ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2567
สายฝนห่มคลุมทางตอนเหนือของประเทศไทยมาแล้วกว่าหนึ่งสัปดาห์ โดยเฉพาะบนพื้นที่ป่าดิบเขา ถึงแม้ว่าบริเวณพื้นที่อันมีความสูงราว 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล สายฝนจะเบาบาง และ พอมีแสงจากดวงอาทิตย์ลอดดงไม้ทึบมาให้เห็นบ้าง
แต่บนพื้นที่สูงกว่า 2,000 เมตร สายฝนโปรยหนักสลับเบา หมอกหนาทึบ มองเห็นข้างหน้าไม่เกิน 5 เมตร
ผมเดินไปตามเส้นทางเล็กๆ ค่อนข้างลื่นไถล รายล้อมด้วยพืชพันธุ์ ในป่าดิบเขาระดับสูง
เส้นทางนำไปถึงที่โล่ง จากที่โล่งเดินอีกราว 300 เมตร ถึงบริเวณหน้าผา แนวผาเบื้องล่างและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นที่ซึ่งผมเคยใช้เวลาหลายปี เฝ้าดูชีวิตหนึ่ง ชีวิตที่โลดแล่นไปตามหน้าผาชันๆ ได้ อย่างน่าอัศจรรย์
ชีวิตที่นักเดินทาง ในช่วงปี พ.ศ.2433 ถึงปี พ.ศ.2465 เฮนรี่ คาร์เรด และอัลเฟรด เคอร์ ได้บันทึกการเดินทางสำรวจพืชพันธุ์ บางส่วนในบันทึกของพวกเขาคือ พบเห็นสัตว์ป่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระทิง กระซู่ และกวางผา
อีกทั้งในบันทึกของ ดร.คาร์ ฮอสเชตส์ ซึ่งบันทึกการเดินทางสู่ผืนป่าแห่งนี้ ในปี พ.ศ.2488 ก็กล่าวถึงความชุกชุมของสัตว์ป่า
ต่อมา อีชี ดิกคินสัน และคณะ ที่มาสำรวจนกในปี พ.ศ.2506 ในบันทึกของพวกเขาเป็นเช่นเดียวกัน ผืนป่าแห่งนี้คือแหล่งอาศัยที่ดีของเหล่าสัตว์ป่า
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่สัตว์ป่าหลายชนิดหายไปจากที่นี่
แต่มีสัตว์ป่าชนิดหนึ่งยังคงอยู่ สัตว์ป่าที่ผมเคยใช้เวลาหลายปีเฝ้าดู สัตว์ป่าที่เราเรียกมันว่า กวางผา
ผมเดินมาหยุดริมขอบผา สายหมอกและละอองฝนทำให้รอบตัวเปียกชื้น
ผมจำได้ดี หากเป็นวันที่สภาพอากาศแจ่มใส ช่วงเวลานี้แสงอาทิตย์จะเริ่มสาดส่องถึงหน้าผาด้านตะวันตก แสงจะไล่ต่ำลงไปเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไปจนกระทั่งถึง 9 โมงเช้า สันเขาด้านตะวันออกจะบังแสงอาทิตย์ไว้
ลาดผาด้านตะวันตกนี่คือ ที่อยู่ของกวางผา
ที่นี่ผมเห็นพวกมัน 8 ตัว และในช่วงที่ฤดูฝนจากไปแล้ว สายลมหนาวเดินทางมาถึง ผมเห็นแม่กวางผาและลูก ที่ซุกอยู่ใต้ท้องแม่ และเงยหน้าดูดน้ำนมแม่
วันนี้สายหมอกหนาทึบ ทำให้ผมมองเห็นข้างหน้าได้ไม่เกินระยะ 5 เมตร
ผมไม่รู้หรอกว่าในสภาพอากาศเช่นนี้ กวางผาใช้ชีวิตอยู่เช่นไร พวกมันจะหลบอยู่ตามซอกหิน หรือยืนนิ่งบนชะง่อนหิน อย่างที่ผมเห็นเสมอๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมรู้คือ ใต้สันดอยนี้มีกวางผา มองไม่เห็น ไม่ได้หมายความว่าไม่มี
กวางผาจะอยู่บริเวณสันเขาเมื่อแสงแรกของยามเช้าส่องถึง พื้นที่บนสันเขานั้นจะโล่งเตียน มีหญ้าขึ้นบนพื้นที่มีดินตื้นๆ บริเวณนี้ลมจะพัดรุนแรง จึงไม่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้น
