เพื่อไทยหมดเวลากินบุญเก่า | คำ ผกา

คำ ผกา

สิ่งที่ไม่น่าพึงปรารถนาได้เกิดขึ้นกับการเมืองและประชาธิปไตยอีกครั้ง นั่นคือการยุบพรรค และหากพูดโดยกหลักการนักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ต่างก็รู้ดีกว่า คือวิวัฒนาการของการรัฐประหารที่แนบเนียนนั่นเอง

แน่นอนว่าเมื่อแนบเนียนกว่าก็หมายความว่ามันอันตรายกว่า

แนบเนียนอย่างไร?

การรัฐประหารทำโดยกองทัพมีความรุนแรงที่มองเห็นด้วยตาเปล่า แต่การประหัตประหารประชาธิปไตยในนามของกฎหมายและการผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรม เนียนกว่า

การยุบพรรคการเมืองเพิ่งเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลหรือไม่?

คำตอบคือไม่ใช่ พรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย พรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักษาชาติ ล้วนผ่านวิบากกรมการยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมืองมาแล้วทั้งนั้น

แต่ในสมัยที่พรรคไทยรักไทย หรือแม้แต่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบ คนที่ออกมาก่นด่า ตีอกชกตัวต่อการยุบพรรคก้าวไกลหลายคนเคยสมน้ำหน้า สะใจ และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการประชาชนที่เชียร์ให้มีการยุบพรรคการเมืองมาแล้วทั้งสิ้น

ไม่เว้นแม้แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ปัญญาชนและชนชั้นกลางไทยทั้งหลายพึงยอมรับเถอะว่า ส่วนหนึ่งที่พากันแซ่ซ้องสรรเสริญว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 ดีที่สุด เป็นประชาธิปไตยที่สุดก็เพราะมันได้สอดใส่กลไกขององค์กรอิสระที่เข้ามากำกับการทำงานของ “นักเลือกตั้ง”

ณ วันนั้น สังคมไทยก็ชอบที่จะมี กกต. มีศาลรัฐธรรมนูญ มี ป.ป.ช. มี สตง. เพราะทึกทักฝังใจว่า ขึ้นชื่อว่านักเลือกตั้งมันต้องชั่ว มันต้องโกง มันต้องเลว

ส่วนคนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องโกงกินไปเลี้ยงดูลูกน้อง ไม่ต้องโกงกินเพื่อถอนทุนคืน ไม่ต้องโกงกินเพื่อเอาไปซื้อเสียงจากประชาชนหน้าโง่มาเข้าสู่อำนาจ คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงปราศจากซึ่งผลประโยชน์ ไม่อยู่ในระบบอุปถัมภ์

ยิ่งมีประวัติเป็นหมอ เป็นศาสตราจารย์ เป็นนักวิชาการ เป็นผู้พิพากษา ยิ่งน่าเชื่อได้ว่าพวกเขาต้องเป็นคนดีแน่นอน

 

คนชั้นกลางไทยไม่เคยมีปัญหากับตุลาการภิวัฒน์ หรือองค์กรอิสระ เพราะที่ผ่านมาองค์กรอิสระเหล่านี้ลงดาบนักการเมืองที่เขารังเกียจ เช่น ทักษิณ ชินวัตร ไทยรักไทย พลังประชาชน สมัคร สุนทรเวช ไปจนถึงพรรคไทยรักษาชาติ จนกระทั่งพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกลถูกยุบ

แต่ที่ฉันแปลกใจมากกว่านั้นคือ แทนที่ชนชั้นกลางที่สนับสนุนพรรค “ส้ม” จะเดินหน้าวิจารณ์ตุลาการภิวัฒน์ มวลชนพรรคส้มกับเดินหน้าด่าพรรคเพื่อไทย ด่ารัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ หรือด่าแบบเน้นอารมณ์ดราม่า

เช่น “ชนชั้นนำหน้าด้านและจนตรอก” ดังที่ พรรณิการ์ วานิช กล่าว ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่า “ชนชั้นนำ” นั้นหมายถึงใครกันแน่ ปล่อยให้คนแปลความกำกวมนั้นโดยอำเภอใจ

