ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เหยี่ยวถลาลม |
เผยแพร่ |
สัปดาห์ก่อนภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 เพื่อนผู้สงบเสงี่ยมหลายคนรุ่มร้อนจนเกือบจะเดือดดาล
ไม่ใช่ด้วยเหตุที่รู้สำนึกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย
หากแต่เกิดอาการหงุดหงิดรำคาญใจกับ “เสียง” จากนานาประเทศเสรีประชาธิปไตยที่แสดงท่าทีจนเรียกได้ว่าเป็นเอกฉันท์ โดยเห็นพ้องต้องกันว่า “กระบวนการประชาธิปไตยของไทยไม่ตรงไปตรงมา”
กี่ครั้งแล้วที่ประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกผู้แทนปวงชนชาวไทย แล้วพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดถูกยุบ!
ผู้มีหน้าที่ “ชี้แจง” กับต่างประเทศคงได้แต่แบกหน้าสู้ว่า ที่นี่ประเทศไทย มีอัตลักษณ์ มีอิสระ ยูอย่ามายุ่มย่าม
ทำได้แค่นั้น!
แต่ยิ่งพูดยิ่งแก้ปมก็เหมือนแก้ตัวกลายเป็นตัวตลกในเวทีโลก!
ทุกคนก็รู้ๆ อังกฤษเคยเป็นเจ้าอาณานิคมยิ่งใหญ่ไพศาลจนได้ชื่อว่า พระอาทิตย์ไม่ตกดิน ดูดซับกอบโกยทรัพยากรจากทั่วโลกจนเจริญรุ่งเรืองทุกด้านก่อนใครๆ เป็นแผ่นดินเกิดของนักคิดนักปรัชญาการเมือง วิทยาศาสตร์ เป็นแหล่งกำเนิดการค้าพาณิชย์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม
รวมทั้งเป็นที่ที่มีความขัดแย้งทางการเมือง และเกิดการปฏิวัติสถาปนา “อำนาจอธิปไตยของรัฐสภา” ก่อนใครในปี ค.ศ.1688 (ตรงกับไทยใน พ.ศ.2231)
แต่กงล้อประวัติศาสตร์นั้นเป็นสภาวะทางธรรมชาติ มนุษยชาติย่อมต้องมีการพัฒนา
“4 กรกฎาคม ค.ศ.1776” อิทธิพลทางความคิดจากการเมืองการปกครองของอังกฤษ “อาณานิคมอังกฤษในแผ่นดินอเมริกา” ก็พากัน “ประกาศอิสรภาพ” จากอังกฤษ พร้อมกับยกร่าง “รัฐธรรมนูญ” แต่ละรัฐขึ้น ตามหลักการแบ่งแยกการใช้อำนาจอธิปไตย และในเวลาต่อมาอเมริกาก็ประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร” ฉบับแรกของโลกในปี ค.ศ.1787 ปี 1789 ถึงจะเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส
ก่อเกิดอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชน!
แต่เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะ “ใช้อำนาจเกินสมควร” จึงต้องแบ่งแยกการใช้อำนาจ
เกือบ 300 ปีมาแล้ว “มองเตสกิเออ” เขียนเอาไว้ว่า “การประกันเสรีภาพในทางการเมืองจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ มีการป้องกันหน่วงเหนี่ยว มิให้เกิดการบิดเบือนอำนาจ”
“ถ้าอำนาจนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ ตกอยู่ในมือบุคคลหรือคณะบุคคลคณะเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างก็ย่อมจบสิ้นลง” Montesquieu, The Spirit of Laws : วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ใน “ประวัติศาสตร์ความคิด-นิติปรัชญา”
รัฐธรรมนูญไทยก็บัญญัติตามหลักปรัชญานั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
แต่มีการแบ่งอำนาจเป็น “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ให้ทำหน้าที่ออกกฎหมาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง และยกเลิกกฎหมาย “ฝ่ายบริหาร” ให้บริหารประเทศ และ “ฝ่ายตุลาการ” ให้ทำหน้าที่ชี้ขาดตัดสินข้อพิพาทและลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย
ทุก 1 เสียงของประชาชนที่รวมกันเป็น “เสียงข้างมาก” จึงเป็นที่มาของ “อำนาจรัฐ”
“อำนาจรัฐ” ในระบอบประชาธิปไตยมาจากการลงคะแนนเสียงของประชาชน
เป็นไปตามหลัก “เสียงข้างมาก” ซึ่งเป็น “จุดเริ่มต้น” ของสัญญาประชาคมในระบอบประชาธิปไตย
มีรัฐธรรมนูญ คือสัญญาประชาคม ซึ่งเกิดจาก “การมีส่วนร่วม” ไม่ใช่ “การสถาปนา”!