ยอดหญ้าตอนเช้ามีหยาดน้ำค้างเกาะพราวกระทบแสงเป็นเงา เมื่อสายลมหนาวครอบคลุม บางวันหยาดน้ำค้างจะกลายเป็นน้ำแข็ง
ช่วงเช้า กวางผามักจะยืนนิ่งๆ บางครั้งทรุดตัวลงครึ่งนั่งครึ่งนอน หากเป็นวันที่สภาพอากาศแจ่มใส อาจนอนเหยียดยาวคางเกยก้อนหินหลับตาพริ้ม
ครั้นเมื่อแสงอาทิตย์ส่องถึงหุบเขาด้านล่าง แถวชะง่อนหินนั้นร้อน กวางผาจะไต่ลงไปข้างล่างกระทั่งถึงหุบซึ่งเป็นดงไม้ทึบ ในหุบนั้นมีลำห้วยสายเล็กๆ
กวางผาจะอยู่แถวๆ นั้นจนถึงบ่ายๆ และเริ่มไต่ขึ้นด้านบนราวบ่ายสามโมง
ขณะไต่ขึ้น ทักษะและความคล่องแคล่วในการปีนป่ายปรากฏให้เห็น การกระโดดไปตามพื้นที่ลาดชันเกิน 45 องศา ดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายดาย
มันจะขึ้นมาที่ชะง่อนหิน และยืนนิ่งๆ อยู่กับที่ ไปจนถึงพลบค่ำ
วันนี้ผมไม่เห็นภาพเช่นนี้หรอก สภาพอากาศไม่อำนวยให้ผมเห็น
แต่ผมจำได้ดีว่า กวางผาที่ยืนนิ่งๆ บนชะง่อนหิน สอนบทเรียนอะไรให้
หยุดนิ่ง หยุดใจที่ร้อนรุ่มกระวนกระวาย หนทางข้างหน้า คล้ายจะชัดเจน
ก่อนเดินถึงทุ่งโล่ง ผมเดินผ่านดงไม้ก่อและสารภีป่า แต่ละต้นใหญ่โตขนาดโอบไม่รอบ ตามลำต้นที่สูงราว 30 เมตรเหล่านี้ ถูกปกคลุมด้วย มอสส์ เฟิร์น และฝอยลม อย่างหนาแน่น
ภาพที่เห็นคล้ายกับฉากเรื่องราวลี้ลับ แท้จริงนี่คือการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตให้เราได้เห็น คล้ายกับว่าในป่าจะไม่มีชีวิตใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว ความสัมพันธ์อาจปรากฏในรูปแบบต่างๆ ได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ไม้ก่อ, สารภี มีพวกมอสส์ เฟิร์น สะเภาลม เกาะอยู่รอบกิ่งก้าน และลำต้น
เหล่ามอสส์ เฟิร์น ได้อาศัยต้นไม้เป็นที่เกาะ ส่วนต้นไม้ก็ได้มอสส์ เฟิร์น สะเภาลมช่วยห่อหุ้มลำต้นเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้
ผมมองรอบๆ ป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพา ไม่มีชีวิตใดอยู่อย่างโดดเดี่ยว ต่างได้ประโยชน์ในการพึ่งพาอาศัยอยู่ร่วมกัน
เป็นวิถีอันอยู่มาเนิ่นนาน นานกว่าความขัดแย้งใดๆ ที่มีอยู่บนโลกนี้
บางทีนี่อาจเป็นบทเรียนจริงๆ ที่ธรรมชาติพยายามสอน
ต้นเดือนสิงหาคม สายฝนห่มคลุมผืนป่าดิบเขา
ผมมาที่ดอยแห่งนี้
สายหมอกหนา ละอองฝนเปียกชื้น มองรอบๆ ได้ไม่เกิน 5 เมตร ด้วยสภาพอากาศ ผมมองอะไรไม่เห็น แต่ผมรู้ดีว่าใต้สันดอยนั้นมีอะไร สภาพป่าในช่วงฤดูฝน และชีวิตที่ปรับตัวไปตามฤดูกาล
ผ่านวันเวลามานานพอสมควร ป่าสอนบทเรียนต่างๆ มากมากมายให้ได้เรียนรู้ ผมเริ่มเข้าใจ ผมขึ้นดอยในสภาพที่สายฝนและหมอกขาวโพลน รอบๆ ตัวมองเห็นได้แคบลงทุกขณะ
ภาพ “ใต้สันดอย” พร่ามัว แต่ดูเหมือนว่า “ภาพ” ข้างในจะชัดเจนยิ่งขึ้น … •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022