ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
www.facebook.com/bintokrit
สถานการณ์เขย่าใหม่
หลังการจากไปของเศรษฐา
พุธที่ 14 สิงหาคม 2567 ข่าวใหญ่ที่สุดในวันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนี้เกือบครบหนึ่งปี และมีผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องหลุดจากตำแหน่งไปทั้งหมด ตามข่าว “ด่วน! เศรษฐาไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 สั่งพ้นนายกฯ – ครม.หลุดทั้งคณะ” ทางลิงก์ https://www.matichon.co.th/politics/news_4735522
ทำให้เปิดฉากเดือนสิงหาคม 2567 มาได้ 2 สัปดาห์ก็มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นติดกัน 2 ข่าว
โดยที่ทั้ง 2 ข่าวล้วนแล้วแต่มีศาลรัฐธรรมนูญเล่นบทบาทสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันได้มีเหตุการณ์ “ยุบพรรคก้าวไกล” และตัดสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเป็นเวลา 10 ปี ส่งผลให้ในวันที่ 9 สิงหาคม หรืออีก 2 วันต่อมา ส.ส.ที่เหลืออยู่ย้ายไปสังกัด “พรรคประชาชน”
ท่ามกลางกระแสข่าวว่าจะมีการฟันซ้ำดาบสองตามมา โดยพุ่งเป้าไปที่ 44 ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา112
แต่ผ่านไปได้เพียง 5 วัน ข่าวการกำเนิดของพรรคใหม่ถอดด้าม รวมทั้งการเปิดตัวหัวหน้าพรรคหน้าใหม่วัยไม่ถึงเลข 4 อย่าง “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ก็ถูกข่าวนายกฯ เศรษฐากลบจนมิดไปแบบฉับพลัน
ทั้ง 2 ข่าวนี้มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ
หนึ่งในนั้นก็คือข่าวยุบพรรคก้าวไกลนั้นเป็นไปตามโผที่กูรูส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้
ขณะที่ข่าวนายกฯ เศรษฐากลับเป็นตรงกันข้าม เพราะกูรูส่วนใหญ่ฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่านายกฯ จะรอด
แต่ที่ไหนได้กลับถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพไปด้วยมติ 5:4 ทำให้ดูเหมือนว่าการเมืองไทยจะเข้าสู่แดนสนธยามากขึ้นทุกที
เพราะไม่มีใครคาดเดาอะไรได้เลยว่าแต่ละวันเรื่องราวต่างๆ จะผันแปรไปเป็นอย่างไร เอาแน่นอนไม่ได้ และไร้เสถียรภาพ
ปลายเดือนเดียวกันนี้จะมีข่าวใหญ่ตามมาอีกแน่นอน เพราะถึงคิวที่สถานภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จะต้องคลี่คลายให้ชัดเจนไปในทางใดทางหนึ่ง
ผลที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษกับผู้ถูกกล่าวหา ก็ย่อมส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองทั้งหมดในภาพรวม
สิงหาคมจึงนับเป็นเดือนแห่งพายุคลั่งที่กำลังเขย่ากระดานการเมืองไทยไปแบบมโหฬาร
การเขย่าอย่างแรกที่จะเห็นในเร็ววันนี้ก็คือนายกรัฐมนตรีคนใหม่เป็นใครในบรรดาแคนดิเดตที่เหลืออยู่
ซึ่งผู้ที่ถูกจับจ้องที่สุดคือ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ที่ถึงแม้ว่าไม่ได้เป็นผู้นำของพรรคการเมืองที่ครองที่นั่งมากที่สุดในสภาก็ตาม แต่ก็มีฐานอำนาจมากมายหนุนหลัง ดังนั้น จึงอยู่ในสถานะตัวเต็งที่นำหน้าแคนดิเดตคนอื่นๆ
การเขย่าอย่างที่สองคือการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ทั้งชุดซึ่งตามมาหลังจากได้นายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งก่อนที่ทุกอย่างจะสะเด็ดน้ำได้ก็คงผ่านการโรมรันพันตูกันอย่างดุเดือดในการช่วงชิงตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่
แน่นอนว่าพรรคการเมืองทั้งหลายที่ต้องการจัดสรรเก้าอี้ใหม่ให้สมตามความปรารถนาก็ย่อมต้องออกแรงสุดความสามารถเพื่อทำให้ได้รับการจัดสรรโควต้าที่น่าพอใจที่สุด
การเขย่าอย่างที่สามที่ตามมาก็คือนโยบายต่างๆ ที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเดิมได้ทำค้างไว้ก็ไม่แน่ว่าจะดำเนินต่อไปตามเดิมหรือไม่ ทุกอย่างต้องล้มไป หรือว่าปรับเปลี่ยนใหม่ หรือเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่มีใครยืนยันคำตอบที่แน่นอนได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการซึ่งเป็นที่พูดถึงมากที่สุดในรอบหลายเดือนอย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่ดูทีท่าว่าอาจเป็นหมันไปได้ง่ายๆ
