ดราม่ายิมโอลิมปิก และ ‘เหยื่อ’ ทั้งสาม

จัดเป็นมหกรรมกีฬาแห่งความดราม่าก็ว่าได้สำหรับศึก โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเพิ่งปิดฉากลง เพราะตั้งแต่วันแรกยันวันสุดท้ายก็มีประเด็นให้ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันตลอด

สำหรับโค้งสุดท้ายของปารีสเกมส์มีเรื่องให้แฟนกีฬาวิจารณ์ในวงกว้าง เรื่องเหรียญทองแดงจากการแข่งขัยยิมนาสติกศิลป์หญิง อุปกรณ์ฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ ซึ่งมีดราม่าหลากหลายประเด็น

อีเวนต์นี้แข่งกันตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม เรื่องเหรียญทองกับเหรียญเงินไม่มีปัญหา แต่มามีประเด็นเรื่องเหรียญทองแดง โดยเมื่อนักกีฬาแข่งขันจบทั้ง 9 คน คะแนนเรียงลำดับที่ 3-5 คือ อนา บาร์โบซู (โรมาเนีย) 13.700 คะแนน, ซาบริน่า มาเนก้า-วอยเนีย (โรมาเนีย) 13.700 คะแนน (คะแนนความสมบูรณ์ของท่าน้อยกว่า) และ จอร์แดน ไชล์ส (สหรัฐ) 13.666 คะแนน

หลังประกาศผลในสนาม บาร์โบซูและมาเนก้า-วอยเนีย รวมถึงโค้ชต่างกอดกันด้วยความดีใจทั้งน้ำตา เนื่องจากนี่เป็นเหรียญโอลิมปิกเหรียญแรกในรอบ 12 ปีของโรมาเนียซึ่งเคยได้ชื่อว่ามหาอำนาจในกีฬายิมนาสติกเมื่อครั้งอดีต

จอร์แดน ไชล์ส

อย่างไรก็ตาม ขณะที่บาร์โบซูกำลังถือธงชาติฉลองบนเวที ผู้ชมบนอัฒจันทร์ส่งเสียงฮือฮาจนเธอหันไปดูสกอร์บอร์ดอีกครั้ง ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงคะแนนของจอร์แดน ไชล์ส นักยิมสาวชาวอเมริกันซึ่งเล่นเป็นคนสุดท้าย จาก 13.666 เป็น 13.766 คะแนน ไชล์สจึงขยับจากอันดับ 5 แซงบาร์โบซูและมาเนก้า-วอยเนีย ขึ้นไปคว้าเหรียญทองแดงแทน

เนื่องจากหลังประกาศคะแนนของไชล์ส โค้ชทีมชาติสหรัฐได้ยื่นประท้วงคะแนนความยากของท่า (D-Score) เมื่อกรรมการกลับมาพิจารณาภาพช้าแล้วจึงปรับเพิ่มคะแนนอีก 0.1 คะแนน จนนักยิมสาวสหรัฐก้าวไปคว้าเหรียญทองแดง

ประเด็นนี้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะจากฝั่งโรมาเนีย แม้แต่ นาเดีย โคมาเนชี่ ตำนานยิมนาสติกหญิงของประเทศยังออกมาเคลื่อนไหว โดยตั้งคำถามกับกรรมการทั้งต่อหน้าและในโซเชียล

นาเดียบอกว่า สภาพจิตใจของนักกีฬาควรได้รับการปกป้อง พร้อมเรียกร้องให้กรรมการพิจารณาคะแนนของนักยิมโรมาเนียใหม่ โดยเฉพาะกรณีของมาเนก้า-วอยเนีย ซึ่งโดนหัก 0.1 คะแนน โดยคาดกันว่ามาจากจังหวะยืนตรงมุมสนามที่ส้นเท้าอาจจะเหยียบล้ำออกไปนอกเบาะ

แต่เมื่อพิจารณามุมกล้องโทรทัศน์แบบโคลสอัพแล้ว ปรากฏว่าส้นเท้าของเธอไม่ได้ออกนอกเขตตามที่เข้าใจ จึงไม่ควรโดนตัดคะแนนแต่อย่างใด

อนา บาร์โบซู

สหพันธ์ยิมโรมาเนียและคณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาโลก (ซีเอเอส) ขณะที่นายกรัฐมนตรี มาร์เซล ซิโอลาคู ประกาศบอยคอตพิธีปิดโอลิมปิกเพื่อประท้วงที่นักกีฬาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

ในท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม หรือ 5 วันหลังการแข่งขัน ศาลกีฬาโลกมีคำตัดสินให้การปรับเปลี่ยนคะแนนของไชล์สเป็นโมฆะ เนื่องจากโค้ชทีมชาติสหรัฐยื่นประท้วงเกินเวลา 1 นาทีที่ สหพันธ์ยิมนาสติกนานาชาติ (เอฟไอจี) กำหนดไป 4 วินาที

เมื่อยกเลิกการเปลี่ยนคะแนน ไชล์สจึงตกไปอยู่อันดับ 5 ส่วนบาร์โบซูและมาเนก้า-วอยเนีย กลับไปอยู่อันดับ 3-4 ตามเดิม

สุดท้าย คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) สั่งเรียกคืนเหรียญทองแดงจากไชล์สเพื่อประสานส่งมอบให้คณะกรรมการโอลิมปิกโรมาเนียนำไปมอบต่อให้บาร์โบซูต่อไป

ฝั่งอเมริกาไม่ยอมแพ้ สหพันธ์ยิมนาสติกสหรัฐยืนยันว่ามีหลักฐานว่าเฮดโค้ชทีมชาติยื่นประท้วงภายใน 47 วินาทีหลังประกาศผล ถือว่าเป็นไปตามกติกา แต่ศาลกีฬาโลกปฏิเสธที่จะรับพิจารณาหลักฐานใหม่เพราะถือว่าคำตัดสินในประเด็นดังกล่าวสิ้นสุดไปแล้ว

ฝั่งสหรัฐก็ยังไม่ยอมถอดใจ เตรียมต่อสู้ในช่องทางอื่นต่อ

ซาบริน่า มาเนก้า-วอยเนีย

ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร “เหยื่อ” ของเหตุการณ์ไม่พ้นนักกีฬาทั้ง 3 คน เพราะเมื่อมองในมุมที่แตกต่าง ทุกคนล้วนมีสิทธิได้ครองเหรียญทองแดงนั้นในเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ พวกเธอยังได้รับผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพจิต เมื่อทั้ง 3 คนตกเป็นเป้าของการ “ไซเบอร์บูลลี่”

ฝั่งไชล์สโดนข้อความเชิงเหยียดผิวและดูหมิ่นเหยียดหยามมากมาย จนเจ้าตัวประกาศพักเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อรักษาสุขภาพจิต

ขณะที่ฝั่งสองนักกีฬาโรมาเนียก็โดนโยงว่าใช้ white privilege หรือ “เอกสิทธิ์คนขาว” ให้ตัวเองชนะการอุทธรณ์ ไม่ก็เป็นพวกขี้แพ้ชวนตี

ไม่ว่าผลสรุปจะออกมาอย่างไร นักกีฬาทั้ง 3 คนต่างได้รับผลกระทบรุนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นจากการแข่งขันกีฬา

ซึ่งผลกระทบเรื่องจิตใจที่พวกเธอได้รับทั้งตอนเกิดเรื่องและปฏิกิริยาตามหลังอาจต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะตั้งหลักกลับมาได้อีกครั้ง •

 

Technical Time-Out | SearchSri