และแน่นอนก็มีคนโยนคำว่า “ชนชั้นนำ” นั้นมาที่พรรคเพื่อไทยในฐานะที่เป็นรัฐบาลอีก

และดูเหมือนแกนนำของคณะก้าวหน้า และสมาชิกพรรคก้าวไกลก็ไม่สนใจที่จะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนหรือสังคม มิหนำซ้ำยังวนเวียนอยู่กับวาทกรรม เช่น “การยุบพรรคคือบทพิสูจน์ว่าเขากลัวเรา” หรือ “พรรคอันดับหนึ่งที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลและต้องโดนยุบ”

และหากฉันจำไม่ผิด เมื่อครั้งพรรคไทยรักษาชาติโดนยุบ ปัญญาชนหัวก้าวหน้าของไทย ที่ปัจจุบันเป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเปิดเผย ได้ประณามการตัดสินใจของพรรคไทยรักษาชาติเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ว่าเป็นการตัดสินใจที่สุ่มเสี่ยง เอา “เวลา” และ “เสียง” ของประชาชนมา “เล่น” เกมที่เสี่ยงเกินไปในทางการเมือง แม้จะเห็นว่าการยุบพรรคเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่การตัดสินใจเช่นนั้นก็เหมือนแกว่งเท้าหาเสี้ยนเอง เสี่ยงเอง รู้ทั้งรู้ว่าไม่ควรทำก็ยังจะทำ

คำถามของฉันคือ การเลือกความเสี่ยงของไทยรักษาชาติในวันนั้นต่างอะไรกับการเลือกความเสี่ยงของก้าวไกลในวันนี้?

 

พรรคก้าวไกลเลือกจะสร้างจุดขายของตัวเองเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ว่านั้นสำหรับก้าวไกลคือประเด็นเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันในสังคมไทย และพรรคก้าวไกลก็รู้ว่า เราจะไม่พูดว่าเรื่องถูกหรือผิด แต่พรรคก้าวไกลปฏิเสธไม่ได้ว่าการสร้างจุดขายของพรรค เพื่อให้แตกต่างจากพรรคเพื่อไทยคือประเด็น 112 เป็นสำคัญ พร้อมกับวาทกรรม “สู้ไปกราบไป” นอกเหนือไปจากการขายเรื่องการเมืองใหม่ การเมืองปลอดการโกง การเมืองทลายนายทุนผูกขาด การเมืองเคียงข้างคนชายขอบ การเมืองทลายส่วยตำรวจ

ในช่วงหาเสียงก่อนเลือกตั้ง สื่อมวลชนทุกสื่อต่างก็ปูพรมเรื่องนี้ให้พรรคก้าวไกลสำแดงความกล้าหาญ

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยรู้ว่าเรื่องนี้ต้อง handle with care ทำให้ภาพของเพื่อไทยดูเป็นพรรคที่ไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้อยู่พรรคเดียวในท่ามกลางพรรคที่ขวาจัดกับซ้ายจัด

ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่ผิดจากความเป็นจริงที่ว่าความผิดของพรรคก้าวไกลที่นำมาสู่การยุบพรรคคือการฉวยใช้สถาบันมาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างคะแนนนิยม หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่าเป็น manipulation ซึ่งก็พูดได้อีกว่า manipulation ไม่ผิด หรือผิดมาก ผิดน้อย เป็นอีกเรื่อง

แต่สิ่งที่ผิดแบบ unnigociatable ตามรัฐธรรมนูญทั้งฉบับวัฒนธรรมและฉบับลายลักษณ์อักษร คือการ manipulate โดยใช้ประเด็นสถาบัน เพราะผลของมันคือการดึงสถาบันมาเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายศูนย์รวมชาติ

พูดง่ายๆ ว่าสิ่งนี้ถูกตีความว่าทำลายชาตินั่นเอง ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ใกล้เคียงกับสมัยที่ยุบพรรคไทยรักษาชาติ

 

อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของพรรคก้าวไกลที่จะมีอุดมการณ์เช่นนี้และเลือกแนวทางนี้ในการต่อสู้เพื่อวันหนึ่งจะได้อำนาจรัฐและเปลี่ยนแปลงประเทศ แม้พรรคถูกยุบพวกเขาก็แค่ตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ และจะพิสูจน์ให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ถูกทำให้อ่อนแอ มีแต่จะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ

เท่าๆ กับที่พรรคเพื่อไทยหรืออาจจะพรรคอื่นๆ ที่มองว่า การค่อยๆ สะสมชัยชนะไปทีละเล็กทีละน้อย รักษาชีวิตทางการเมืองเพื่อให้ได้มีโอกาสทำงาน

หรือแม้แต่ที่ฟังใครต่อใครหลายคนในพรรคเพื่อไทยพูด พวกเขามักมีแนวคิดว่า ประชาชนลำบากเรื่องเศรษฐกิจ สงสารชาวบ้าน เราเข้าไปเป็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ชาวบ้านก่อนดีกว่า ปัญหายาเสพติดก็รุมเร้า ชาวบ้านอยู่กับการบริหารงานแบบหายใจทิ้งไปวันๆ มานานพอแล้ว อย่าเพิ่งคิดเรื่องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอะไรใหญ่โตเลย

วันหนึ่ง เมื่อประชาชนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจขึ้น พวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเขาเอง

แนวคิดนี้ก็ไม่ผิด และถูกต้องเป็นอย่างยิ่งด้วย

แต่สิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่ค่อยตระหนักคือ ในวันหนึ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้สำเร็จ (ซึ่งประชาชนจะไม่คิดว่าเป็นความสำเร็จด้วยซ้ำ แต่มองว่าเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องทำอยู่แล้ว ทำได้คือเสมอตัวหรือติดลบ แต่หากล้มเหลวคือติดลบอย่างรุนแรง) สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลทำเศรษฐกิจเติบโตได้ ทำ E government สำเร็จ ทำซอฟต์เพาเวอร์ได้ ทำราคาพืชผลการเกษตรสูงขึ้น เกษตรกรลืมตาอ้าปาก ทำซอฟต์เพาเวอร์จนกลายเป็นจุดขายจุดแข็ง ทำเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ตกลับมาคึกคัก เมืองรองมีชีวิตชีวา

สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนเหล่านี้เมื่อมีเงินในกระเป๋า สิ่งที่เขาคิด ไม่ใช่การโหวตให้พรรคเพื่อไทยเป็นการตอบแทนที่ทำงานเก่ง

แต่เขาจะเห็นว่า เมื่อท้องฉันอิ่ม ฉันต้องการการเปลี่ยนแปลงในเชิง “โครงสร้าง” การเมืองที่เป็นนามธรรม

วาทกรรมแบบ “ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” หรือ “พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค” พรรคการเมืองที่ไม่ได้เป็นของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง แต่เป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ ผ่านการบริจาคให้พรรคผ่านการเป็นสมาชิกพรรค ต่างหากที่จะตอบโจทย์หรือตอบสนองแฟนตาซีทางประชาธิปไตยของโหวตเตอร์

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในฉากทัศน์การเมืองไทยในปี 2570 คือ พรรคก้าวไกลที่กลายมาเป็นพรรคพลังประชาชนจะมีภาพจำว่าเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ประนีประนอมต่ออำนาจอำมหิต แม้จะถูกยุบถูกตัดสิทธิครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว

ได้ภาพความเด็ดเดี่ยวยืนหยัดท่ามกลางพายุฝนมีความเป็นฮีโร่ พระเอก นางเอกผู้ทระนง หยิ่งในศักดิ์ศรี

ส่วนพรรคเพื่อไทยก็จะมีภาพเป็นพรรคที่ถูกกระหน่ำจากสงครามวาทกรรมว่า ตระบัดสัตย์ กระหายในอำนาจ เป็นรัฐบาลก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้สักอย่าง

