เดินคนละทางสู่ ‘2570’

(Photo by Chanakarn LAOSARAKHAM / AFP)

ไม่ว่าจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม แต่คงยากจะปฏิเสธว่าผลจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินยุบ และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ก่อแรงสะท้อนเชิงปฏิกิริยาไม่น้อย

แม้จะพยายามไม่เล่นเกมตามด้วยการไม่นับยอดสมัครสมาชิก และบริจาคเงินสมทบการต่อตั้ง “พรรคประชาชน” ซึ่งอวตารมาจาก “ก้าวไกล” ด้วยเหตุผลส่วนตัวใดก็ตาม

แต่คำถามที่อื้ออึ้งถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มี “อำนาจประชาชน” เป็นเป้าหมายของคุณค่า ย่อมก่อคำถามถึงแนวโน้มการทำงานเพื่อสร้างคะแนนนิยมของพรรคการเมืองอยู่ไม่น้อย

พรรคการเมืองอื่นคงไม่เท่าไร เพราะหากไม่เป็นพรรคที่ชัดเจนว่าเป้าหมายอยู่ที่การยึดโยงกับประชาชนที่ฝักใฝ่ “อนุรักษนิยม” ที่ดูจะวางศรัทธาไว้ที่ชนชั้นนำมากกว่า ก็เป็นพรรคที่คิดอาศัยฐานประชาชนเท่าที่จะหาทุนรอนมาซื้อคะแนนได้ในพื้นที่เป้าหมาย ไม่ได้มีเป้าหมายของหนทางสู่อำนาจ

ไม่ได้หวังความเชื่อถือจนแปรเป็นแรงสนับสนุนจากประชาชนเกินไปจากที่คาดหวังได้จากการคำนึงถึงบุญคุญที่ได้อุปถัมภ์ ที่เคยแจกจ่ายให้

 

แต่ “พรรคเพื่อไทย” ไม่ใช่แค่นั้น

ความเป็นพรรคที่เติบโตในหนทางที่หยัดยืนต่อสู้กับ “เผด็จการ” มายาวนาน โดยมีการสร้างผลงานให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพจากอำนาจรัฐ ย่อมมีความคาดหวัง และเชื่อมั่นในบางภาพประทับในใจประชาชน

ถึงวันนี้ “การข้ามขั้วตั้งรัฐบาล” เพราะ “สรุปบทเรียน” แล้วเห็น “ความจำเป็นต้องคิดแบบได้อย่างเสียอย่าง” โดยเลือก “ยอมถูกตั้งคำถามเชิงอุดมการณ์ประชาธิปไตย แลกกับการได้อำนาจเพื่อโอกาสสร้างผลงาน”

เพราะเชื่อมั่นว่าศรัทธาและคะแนนนิยมจากประชาชนเกิดขึ้นด้วยการสร้างผลงาน และเมื่อผู้ที่เคยพิสูจน์แล้วในเรื่องนี้ชนิดที่ถือเป็นระดับตำนาจ คือ “ทักษิณ ชินวัตร”

บทบาทของนายกรัฐมนตรีเมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่กลับมาแสดงอีกครั้งในยุคสมัยนี้จึงถูกโฟกัสว่าจะนำพา “เพื่อไทย” สู่เป้าหมายได้แค่ไหน

ในแวดวงการเมืองและธุรกิจระดับหัวขบวนดูจะฝากความเชื่อไว้ที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่าจะสร้างผลงานที่เอาชนะกระแสจากกระแส “มั่นคงในอำนาจประชาชน” ของ “พรรคก้าวไกล” ที่ปรับสู่ “พรรคประชาชน” ได้

ประเด็นอยู่ที่ “ประชาชนส่วนใหญ่” ฝากความหวังไว้ที่ “ทักษิณ” ในระดับนั้นหรือไม่

 

ผลสำรวจ “นิด้าโพล” ล่าสุดเรื่อง “Believe It or Not! ทางการเมืองไทย ตอน เดือนพิพากษา”

มีคำถามถึงความเชื่อของประชาชนเกี่ยวกับการพ้นโทษของ “ทักษิณ ชินวัตร” จะทำให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

คำตอบร้อยละ 41.83 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย, รองลงมา ร้อยละ 26.87 ไม่ค่อยเชื่อ, ร้อยละ 19.01 ค่อนข้างเชื่อ, ร้อยละ 11.45 เชื่อมาก และร้อยละ 0.84 ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

นั่นหมายความว่า “ความสำเร็จในอดีต” ไม่ได้เป็นภาพให้ผู้คนในปัจจุบัน เชื่อมั่นในความเป็น “ทักษิณ ชินวัตร” เหมือนที่คนเคยมีประสบการณ์ร่วมจากอดีตอันรุ่งเรือง

 

อาจจะเป็นเพราะความรู้สึกต่อความสามารถของ “ทักษิณ” เป็นภาพจากอดีตอันยาวนานเกือบ 20 ปี ไม่ทำให้ผู้คนที่มีบทบาทในปัจจุบันรู้สึกตาม เหมือนที่นักการเมือง และผู้คนรุ่นเก่าๆ มีความเชื่ออีกแล้ว

และหากนั่นเป็นปรากฏการณ์ทางความเชื่อที่เกิดขึ้น ความน่าสนใจเมื่อคิดถึงสิ่งที่กำหนดแนวโน้มทางการเมืองคือ ระหว่างความคาดหวังว่าจะสร้างผลงานให้ประชาชนประทับใจได้ ของ “พรรคเพื่อไทย” ที่ไม่มีภาพของ “ทักษิณ” เป็นตัวชี้นำทางความคิดของคนรุ่นใหม่

กับภาพที่เกิดขึ้นกับ “พรรคอนาคตใหม่-พรรคก้าวไกล” ที่สร้างความเขย่าขวัญ สั่นประสาทที่ก่อความรู้สึกต่อคุณค่าของ “อำนาจประชาชน” ซึ่ง “พรรคประชาชน” เริ่มปลุกเร้าให้เห็นความน่ากลัวในผลสะเทือนที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยนั้น

ความเชื่อแบบไหนจะจูงใจ หรือเป็นดัชนีชี้วัด การตัดสินใจเลือกเข้ามีส่วนร่วมในอำนาจ ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ปี 2570 มากกว่า

“ความหวังในการสร้างผลงานจากพรรคเพื่อไทย” หรือ “คุณค่าของอำนาจประชาชนที่พรรคประชาชนเชิดชู”

ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ณ ชั่วโมงนี้ การต่อสู้ระหว่าง 2 วิถีนี้เริ่มต้นแล้ว

“พรรคเพื่อไทย” ต้องพิสูจน์ว่า “สร้างผลงานให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นจริง” และ “พรรคประชาชน” ต้องสำเร็จในการชี้ให้เห็น “ความเลวร้ายของการไม่ให้คุณค่าอำนาจประชาชน”

คำถามที่น่าคิดคือ “ใครทำงานง่ายกว่ากัน”