ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ลึกแต่ไม่ลับ |
ผู้เขียน | จรัญ พงษ์จีน |
เผยแพร่ |
วกกลับไปที่ “ยุบพรรคก้าวไกล” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 “ศาลรัฐธรรมนูญ” ประชุมปรึกษาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่ง “ยุบพรรคก้าวไกล”
“ผู้ร้อง” ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า “พรรคก้าวไกล” มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้อง และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
“ศาลรัฐธรรมนูญ” ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันแล้ว
1. มีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มติโดยเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1
2. มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค มีกำหนดเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค
3. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่าห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้องไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 94 วรรคสอง
โดยสมาชิกพรรคก้าวไกลที่ต้องโทษแบนคนละ 10 ปี มีทั้งหมด 11 คน
ประกอบด้วย 1. “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อดีตหัวหน้าพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2. “นายชัยธวัช ตุลาธน” อดีตเลขาธิการพรรค ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3. “ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์” เหรัญญิก 4. “ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล” นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5. “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ 6. “สมชาย ฝั่งชลจิตร” กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคใต้ 7. “อมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล” กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคกลาง 8 “อภิชาติ ศิริสุนทร” กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9. “เบญจา แสงจันทร์” กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก 10. “สุเทพ อู่อ้น” กรรมการบริหารพรรค 11. “อภิสิทธิ์ พรหมฤทธิ์” กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ
แม้พรรคจะโดนคำสั่งถูกยุบ แต่ก้าวไกลก็สั่นสะเทือนไม่มาก ผลจากการเลือกตั้งใหญ่เข้าวินมาเป็นที่ 1 จำนวนยอด ส.ส.มากที่สุดของสภาผู้แทนราษฎร กอปรกับกรรมการบริหารพรรคที่ต้องโทษเว้นวรรค มีเพียง 7 คนเท่านั้นที่เข้าข่าย สัดส่วนยังคงเหลือ 143 ที่นั่ง เสียงมากกว่าพรรคเพื่อไทย แกนนำซีกรัฐบาลซึ่งมีอยู่ 141 ที่นั่ง ยังขี่กันปริ่มๆ 2 เสียงอยู่
ตามไฟต์บังคับ เมื่อรังเก่าถูกยุบ สมาชิกก็ต้องหาบ้านหลังใหม่พักอาศัยภายใต้กรอบ 60 วันเพื่อไม่ให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสภาพ ท่ามกลางการคาดคะเนว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล จะเกิดมหกรรม “งูเห่าภาค 2” ต่อจากอนาคตใหม่ โดยพรรคการเมืองอื่นฉกตัว ส.ส.นกแลไปเสริมทัพ และล่าสุดก้าวไกลได้หัวใหม่เรียบร้อย ใช้ชื่อ “พรรคประชาชน” พร้อมสัญลักษณ์สามเหลี่ยมกลับหัว ยกประชาชนผู้เป็นรากฐานของประเทศไว้เหนือผู้ปกครอง พร้อมเส้นประกอบสามเส้น สื่อความหมายถึง เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ
สโลแกน “พรรคประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน สร้างประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”
ประชาธิปไตยทางตรงของประชาชนพลเมือง ที่ผ่านมาด้วยกระบวนการเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้แทนราษฎรมากำหนดชะตากรรมสังคมร่วมกัน แต่ต้นสังกัดคือ “พรรคการเมือง” ถูกยุบมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง นับกันแทบไม่ทัน หากย้อนสถิติกลับหลังหันไปดูคำสั่งยุบพรรคประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งใหญ่ๆ ตั้งแต่ปี 2550 “ยุบพรรคไทยรักไทย” ของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 111 คน คนละ 5 ปี
สมาชิกไทยรักไทย ที่รอดตายปาฏิหาริย์ ย้ายมาสังกัด “พรรคพลังประชาชน” แต่ในปี 2551 พรรคพลังประชาชนถูกยุบ พร้อมกับพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรค 109 คนถูกต้องโทษแบนคนละ 5 ปีกันอย่างเสมอหน้า
ปี 2562 “พรรคไทยรักไทย” ลูกข่ายของพลังประชาชน ที่เคยชนะเลือกตั้ง เล่นท่ายาก ส่งสมาชิกส่วนหนึ่งไปตั้งพรรค “ไทยรักษาชาติ” ถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองคนละ 10 ปี จำนวน 37 คน
ถัดมาเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคจำนวน 16 คน คนละ 10 ปี
สถิติ 23 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2541 เป็นต้นมา “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำสั่งยุบพรรค ทั้งขนาดจิ๋ว ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วรวม 111 พรรค โดยมี “ก้าวไกล” เป็นพรรคล่าสุดที่โดนยุบ
อย่างไรก็ตาม การยุบพรรคก้าวไกล ดูเหมือนว่าจะได้รับแรงกดดันจากต่างประเทศหนัก และมากที่สุด ทั้งจาก “องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายแห่ง” จากชาติมหาอำนาจ ไม่ว่า “สหรัฐอเมริกา-ยุโรป-สหราชอาณาจักร” ที่พากันแสดงท่าทีต่อการยุบพรรคก้าวไกล
โดยเฉพาะแถลงการณ์ของโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ใช้ถ้อยคำรุนแรง เรียกร้องให้ไทยปกป้องประชาธิปไตย รวมทั้งพิทักษ์รักษาเสรีภาพ เนื้อหาของแถลงการณ์ในเว็บไซต์สถานทูตสหรัฐระบุว่า
“เป็นการลิดรอนสิทธิ์ของคนไทยกว่า 14 ล้านเสียงที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง ทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาสามารถเลือกผู้แทนฯ ของตนในระบบการเลือกตั้งของไทยได้หรือไม่ คำตัดสินขัดกับความปรารถนาของชาวไทย ต่ออนาคตที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกากังวลอย่างยิ่ง”
ครั้งนี้ถือว่า “โลกล้อมประเทศไทย” มากกว่าครั้งไหนๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022