รัฐธรรมนูญไม่ใช่กติกาที่จะแต่งตั้ง หรือสถาปนาให้ใครมาเขียนก็ได้
ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกถือว่ารัฐธรรมนูญต้องมาจาก “เจตจำนง” ของประชาชน
ลองย้อนนึกดู เกือบ 2 ทศวรรษมานี้ “รัฐธรรมนูญไทย” เกิดจากน้ำมือใคร สะท้อน “เจตจำนง” ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือซ่อนเร้นอำพรางสิ่งใด
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางการเมือง
แต่เป็น “พฤติกรรมทางการเมือง” ที่สืบเนื่องยาวนาน
การเมืองไทยใน 2 ทศวรรษ ได้เปลือยกายล่อนจ้อน ณ เบื้องหน้านานาอารยประเทศ
รัฐประหารเสร็จก็แต่งตั้งพรรคพวกให้ร่างรัฐธรรมนูญ จัดตั้งพรรคการเมือง หรือสนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ จากนั้น “ยุบพรรคการเมือง” ที่ชนะเลือกตั้ง ตัดสิทธินักการเมืองไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง 5 ปีบ้าง 10 ปีบ้าง
สอยนายกรัฐมนตรีที่ชนะเลือกตั้งลงจากเก้าอี้
ปราบปรามจับกุมผู้ชุมนุมต่อต้าน ตาย เจ็บ พิการ แต่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนไม่ได้
สุดท้ายก็ทำรัฐประหารอีก แล้วให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่อีก ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสืบทอดอำนาจอีก
หลังจากจัดให้มีการเลือกตั้ง ก็ “ยุบ” พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งอีก
ไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ไทยอยู่ในเวทีโลก และไทยก็มีพัฒนาการทางการเมืองที่ดี แต่ก็มีสิ่งที่ “เลว”
ประชาชนไทยผู้มีอำนาจอธิปไตย ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเลือก “ผู้แทนฯ”
ผู้แทนราษฎรไปรวมกันที่สภานิติบัญญัติ
ใช้ “เสียงข้างมาก” ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารจัดการแก้ไขปัญหาเพื่อประเทศให้เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองและผู้คนผาสุก
แต่ในรอบ 20 ปีมานี้ “เสียงข้างมาก” ซึ่งเป็นผลมาจากการเลือกตั้งของประชาชนถูก “คณะบุคคล” ใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจหรือ “ล้มล้าง” 2 ครั้ง
ส่วน “พรรคเสียงข้างมาก” ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากประชาชนนั้นถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “ยุบพรรค” 4 ครั้ง
คำถามจึงย่อมจะเกิดในใจคนที่มีใจฝักใฝ่ในระบอบประชาธิปไตยว่า การเมืองไทยปกติหรือไม่
เหตุใด? ก่อนการยุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ต่างพากันเชื่อว่า “ไม่รอด”
เหตุใด? ประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตยไม่อยู่ในสายตา!
ข้อกังวลของนานาอารยประเทศหลังคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ท่วงท่าก้าวก่าย แทรกแซงอะไรไทยหรอก ก็แค่สงสัยใน “พรมแดน” ของอำนาจ
ผู้ใช้อำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตยต่างก็มี “พรมแดน”
แตกต่างจากผู้ใช้อำนาจในระบอบเผด็จการ ที่จะเป็นเช่นที่ “มาเคียเวลลี” กล่าวว่า ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจจำเป็นต้องมีคุณสมบัติ 2 อย่าง
หนึ่ง คือพร้อมที่จะต่อสู้ด้วยกฎหมาย และสอง พร้อมที่จะต่อสู้ด้วยกำลัง
บางทีการต่อสู้ด้วยกฎหมายอาจไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมาย จำเป็นต้องใช้วิธีการต่อสู้ด้วยกำลังหรือวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้มีอำนาจจึงต้องรู้และเข้าใจธรรมชาติของสัตว์ 2 ชนิดคือ สุนัขจิ้งจอกและสิงโต
กระบวนการทำลายการมีส่วนร่วมของประชาชน จะให้เรียกว่าอะไร!?!!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022