ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ ส่งกำลังทหารบุกข้ามแดนเข้าไปในรัสเซียเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาของยูเครนนั้น กลายเป็นประเด็นน่าสนใจอย่างยิ่ง
ไม่เพียงในแง่ของการทหาร แต่ยังส่อนัยถึงอะไรต่อมิอะไรอีกหลายประการในหลายแง่มุมอย่างยิ่ง
ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนกำลังที่เงียบอย่างยิ่ง ปิดลับอย่างยิ่ง ชนิดที่แม้แต่บรรดาทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในยุทธการยังไม่มีใครรับรู้
ว่ากันว่า พวกเขาเพียงแค่ได้รับคำสั่งให้เก็บสัมภาระและยุทโธปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการเคลื่อนกำลังเมื่อ 4 สิงหาคม ได้เห็น ได้รับรู้เฉพาะในส่วนเฉพาะหน้าที่จำเป็นต้องรู้เท่านั้น
การรุกเงียบเข้าสู่จังหวัดคูร์สก์ มณฑลชายแดนติดกับยูเครนของรัสเซียในครั้งนี้กลับมีประสิทธิภาพเกินคาด เกินความคาดหมายแม้แต่สำหรับกลุ่มผู้วางแผนด้วยซ้ำไป
ภายในเวลาเพียง 7 วัน พล.อ.โอเลกซานเดอร์ ซีร์สกี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของยูเครนสามารถอวดอ้างได้ว่า กองกำลังของตนเข้าไป “ควบคุม” พื้นที่ของคูร์สก์ในรัสเซีย ได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร
ทหารรัสเซียจำนวนมากถูกสังหารหรือไม่ก็ถูกจับเป็นเชลย
โดยส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นเพียงทหารเกณฑ์ไร้ประสบการณ์ก็เป็นแค่กองกำลังรักษาดินแดน ที่เป็นหน่วยกำลังภายในประเทศที่ยกธงขาวยอมแพ้โดยเร็วเท่านั้น
ที่น่าสนใจก็คือ ทหารยูเครนประสบความสำเร็จในปฏิบัติการครั้งนี้ สามารถยึดดินแดนของข้าศึกได้มากพอๆ กับที่กองทัพรัสเซียทำได้ แต่ต้องใช้เวลาตั้งแต่ต้นปีเรื่อยมาจนถึงขณะนี้เลยทีเดียว
ตลอดปีนี้ทั้งปี ทหารรัสเซียรุกคืบยึดครองดินแดนยูเครนได้เพียง 1,175 ตารางกิโลเมตรเท่านั้นเอง
ผลสะเทือนจากปฏิบัติการครั้งนี้ เห็นได้ชัด เมื่อ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา โทรทัศน์รัสเซียเผยแพร่ภาพ วลาดิมีร์ ปูติน โวยวายตำหนิกองทัพ เจ้าหน้าที่ความมั่นคง เรื่อยไปจนถึงเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ยูเครนใช้ปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่เพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่า กองทัพของตนยังมั่นคง แน่วแน่ในการปกป้องประเทศชาติได้เท่านั้น หากยังสามารถ “เซอร์ไพรส์” ข้าศึกได้ทุกเมื่ออีกต่างหาก
กองทัพยูเครนแสดงให้รัสเซียเห็นเป็นนัยว่า แนวรบที่แท้จริงไม่ได้จำกัดตายตัวอยู่แต่ภายในดินแดนยูเครน แต่เปลี่ยนแปลงผันแปรได้ตลอดเวลา และสามารถสร้างความเสียหายและการทำลายล้างให้เกิดขึ้นได้แม้แต่ภายในดินแดนรัสเซียเอง
นักวิเคราะห์ทางทหารหลายคน รวมทั้ง คอนราด มูซีย์กา จากบริษัทที่ปรึกษาโรชาน คอนซัลติง เชื่อว่า ยูเครนบรรลุวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการรุกครั้งนี้อย่างงดงาม
นั่นคือ สามารถเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับประชาชนชาวยูเครน เรียกความเชื่อมั่นจากบรรดาพันธมิตรตะวันตกของยูเครนกลับคืนมา สร้างศรัทธาให้กองทัพยูเครนว่าควรค่าแก่การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนได้อีกครั้ง
