ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คนมองหนัง |
ผู้เขียน | คนมองหนัง |
เผยแพร่ |
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “โมฮัมหมัด ราซูลอฟ” ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิหร่าน ตัดสินใจลักลอบเดินทางออกจากประเทศบ้านเกิดเพื่อลี้ภัยไปยังทวีปยุโรป ภายหลังเขาถูกศาลพิพากษาลงโทษ ในฐานะนักโทษทางการเมืองที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล
ผู้กำกับฯ รายนี้ เลือกหนทางลี้ภัยเพราะหวังจะทำหนังเรื่องล่าสุดของตนเอง คือ “The Seed of the Sacred Fig” ให้เสร็จสมบูรณ์ และสุดท้าย ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้รับรางวัล “สเปเชียล จูรี ไพรซ์” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ประจำปี 2024
ล่าสุด ราซูลอฟให้สัมภาษณ์กับ “นิก วิวาเรลลี” แห่ง “วาไรตี้” ระหว่างเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ “โลคาร์โน” ที่สวิตเซอร์แลนด์ ว่าด้วยสภาพการณ์ทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน
ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจดังต่อไปนี้
: คุณเดินทางออกจากอิหร่านด้วยหัวใจอันหนักอึ้ง คุณต้องปรับตัวกับการใช้ชีวิตในทวีปยุโรปอย่างไรบ้าง?
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นของผมก็คือการพยายามใช้ชีวิตในอิหร่านให้ได้ ผมอยากเล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านภาพยนตร์ของตนเอง ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นจำเป็นจะต้องถูกบอกเล่าออกมาจากภายในของประเทศอิหร่าน
ด้วยความมุ่งมั่นเช่นนั้น ผมจำเป็นจะต้องอดทนอดกลั้นต่อการถูกสั่งห้ามทำหนัง, ถูกสั่งห้ามไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศ, อดทนกับการถูกสอบปากคำจากเจ้าหน้าที่รัฐ, อดกลั้นกับความยากลำบากในการต้องหลบไปทำหนังใต้ดิน แล้วสุดท้าย ตัวเองก็ต้องโทษจำคุก ความกดดันทั้งหมดเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการเดินทางอันยาวไกล
การถูกขังอยู่ในเรือนจำเปิดโอกาสให้ผมได้คิดใคร่ครวญไตร่ตรองถึงเรื่องทั้งหมดนี้ หลังได้รับการปล่อยตัว ผมก็ตระหนักได้ว่าตนเองกำลังจะถูกศาลพิพากษาลงโทษซ้ำอีกครั้ง ในชั่วระยะเวลาไม่นานนัก หมายความว่าผมต้องกลับเข้าคุกอีกหนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเข้าฟังคำพิพากษาในคดีใหม่ ซึ่งเป็นกรณีที่สำคัญมาก ผมได้ตัดสินใจเริ่มถ่ายหนังเรื่อง “The Seed of the Sacred Fig” เมื่อถ่ายทำไปได้ครึ่งทาง คำพิพากษาจากศาลชั้นต้นก็ถูกตัดสินออกมา
และหลังถ่ายทำหนังจบเพียงไม่กี่วัน ผมก็ได้รับทราบคำพิพากษาขั้นสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกผมเป็นเวลานาน 8 ปี
ในฐานะคนทำหนัง ผมต้องเลือกระหว่างการทำหนัง (ในกระบวนการโพสต์โปรดักชั่น) ให้เสร็จ กับการมองเห็นตนเองเป็นเหยื่อรายหนึ่ง ซึ่งต้องเดินกลับเข้าคุกอีกรอบ
คำพิพากษาดังกล่าวทำให้ผมเกิดความกล้าที่จะหลบหนีออกจากอิหร่าน ผมรู้ดีว่านั่นจะต้องเป็นการเดินทางอันแสนไกล ณ ตอนนี้ ผมรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเดินทางออกไปทำงานในระยะยาว พร้อมด้วยภารกิจที่ยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้น ซึ่งต้องการความเอาใจใส่เป็นอย่างสูง
ที่นอกประเทศอิหร่าน ผมมีเพื่อนที่ดีเป็นจำนวนมากและมีความหวังอันยิ่งใหญ่ที่ปลุกเร้าให้ผมมีความพยายามสูงขึ้นไปอีก
: คุณคิดเห็นอย่างไรกับผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในอิหร่าน ซึ่งนักการเมืองสายปฏิรูปอย่าง “มาซูด เปเซซเคียน” ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่? คุณคิดว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหรือไม่?
