สิงหาฯ เศร้า | ปราปต์ บุนปาน

ก่อนหน้านี้ เคยเขียนเอาไว้ ณ พื้นที่นี้ว่า ตนเองมี “ความฝัน” และ “ความหวัง” ทางการเมืองอยู่สองเรื่องในเดือนสิงหาคม 2567

เรื่องแรก คือ “ฝัน” ว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ถูกยุบ

เรื่องที่สอง คือ “หวัง” (โดยเชื่อว่าน่าจะเป็นจริงได้ไม่ยาก) ว่า “เศรษฐา ทวีสิน” ควรได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับกลายเป็น “ความฝันลมๆ แล้งๆ” และ “การผิดหวัง”

เมื่อก้าวไกลถูกตัดสินยุบพรรค (และได้ฟื้นคืนชีพใหม่เป็น “พรรคประชาชน” เรียบร้อย พร้อมแรงสนับสนุนที่ยืนยันด้วยยอดผู้สมัครสมาชิกพรรคเกิน 5 หมื่นราย และยอดเงินบริจาคกว่า 25 ล้านบาท)

ส่วนนายกฯ เศรษฐา ก็ต้องพ้นตำแหน่งไปอย่างน่าประหลาดใจ โดย (ณ ช่วงเย็นวันที่ 14 สิงหาคม) ยังไม่ทราบว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ จะดำเนินงานทางการเมืองต่อไปอย่างไร? นายกรัฐมนตรีใหม่จะเป็นใคร? และหน้าตา ครม.ใหม่ จะเป็นแบบไหน?

 

คําถามชุดใหญ่ต่อมา ก็คือ ไม่แน่ใจว่าพวกเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์อะไรกันแน่?

รัฐประหารเงียบ? รัฐประหารแบบใหม่? ตุลาการภิวัตน์? ตุลาการธิปไตย? หรืออะไรอย่างอื่น?

พวกเราใช้ชีวิตอยู่ในระบอบการปกครองแบบใด?

ยังเรียกว่า “ประชาธิปไตย” (แม้เพียง “เสี้ยวเดียว” ไม่ต้องพูดถึง “ครึ่งใบ”) ได้เต็มปากหรือไม่? หรือเป็นอะไรอย่างอื่นที่ “ไม่ใช่ประชาธิปไตย”

ในเมื่อภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2566 เพียงแค่ปีเดียว พรรคการเมืองอันดับหนึ่งที่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลต้องถูกตัดสินยุบพรรค ส่วนนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอันดับสองที่ข้ามขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ก็ต้องพ้นตำแหน่ง

ด้วยคำวินิจฉัย-การตัดสินลงโทษที่คล้ายจะ “ไม่ค่อยสมเหตุสมผล-ผิดสัดผิดส่วน” ในอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนคนส่วนใหญ่ ซึ่งสัมผัสไม่ได้ถึง “ความชอบธรรม” หรือ “หลักการที่ถูกต้องเหมาะสม” ทางรัฐธรรมนูญ

และท้ายสุด พวกเรากำลังอยู่ในประเทศแบบไหน?

คำตอบที่เห็นได้ชัด ก็คือ เราอยู่ในประเทศที่ไร้เสถียรภาพ ไม่มีอนาคต ประเทศของ “หมาป่าไล่ล่าลูกแกะ” ซึ่ง “ฝ่ายผู้มีอำนาจ” ใช้อำนาจของตนเองตามอำเภอใจ

ประเทศที่ไม่สามารถส่งมอบความหวังและความใฝ่ฝันใดๆ ให้แก่พลเมืองของตน

 

โศกนาฏกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นสองครั้งสองคราวติดต่อกันในเดือนสิงหาคม 2567 บ่งบอกว่า สังคมไทยยุคปัจจุบัน แทบไม่มีที่ทางเหลือให้ (คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของ) “ประชาชน” เลย

บ่งบอกว่าสังคมการเมืองไทยคือแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่มี “ประชาชน” อยู่ในสมการ และมองไม่เห็นหัว “ประชาชน”

นี่คือสังคมที่คนมีอำนาจทอดทิ้งให้ “ประชาชน” ตกอยู่ในสภาพการณ์อันน่าอึดอัดคับข้องใจ น่าสิ้นหวัง มองไม่เห็นทางออก และถูกปฏิบัติราวกับว่าตนเองไม่มีสถานภาพเป็น “ประชาชน”

ส่วน “ประชาชน” ก็ไม่รู้สึกว่าพวกตนมีความยึดโยงกับ “ระบอบอำนาจ”

นี่คือ “สังคมการเมืองอันป่วยไข้” ที่ “ชนชั้นอำนาจ” ไปทาง “ประชาชน 25 ล้านเสียง” ไปอีกทาง

และไม่รู้จะอยู่กันอย่างไรต่อไป •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน