จับตาซี 11 ป้ายแดง ศธ. ผลักดันแผนการศึกษาชาติ

เรียกว่า ไม่พลิกโผ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอแต่งตั้ง นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) แทนนายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ. ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2567

หลังจากทำให้หลายคนต้องนั่งลุ้น ทั้งข้าราชการระดับ 11 ที่ต้องระวังว่า จะถูกสลับเก้าอี้ไปนั่งแทนหรือไม่ หรือกระทั่งข้าราชการระดับ 10 ซึ่งเชื่อว่าหลายคนมีความหวังขยับขึ้นซี 11 เช่นเดียวกัน

ในส่วนของ ศธ. มีข้าราชการระดับ 10 และระดับ 11 เกษียณรวม 4 ราย ดังนี้ ระดับ 11 จำนวน 1 ราย คือ นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ระดับ 10 จำนวน 3 ราย คือ เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) นายประพัทธ์ รัตน์อรุณ รองเลขาธิการ กอศ. และนายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือ ผู้ตรวจราชการ ศธ.

สำหรับนายประวิต ไม่ถือเป็นม้ามืด เพราะมีชื่อลุ้นนั่งเก้าอี้ซี 11 มาแล้วหลายรอบ ประกอบกับคุณสมบัติ ความเป็นนักวิชาการ ผ่านมาทั้งงานมหาวิทยาลัย และงานบริหารข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้น การเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ สกศ.ครั้งนี้ จึงไม่ถือว่าผิดที่ผิดทาง

อีกทั้งยังขยันทำผลงาน จนเข้าตา ‘บิ๊กอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไม่ว่าจะเป็นการจัดระบบย้ายครูคืนถิ่น หรือ TMS หรือ Teacher Matching System และระบบการย้ายข้าราชการครู หรือ Teacher Rotation System : TRS ที่ลดปัญหาการทุจริต การปรับระบบวิทยฐานะ ที่ทำให้สามารถประเมินผลได้รวดเร็ว ฯลฯ

เรียกว่า สนองทุกนโยบาย จนเข้าตา…

 

พล.ต.อ.เพิ่มพูนระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ที่จะเสนอแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงดูข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ ให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดและสามารถคัดเลือกคนได้ตรงตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนตัวยืนยันว่า จะไม่มีเด็กฝากอย่างแน่นอน แต่จะคัดเลือกคนที่มีความเหมาะสมกับงาน

ขณะที่เสมา 2 อย่างนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ระบุว่า ได้หารือร่วมกับ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในส่วนของการคัดเลือกผู้เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกศ. แทนนายอรรถพล ที่จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2567 สกศ.ถือเป็นหน่วยงานสำคัญ เปรียบเสมือนมันสมองในการกำหนดทิศทางการศึกษาของประเทศ ดังนั้น ผู้ที่จะมารับตำแหน่งนี้ จะต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ทำงานได้จริง ที่สำคัญควรจะต้องมีความเป็นนักวิชาการ

พล.ต.อ.เพิ่มพูนย้ำว่า สกศ.เป็นหน่วยงานสำคัญ เป็นมันสมองของ ศธ. ในการช่วยกำหนดทิศทางการจัดการศึกษา ดังนั้น จึงต้องคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ ไม่ใช่ให้ สกศ.เป็นที่แขวนหรือเป็นเก้าอี้ลงโทษคนทำผิด เพื่อรอเกษียณ

ขณะที่นายอรรพลกล่าวว่า นายประวิต ถือว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกส.คนใหม่ เพราะมีความเชี่ยวชาญด้านวิชาการ โดยเฉพาะการจัดทำแผนการศึกษา ซึ่งมีความสำคัญ โดยส่วนตัวมีงานที่อยากฝากให้สานต่อหลายเรื่อง อาทิ แผนการศึกษาชาติ และมาตรฐานการศึกษา ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ซึ่งเน้นการใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยี ทำให้ขาดทักษะการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ดังนั้น จึงต้องวางแผนการศึกษา เพื่อให้เด็กรุ่นนี้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข

“ส่วนตัวไม่ห่วงเรื่องงานใน สกศ. เพราะนายประวิตเองเป็นคนเก่งที่มีความสามารถ เชื่อว่าจะสามารถสานต่องานที่ค้างไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน” นายอรรถพลกล่าว

 

ส่วนรายชื่อระดับ 10 ที่จะมาแทนนายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และนายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ ยังต้องรอรอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม นอกจากแต่งตั้งเลขาธิการ สกศ.คนใหม่แล้ว ครม.ที่ผ่านมา ยังมีมติเห็นชอบตามที่ ศธ.เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รวม 7 ราย ดังนี้ 1.นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ สมศ. 2.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3.นายสุภัทร จำปาทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4.นายพิริยะ ผลพิรุฬห์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5.นายพิศณุ ศรีผล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6.นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ 7.นายสุรินทร์ คำฝอย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

สำหรับบอร์ด สมศ.ชุดนี้ ถือเป็นบอร์ดตัวจริงชุดแรก หลังว่างเว้นมานานกว่า 10 ปี ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับวงการศึกษาไทย เพราะหากมีหน่วยประเมินที่แข็งแกร่ง มีคุณภาพ เชื่อว่าจะช่วยพัฒนาการศึกษาทุกระดับให้มีคุณภาพตามไปด้วย

หวังทีมมันสมอง ศธ. ทั้งเลขาธิการ สกศ.คนใหม่ และบอร์ด สมศ.ป้ายแดง จะช่วยผลักดันพัฒนาการศึกษา พัฒนาประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย… •

 

| การศึกษา