ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
7 สิงหาคม 2567
อันเป็นวันวินิจฉัยอนาคตพรรคก้าวไกลนั้น
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เล่าไว้ในคอลัมน์ ตุลวิภาคพจนกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ว่า
“…ผมรู้ว่าคดีนี้จะเป็น ‘วันหยุดโลก’
(เป็น) ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญในอนาคตต่อไป
แต่ขณะนี้ผมไม่อาจทำใจให้เป็นกลางและปราศจากอัตวิสัย อันเป็นคุณสมบัติที่ดีของนักประวัติศาสตร์ได้
ทางออกที่สะดวกง่ายและไม่ทำลายความรู้สึกให้มากเกินไป
คือพาตัวออกไปจากประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเพิ่งสร้าง…”
การปลีกตัวออกจาก “วันหยุดโลก” ของ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คือ
“…ผมตัดสินใจไปดูหนัง ‘แดนสาป’ (The Cursed Land ภาณุ อารี กำกับการแสดง ก้อง ฤทธิ์ดี เขียนบท)
ตั้งใจไว้หลายวันแล้วเพราะได้ฟังคำวิจารณ์และเสียงโจษจันว่าเป็นหนังผี ‘มุสลิม’ เรื่องแรกๆ ในรัฐสยามไทย
ผมเดินทางไปโรงหนังใกล้บ้านเวลาบ่ายสองโมง
…ก่อนถึงเวลาของการอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคก้าวไกล…”
อย่างไรก็ตาม แม้ต้องการปลีกตัวจาก “ปัจจุบัน”
แต่กระนั้น สิ่งที่ได้จากการดูภาพยนตร์ “แดนสาป”
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ยอมรับว่าไม่ได้ทำให้หลีกหนีจากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันกาล เท่าไรนัก
“…แดนสาปเป็นหนังผีมุสลิมที่ตื่นเต้นและซ่อนเงื่อนไว้มากหลายจุด
แต่ทำให้ผมถามตัวเองว่า คิดถูกหรือเปล่าที่หนีคำวินิจฉัยไปจ้องดูความรุนแรงของรัฐไทยในอีกมิติที่ยังส่งแรงกระเพื่อมมาถึงปัจจุบัน
เป็นความรุนแรงที่อาจหนักกว่าทนฟังคำพิพากษาในจอมือถือเสียอีก
แต่ไม่ว่าตัวตนของผมจะรับความรุนแรงเรื่องไหน
ก็ไม่ทำให้ความรับรู้และชีวประวัติผมเปลี่ยนไปมากเท่าใด
มันยิ่งเสริมความหนักแน่นให้แก่ความรับรู้ว่าพัฒนาการของรัฐไทยในอีกหน้า
คือการสร้างญิน (มลายูมุสลิม) และ ‘ประหาร’ วิญญาณ (ไทย) จำนวนมาก (อย่างน้อย 14 ล้าน) ที่ล่องลอยอยู่เต็มทั้งประเทศ
รอเวลาที่จะกลับไปยังร่างอันเป็น กายการเมือง ของพวกเขา
และนั่นจะเป็นเวลาของการเป็นเสรีอย่างแท้จริงในที่สุด…”
นั่นคือความรู้สึกของธเนศ อาภรณ์สุวรรณ หลังดูหนัง “แดนสาป”
และนำไปข้อสรุปอันน่าคิดพิจารณาว่า
“เรื่องการปราบพรรคการเมืองที่ก้าวหน้าอาจดูเป็นหนังผีก็ได้
เหมือนกับ แดนสาป การต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐผ่านรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของอำนาจบริหาร ผ่านรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของอำนาจนิติบัญญัติและผ่านศาลที่เป็นตัวแทนของอำนาจตุลาการกับพรรคการเมืองและองค์กรกลุ่มประชาสังคม เต็มไปด้วยคติมโนทัศน์ที่แตกต่างกระทั่งตรงข้ามกัน บ่อยครั้งนำไปสู่การใช้อคติและอุดมการณ์มากำกับการใช้อำนาจ
…ด้านหนึ่งเสมือนเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
แต่ชีวประวัติของปัจเจกที่ก่อรูปเป็นคนรุ่นใหม่ไม่ยอมรับคำสาป
พวกเขาจะทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย ในที่สุด”
แม้ “ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” จะรู้สึกอย่างมากต่อเหตุการณ์ “7 สิงหาคม 2567”
แต่กระนั้น
“เวลาของการเป็นเสรีอย่างแท้จริงในที่สุด”
และ “พวกเขาจะทำให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย ในที่สุด”
ก็ดูจะเป็นความพยายามปลอบประโลม
ว่าใน “แดนสาป” แม้หลายสิ่งหลายอย่าง “พัง” ทลายลง
แต่ “ความหวัง” ยังมีอยู่!?!
อนึ่ง เมื่อพูดถึงการ “พัง”
แม้เป็นเรื่องลบ
แต่กลับนำไปสู่ความรู้สึก “ดี” และช่วยปลอบประโลมใจคนไทยในห้วงเดียวกันนี้
คงไม่พ้นคำสัมภาษณ์ของ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางไทยพีบีเอส ที่กลับมาโด่งดังในตอนนี้
เทนนิสบอกว่า “สิ่งที่เสียสละจริงๆ คงเป็นร่างกาย
ร่างกายนี้มันพังไปทั้งตัวแล้ว
อย่างที่ทุกคนเห็นว่ามันเป็นกีฬาต่อสู้ เอ็นก็ขาดไปแล้ว ลูกสะบ้าก็พังหมดแล้ว สะโพกก็หลวม
…หนูเสียสละทั้งร่างกายนี้ไปหมดแล้ว แต่หนูก็คิดว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่หนูจะยอมแลก”
น่ายินดีที่เทนนิสซึ่งเสียสละ “พัง” ได้รับผลตอบแทนอันน่าชื่นใจตามสมควรแล้ว
แต่สำหรับประชาชนที่เสียสละ “พัง” มาหลายๆ ครั้ง
จะได้สิ่งที่ดีๆ ตอบแทนเมื่อใด
คำตอบอยู่ในสายลม •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022