เมื่อชาวเมียนมา หอบธุรกิจมาเมืองไทย

(Photo by AFP)

ผมอ่านเจอข้อเขียนที่น่าสนใจนี้เมื่อ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาในเว็บไซต์ นิกเกอิ เอเชีย ที่แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ขัดแย้งยืดเยื้อในเมียนมา ไม่เพียงส่งผลให้ชาวเมียนมาต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเท่านั้น

ยังหอบเอากิจการที่เคยทำมาปักหลักในเมืองไทยด้วยอีกต่างหาก

ฮเท็ต พโย ผู้เขียนอ้างแหล่งข่าว “ที่คุ้นเคยกับแวดวงธุรกิจเมียนมา” ระบุว่า ยิ่งนับวันมีนักธุรกิจเมียนมา มาปักหลักเปิดกิจการในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ร้านขายเสื้อผ้าไปจนถึงร้านอาหารภัตตาคารกันเลยทีเดียว

เจ้าของกิจการร้านมือถือและคอมพิวเตอร์รายหนึ่งบอกกับนิกเกอิ เอเชียว่า ในเมียนมายิ่งนานยิ่งมีปัญหามากขึ้นทุกทีสำหรับกิจการธุรกิจ เงินก็เฟ้อหนัก แถมข้อกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเงินก็ไม่แน่ไม่นอนอีกด้วย “เมืองไทยสภาพแวดล้อมนิ่งกว่า แถมยังเป็นตลาดที่กำลังโตด้วย”

จอ ฉ่วย เจ้าของเครือข่ายร้านอาหาร ข่าย ข่าย จอ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในเมียนมา ไม่เพียงหอบเอาธุรกิจมาปักหลักในกรุงเทพฯ เท่านั้น ยังเตรียมขยายกิจการออกไปในอีกไม่ช้าไม่นานอีกต่างหาก

หลังมาเปิดสาขาแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เขาตัดสินใจเปิดร้านสาขาที่สองในกรุงเทพฯ ขึ้นรองรับ เพื่อ “ตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวเมียนมา”

ผลปรากฏว่าทั้งสองร้านทำยอดขายได้ดี ถึงขนาดทำให้สามารถวางแผนที่จะเปิดสาขาเพิ่มเติม ที่พัทยากับที่จังหวัดเชียงใหม่

 

ซูนักวิจัยชาวเมียนมา ซึ่งทำงานอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับนิกเกอิ เอเชียว่า กิจการธุรกิจเมียนมาส่วนใหญ่ที่ขยายตัวเข้ามาปักหลักอยู่ในไทยนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายหรือคาดหวังว่าจะเป็นกิจการที่ทำกำไรในทันทีทันใดเสียทีเดียว ตรงกันข้าม กลับเป็นเพียงแค่ความพยายามเพื่อรักษากิจการ รักษาทรัพย์สินของตนเองเอาไว้เท่านั้น

“เป็นการย้ายกิจการมาวางรากฐานในที่ที่มั่นคงและปลอดภัย” กว่าในเมียนมาในยามนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ซูยอมรับว่า ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา บรรดาลูกค้าชาวเมียนมาเริ่มเรียกร้องให้มีกิจการของชาวเมียนมาเองเพิ่มมากขึ้น

ทางการไทยไม่ได้มีสถิติ “อย่างเป็นทางการ” ว่า มีชาวเมียนมาอาศัยอยู่ในประเทศเท่าใดกันแน่ แต่รายงานของโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 ระบุเอาไว้ว่า จนถึงเดือนเมษายน 2023 มีแรงงานย้ายถิ่น “ทั่วไป” ชาวเมียนมาในไทยอยู่ราว 1.9 ล้านคน

รายงานของยูเอ็นดีพี ตั้งข้อสังเกตเอาไว้เพิ่มเติมว่า “ประมาณการเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า หลังจากมีการยึดอำนาจการปกครองในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 มีชาวเมียนมาอพยพเข้ามา (ทั้งที่มีเอกสารถูกต้องและไม่มีเอกสาร) รวมแล้วราว 5 ล้านคนในไทยในเวลานี้”

การประกาศบังคับเกณฑ์ทหารของทางการเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ กลายเป็นชนวนเหตุล่าสุดที่ทำให้เกิดการอพยพของบรรดาคนหนุ่มสาวชาวเมียนมาเข้ามาในไทยมากยิ่งขึ้น ผลก็คือ ไม่เพียงชุมชนชาวเมียนมาในไทยจะขยายวงเพิ่มขึ้นเท่านั้น ฐานลูกค้าของธุรกิจชาวเมียนมาก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาเริ่มกวดขันบังคับเอากับเจ้าของกิจการต่างๆ มากขึ้น หวังแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ข้าวของแพง แต่กลับส่งผลในด้านลบ อัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าต จาก 3,300 จ๊าตต่อดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ขยับเป็น 5,500 จ๊าตต่อดอลลาร์ไปแล้ว ยิ่งทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงยิ่งขึ้น

 

เส่ง ฮเตย์ นักเศรษฐศาสตร์ที่เคยเป็นสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ของนางออง ซาน ซูจี บอกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาเลวร้ายลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง กำลังซื้อหดหาย ความต้องการสินค้าลดลง ตลาดหดตัวลงเร็วมาก เช่นเดียวกับการบริโภคโดยรวมของทั้งประเทศ

รายงานของธนาคารโลกล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่า อัตราความยากจนในหมู่ประชากรเมียนมาเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 32.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 เกือบเท่าตัวจากระดับที่เคยเป็นในปี 2020 ที่ 17.4 เปอร์เซ็นต์ ในราว 1 ปีก่อนหน้าที่ทหารจะยึดอำนาจในเมียนมา

สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่เสื่อมทรามลง กำลังซื้อที่หดหาย เมื่อบวกกับการขยายตัวของฐานผู้บริโภคชาวเมียนมาในไทย กับการพยายามย้ายฐานกิจการมายังพื้นที่ปลอดภัย ทำให้กิจการธุรกิจเมียนมาในไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างที่เห็น

ซึ่งชวนให้คิดต่อมากว่า จะส่งผลอย่างไรหรือไม่กับเศรษฐกิจและสังคมไทยเราในอนาคต