ณ ใจกลางของอำนาจ สาธารณรัฐอิสลามอิหร่านกำลังอยู่ในภาวะที่เปราะบางและไร้เสถียรภาพ พวกเขาขาดความชอบธรรมและไม่ได้รับความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่
หลายทศวรรษหลัง พวกเขาปกครองอิหร่านด้วยการกดปราบอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งเชื่อมโยงกับการปลุกปั่นให้เกิดวิกฤตการณ์หลายครั้งหลายหน เพื่อธำรงการอยู่รอดของตัวเอง อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ถูกปลุกปั่นขึ้นมาก็ค่อยๆ สั่งสมขึ้นเป็นดินพอกหางหมู
สถานการณ์ที่เราไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น อย่างขบวนการเรียกร้องเสรีภาพในการใช้ชีวิตของสตรี และความกล้าหาญในการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงจำนวนมาก ได้เข้าไปปั่นป่วนก่อกวนโลกทัศน์ทางการเมืองของชนชั้นนำผู้ถือครองอำนาจ
ภายหลังการพังทลายลงของรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดี “อิบราฮิม ไรซี” (เสียชีวิตจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก) ซึ่งถือเป็นตัวอย่างอันเป็นรูปธรรมชัดเจนของระบอบการปกครองแบบรัฐอิสลามที่เต็มไปด้วยความไม่รู้และไร้ประสิทธิภาพ กลุ่มผู้มีอำนาจต้องใช้เวลาอยู่พักหนึ่งเพื่อแสวงหาตัวเลือกที่จะช่วยพลิกฟื้นระบอบให้หวนคืนสู่สภาพปกติ
รัฐบาลเปเซซเคียนคือตัวเลือกที่ถูกใช้เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์รอบนี้ แต่พวกผู้มีอำนาจก็รู้ดีว่าประธานาธิบดีของอิหร่านน่ะ ไม่ได้มีบทบาทสลักสำคัญนักหรอก ต่อการกำหนดทิศทางการเมืองภายในประเทศ รวมถึงการกำหนดนโยบายด้านต่างประเทศในระดับมหภาค
รัฐบาลอื่นๆ ก่อนหน้ารัฐบาลเปเซซเคียนล้วนแล้วแต่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิถีทางของประเทศอิหร่านด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็ทำไม่สำเร็จ
: ครั้งล่าสุดที่เราได้สนทนากัน คุณคิดว่าระบอบการเมืองปัจจุบันของอิหร่านกำลังตกอยู่ในสภาพการณ์ที่จะไม่สามารถประคับประคองอำนาจเอาไว้ได้ในระยะยาว ดังนั้น ประชาคมนานาชาติจึงควรเลิกดำเนินนโยบายแบบอ่อนโยนกับพวกเขา และควรขัดขวางไม่ให้พวกเขาใช้ประชาชนในประเทศของตนเองเป็นตัวประกันอีกต่อไป ปัจจุบันนี้ คุณยังคงเชื่อเช่นนั้นอยู่อีกหรือไม่? และคุณคิดหรือคาดหวังว่าหนังของคุณเองจะสามารถช่วยสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลอิหร่านได้มากน้อยเพียงใด?
เรื่องที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ ผมคาดหวังจะเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในสังคมอิหร่าน และผมต้องการตั้งคำถามต่อใครก็ตามที่ยังคงช่วยค้ำจุนอำนาจของระบอบการปกครองในปัจจุบันอยู่ ไม่ว่าพวกเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามที
ขณะเดียวกัน ประสบการณ์ก็บอกผมว่า ภาพยนตร์ทุกเรื่องของผมสามารถทำงานกับผู้ชมชาวอิหร่านได้อย่างเต็มศักยภาพ พูดอีกแบบได้ว่า ผลงานเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจของตัวผมเอง ในการฉายภาพอันสมจริงของยุคสมัยที่ผมมีชีวิตอยู่
แม้ว่าประเทศอิหร่านในช่วงเวลาดังกล่าวจะเต็มไปด้วยการเซ็นเซอร์และการกดปราบอันเข้มข้นทั่วทุกหัวระแหงก็ตาม •
| คนมองหนัง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022