เพราะฉะนั้น การทำงานจึงขาดความต่อเนื่อง ผลข้างเคียงอื่นๆ ก็คือเศรษฐกิจโดยรวมคงไม่สามารถโงหัวขึ้นได้ในเร็ววันนี้ ประจักษ์พยานที่เห็นได้ชัดเจนสุดก็คือตลาดหุ้นซึ่งดิ่งฮวบลงมาทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษาเสร็จ
การเขย่าสามอย่างนี้แทบจะเป็นบทสรุปรวบยอดตลอดการเป็นรัฐบาลหนึ่งปีที่ผ่านมาว่าทำอะไรไปมากมาย แต่ท้ายที่สุด สุดท้ายก็แทบไม่เกิดสัมฤทธิผลเลย
การเมืองในไทยสมัยปัจจุบันจึงดู “ลี้ลับ” แบบที่อดีตนายกฯ ทักษิณเคยพูดเอาไว้ และความลี้ลับที่ว่านี้มีผลอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการทำงาน
เมื่อเทียบกันปีต่อปีแล้ว ปีแรกของรัฐบาลไทยรักไทยในมือทักษิณ กับปีแรกของรัฐบาลเพื่อไทยในมือเศรษฐา จึงได้ผลออกมาต่างกันอย่างเทียบไม่ติด
ในขณะที่ปีแรกของรัฐบาลไทยรักไทยเมื่อ พ.ศ.2544 มีการปล่อยผลงานที่เรียกเสียงฮือฮาออกมาอย่างต่อเนื่อง
ทว่า ปีแรกของรัฐบาลเพื่อไทยใน พ.ศ.2566 ต่อเนื่องมาจนถึง 2567 กลับไม่สามารถผลิตโครงการเด็ดๆ ที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับยุคนั้น
ส่วนสำคัญคือโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ภูมิทัศน์การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ ที่ไม่เหมือนกับยุคก่อน ตลอดจนพละกำลังของสถาบันทางการเมืองทั้งหลายนอกเหนือไปจากพรรคการเมืองที่มีอิทธิฤทธิ์มากขึ้น และอยู่พ้นจากการตรวจสอบถ่วงดุลจากประชาชน หรือไม่ยึดโยงกับประชาชนนั่นเอง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้สถาบันทางการเมืองเหล่านี้มีฤทธิ์เดชสูงแต่อิสระ แทบไม่มีใครสามารถตรวจสอบหรือถอดถอนจากตำแหน่งแห่งหนได้
ผลก็คือต่อให้ใครได้เป็นรัฐบาลก็ใช่ว่าจะบริหารงานได้โดยง่าย โอกาสประสบความสำเร็จในขวบปีแรกจึงยากยิ่งกว่าเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนแบบเทียบไม่ติด
ปรากฏการณ์ทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมาซึ่งดูเหมือนแปลกประหลาดและคาดเดาอะไรไม่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงไปที่แก่นแกนหรือรากฐานของปัญหา นั่นคือความพยายามในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองที่กดทับผู้คนเอาไว้ให้ทลายออก แล้วจัดสรรความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ดังที่เห็นได้จากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองแนวใหม่ในช่วงหลังยุค คสช. เป็นต้นมา
ความพยายามวิเคราะห์เหตุการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันโดยมุ่งไปที่การอ่านปรากฏการณ์แบบตีความและวิเคราะห์รายประเด็นจึงแทบไม่มีบทสรุปอะไรที่แน่นอนเลย
มิหนำซ้ำยังตกกระแสไปอย่างรวดเร็วแบบวันต่อวัน วันนี้คิดว่าเป็นเช่นนี้แน่ แต่วันต่อมาก็ต้องคิดแก้ไขคำอธิบายใหม่ เพราะสถานการณ์ในแต่ละวันหมุนวุ่นไปเรื่อยอย่างอลหม่าน
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเอาแน่เอานอนไม่ได้ของการเมืองไทย การทำงานของกลไกและสถาบันทางการเมืองที่มีปัญหาเรื่องมาตรฐาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประชาชน แต่ดีเฉพาะกับผู้สังเกตการณ์ที่เสพข่าวสารเพื่อความบันเทิงเท่านั้น เพราะมันหวือหวาน่าสนุกและมีอะไรให้ลุ้นไม่หยุดหย่อน
ผลที่ปรากฏในวันนี้ชวนให้ติดตามว่าเกิดสิ่งใดตามมาในอีกวันหนึ่งราวกับเป็นนิยายโลดโผนน่าตื่นเต้น
ทว่า สำหรับประชาชนผู้สนใจและห่วงใยอนาคตบ้านเมือง แน่นอนว่าความวุ่นวายโกลาหลเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องดีต่อจิตใจของใครเลย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022