูมิใจไทยก็ยังโดดเด่น เคียงคู่พรรคเพื่อไทยอย่างไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะการฟอร์ม ครม.ใหม่ ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล โดดเด่นยิ่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022