จากกระแสเฟกนิวส์ที่ถาโถมเข้ามารายวันในขณะที่ผลงานที่การเป็นฟื้นฟูเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล การส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ เสรีภาพในการพูด การเขียน การคิด การอุดหนุนศิลปิน นักเขียน ในทางหนึ่งมันคือการสร้างกลุ่มชนชั้นกลางหัวก้าวที่ท้ายที่สุดจะหล่อหลอมผู้คนที่เป็นโหวตเตอร์ของพรรคสีส้มหาได้กลับมาเป็นโหวตเตอร์พรรคเพื่อไทยไม่

ซึ่งในวิธีคิดของพรรคเพื่อไทยคือ “ไม่เป็นไร เรามีหน้าที่สร้างเศรษฐกิจ สร้างความกินดีอยู่ดี สร้างโอกาส เขาไม่โหวตให้เราไม่เป็นไร”

เพราะฉะนั้น โจทย์ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นโจทย์ที่หินสุดสุด

เพราะจะสูญเสียฐานเสียงที่เป็นคนชั้นกลางขึ้นไปให้พรรคสีส้ม

คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ก็จะหันไปเลือกพรรคส้มเพราะจริตตรงกัน

และคนรุ่นใหม่ กับคนที่เลือกเพราะกระแสวูบวาบในโซเชียลมีเดียก็จะเลือกพรรคส้มแน่นอน เพราะพรรคของเขาปูทางเรื่องการตลาดทางการเมืองในแนวทางนี้อย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า ส้มเท่ากับ “ความทันสมัย”

ส่วนคะแนนเสียงในพื้นที่เพื่อไทยก็จะสู้กับพรรคภูมิใจไทยแบบหืดขึ้นคออีก

 

ความท้าทายของพรรคเพื่อไทยจึงเป็นเรื่องของ “งานสื่อสาร” ล้วนๆ

และยิ่งในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการเป็นรัฐบาล ทำให้ต้องแยกงานสื่อสารของรัฐบาลออกจากงานสื่อสารของพรรค

นั่นหมายความว่า พรรคเพื่อไทยต้องสามารถสื่อสารให้ประชาชนเห็นว่า การทำงานของรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรีคือ “เพื่อไทย”

ภาพของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กับภาพของเพื่อไทยต้องสื่อสารออกมาให้เห็นความเป็นเพื่อไทยของเศรษฐา และความเป็นเศรษฐาในเพื่อไทย

เรื่องนี้พรรคเพื่อไทยต้องยอมรับว่าสื่อสารเรื่องนี้ได้แย่มาก ทำให้เกิด narrative ในสื่อว่า ตกลงนายกฯ ตัวจริงคือใคร? ระหว่างภาพของแพทองธาร ชินวัตร ภาพของทักษิณ ภาพของเศรษฐา ตกลงภาพนายกฯ เพื่อไทย คือภาพไหนกันแน่

ถ้าพรรคเพื่อไทยและหน่วยสื่อสารของพรรคไม่ถ่องแท้ ไม่ตระหนักในพลังของ narrative นี้ ผลงานของรัฐบาลจะแยกออกจากความเป็น “เพื่อไทย” ในขณะมิติด้านที่เป็นลบของรัฐบาลกลับถูกนำไปโยงกับ reputations ของพรรคทุกครั้ง ภายใต้ narrative “ตระบัดสัตย์ข้ามขั้ว”

สิ่งที่งานสื่อสารของพรรคเพื่อไทยต้องทำอย่างหนักคือ สื่อสารโดยเชื่อมโยงกับรัฐบาลว่า รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยนั้นมีผลงานอะไรบ้าง

จากนั้นก็ต้องมาสื่อสารให้โหวตเตอร์มองไปยังอนาคตว่าทำไมอีกสี่ปีข้างหน้าต้องเลือกพรรคเพื่อไทยอีก

 

คําว่า อีกสี่ปีข้างหน้าทำไมยังต้องเลือกพรรคไทยอีก นอกจาก “ผลประโยชน์” ที่เป็นรูปธรรม ถนน สะพาน น้ำบาดาล การแก้ปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม การแก้ปัญหายาเสพติด ผลงานซอฟต์เพาเวอร์