ยูเครนยังคาดหวังว่า รัสเซียอาจตัดสินใจถอนกำลังทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแคว้นโดเนตสค์ ของยูเครนกลับคืนมาเพื่อป้องกันดินแดนของตนเอง
แต่นี่เป็นความคาดหวังอย่างเดียวที่ดูเหมือนจะยังไม่เกิดขึ้นจริง
การรุกที่ประสบผลคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ชนิดแทบไม่มีการต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม นอกจากจะทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารเชื่อว่า รัสเซียกำลังเตรียมการโต้กลับอย่างรุนแรง ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับกองทัพยูเครนในคูร์สก์มหาศาลเท่านั้น
ยังทำให้เกิดคำถามตามมาอีกด้วยว่า ยูเครนควรทำอย่างไรกับดินแดนรัสเซียที่ยึดมาได้ถึงจะดีที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ยูเครนมีทางเลือกเพียงแค่สามทางเท่านั้น หนึ่งคือ ยึดครองดินแดนในคูร์สก์เอาไว้ รวมทั้งอาจรุกคืบยึดเมืองสำคัญหรือจุดยุทธศาสตร์อื่นๆ ต่อไป สำหรับเก็บไว้เป็นเครื่องต่อรองในการเจรจายุติศึกในอนาคต
แต่ทุกคนชี้ตรงกันว่า วิธีการเช่นนี้มีความเสี่ยงสูง กองกำลังทั้งหมดอาจตกเป็นเป้าล้อมกรอบ หรือบดขยี้ด้วยกำลังที่เหนือกว่าหรือสรรพาวุธที่ร้ายแรงกว่าได้โดยง่าย
หนทางถัดมาคือการถอนกำลังกลับคืนสู่ดินแดนยูเครน ทั้งเพื่อถนอมกำลังทหารและดูแลรักษายุทโธปกรณ์ที่มีอยู่จำกัดจำเขี่ยอยู่แล้วให้พร้อมสรรพสำหรับการบุกยึดดินแดนในยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครองไปในการศึกในปีหน้า
เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ยูเครนได้แสดงให้รัสเซียเห็นแล้วว่า พวกตนสามารถแม้แต่จะบุกเข้าไปในรัสเซียก็ได้ ไม่ใช่แค่ลูกไก่ในกำมือที่ต้องสยบให้รัสเซียอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นเมื่อใด อย่างที่รัสเซียพยายามวาดภาพเอาไว้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารเชื่อว่า ทางเลือกที่สามน่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด นั่นคือ การถอนกำลังกลับมาตั้งเป็นแนวรับอยู่ใกล้บริเวณชายแดนของตนเอง ในทำนองจัดทำแนวกันชนขึ้นในดินแดนรัสเซีย แต่ไม่ห่างไกลเกินไปจนขาดการสนับสนุนทั้งจากฐานปืนใหญ่และการส่งกำลังบำรุงนั่นเอง
ข้อดีของการถอยมาตั้งฐานที่มั่นใกล้กับชายแดนของตนเองเช่นนี้ ก็คือ ใช้กำลังทหารในการรักษาฐานที่มั่นน้อยลงกว่าเดิมมาก ไม่เสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางอากาศแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเหมือนกับการตั้งมั่นอยู่ในคูร์สก์ เพราะเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการรบจากในยูเครนสามารถครอบคลุมได้ถึง ไม่ต้องกังวลกับการส่งกำลังบำรุง
และที่สำคัญที่สุดก็คือ สามารถใช้เป็นฐานสำหรับการรุกคืบครั้งใหม่ในอนาคตหากโอกาสเปิดได้ด้วยอีกต่างหาก
จนถึงขณะนี้ นับว่ายุทธการบุกคูร์สก์ของยูเครน ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง เรียกความเชื่อมั่นจากทั้งสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีกลับคืนมาได้อีกครั้ง
จนกลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางทหารที่น่าทึ่งที่สุดไปแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022