การสื่อสารของพรรคเพื่อไทยต้องสามารถนำเสนอภาพ “อนาคต” ของประเทศผ่าน “ปรัชญาของพรรค” ให้ได้

เช่น พรรคเพื่อไทยต้องมีความชัดเจน และต้องสามารถสื่อสารดีเอ็นเอของพรรคไปกับประชาชนว่า เราไม่เหมือนและไม่มีวันเหมือนพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนอย่างไร เช่น

หนึ่ง พรรคไม่มีนโยบายใดๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์

สอง พรรคมีแนวทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ไม่ใช่สังคมนิยม ดังนั้น เราไม่พูดเรื่องรัฐสวัสดิการ แต่เราพูดเรื่องสวัสดิการโดยรัฐ และเหตุดังนั้น เราไม่มีนโยบายทลายนายทุนใดๆ ทั้งสิ้น แต่เน้นการกระจายรายได้และโอกาสทางเศรษฐกิจให้กว้างขวาง พร้อมกับส่งเสริมให้รายเล็กมีความสามารถในการแข่งขัน

สาม พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านแนวทางอะไรบ้าง

สี่ พรรคเพื่อไทยย้ำจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารผ่านแนวทางอะไรบ้าง

ห้า พรรคเพื่อไทยกำหนดบทบาทของกองทัพอย่างไร

หก พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนอย่างไรต่อการมีอยู่ขององค์กรอิสระ ชอบหรือไม่ชอบ มีหรือไม่อยากให้มี และมีแนวทางจัดวางความสัมพันธ์ขององค์กรเหล่านี้กับองคาพยพอื่นๆ ทางการเมืองอย่างไร

ฯลฯ

 

นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ที่ฉันหยิบยกมาและเห็นการสื่อสารของพรรคเพื่อไทยในเรื่องเหล่านี้ “อ่อนแอ” จนเข้าขั้นน่าละอายว่า วันๆ พรรคเพื่อไทยทำอะไรอยู่ และได้คิดถึงการสื่อสารเกี่ยวกับ “ตัวตน” ของพรรค เพื่อมุ่งไปสู่การเลือกตั้งในอีกสี่ปีข้างหน้าหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยและบุคคลากรในพรรคต้องตระหนักคือ ทุกคนในพรรคเพื่อไทยไม่สามารถทำงานหรือหาเสียงแบบกินบุญเก่าจากสมัยพรรคไทยรักไทยได้อีกต่อไปแล้ว ผลงานสมัยไทยรักไทยคือตำนานและจะเป็นตำนานตลอดไป

แต่เมื่อมันผ่านไปยี่สิบปี พรรคเพื่อไทยต้องสร้างตำนานบทใหม่ของตัวเอง แม้จะไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียวในวันนี้ แต่ในฐานะพรรคการเมือง พรรคมีหน้าที่ craft อนาตของประเทศออกมาในฐานะ “ปรัชญา” ของพรรค ตัวตนของพรรค แบรนดิ้งของพรรค อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรค เพื่อการดำรงอยู่ของพรรคไม่ว่าจะในสถานะของฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล

ความล่มสลายของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไม่ได้เกิดจากการแพ้เลือกตั้งอย่างต่อเนื่องเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการปราศจากซึ่ง “ปรัชญา” หรือ “จุดยืน” ที่ชัดเจนในฐานะ “พรรคการเมือง” ที่เป็นหนึ่งเสาหลักสำคัญของการดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย

จำนวน ส.ส.ก็สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการปักธงทางอุดมการณ์ ที่ไม่จำเป็นต้อง “ก้าวหน้า” แต่ต้องชัดเจนว่า พรรคการเมืองนี้จะเป็นตัวแทนของคนกลุ่มไหนในสังคม และนำเสนอความฝันแบบใดในอนาคตให้กับสังคมไทย

มิเช่นนั้น พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเหลือสภาพแค่ “ไม้ประดับ”