ผู้ยึดครอง : มุมมองและที่เป็นไป

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เรื่องราว “ขาใหญ่” แห่งยุค “ผู้ยึดครอง” เป็นเรื่องน่าสนใจติดตามอยู่เสมอ

หนึ่งในเรื่องราวนั้นๆ ย่อมสะท้อนพลังอำนาจแผ่ขยายอันพิเศษ กลายเป็นบุคลิกเฉพาะสังคมไทยไปแล้วก็ว่าได้ และเชื่อว่าผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์จะสามารถมองทะลุข้ามมิติทางธุรกิจไปสู่มิติต่างๆ อย่างกว้างขวาง

นั่นคือ ธุรกิจสื่อสารสำคัญของสังคมไทย ในที่สุดเหลือ “ผู้เล่น” ทรงอิทธิพลเพียง 2 ราย “…จากยุคต้นเมื่อ 3 ทศวรรษ กับโฉมหน้า ‘ผู้เล่น’ หลายราย มี ‘ตัวละคร’ อันโดดเด่นหลายรายในแต่ละฉากตอน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างซับซ้อน …โดยเฉพาะผ่านกระบวนการหลอมรวมกิจการหลายกรณีหลายครั้ง” ผมเคยสรุปภาพไว้เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว

อันที่จริงกรณีข้างต้น เพิ่งนำเสนอไปอย่างโฟกัสไม่นานนัก (โปรดอ่านเรื่อง “โอกาส ผู้ยึดครอง” มติชนสุดสัปดาห์ เมษายน 2567) ว่าจะนำมาเทียบเคียงกับความเป็นไปในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาด้วย

เกี่ยวข้องโดยตรงกับสองบริษัท- ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มักเรียกกันว่า AIS– ชื่อย่อหลักทรัพย์-ADVANC

เป็นฉากตอนสำคัญต่อเนื่องมาตั้งแต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ไฟเขียวให้ TRUE กับ DTAC ควบรวมกัน (มีมติเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564) ซึ่งได้ใช้เวลาอีกพักใหญ่กว่ากระบวนการจริงเริ่มต้น (ต้นปี 2566)

ผ่านมาอีกไม่ถึงปี กสทช.มีมติอีกครั้ง (10 พฤศจิกายน 2566) ให้กิจการในเครือข่าย AIS เข้าซื้อธุรกิจ 3BB (บริษัท ทริปเปิลทีบรอดแบนด์ จำกัด) และควบรวมธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เข้าด้วยกัน

เมื่ออ้างอิงดัชนีสำคัญทางธุรกิจผ่านสถิติผู้ใช้บริการ ผ่านช่วงเวลาหนึ่งๆ เชื่อว่าพอจะให้ภาพหลายมิติ ทั้งการแข่งขันท่ามกลางสภาวะตลาดที่เป็นไป ด้วยจำกัด “ผู้เล่น” และให้ภาพใหญ่ทางสังคมไทยได้ด้วย

 

หนึ่ง-ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

TRUE- ณ สิ้นปี 2566 ฐานผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 0.5 ล้านเลขหมาย เป็น 51.9 ล้านเลขหมาย หรือเติบโตขึ้นเพียงเล็กน้อยจากไตรมาส 3 ปี 2566 และจาก ณ สิ้นปี 2565 พอมาถึง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ฐานผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กลับค่อยๆ ลดลงเหลือเพียง 51 ล้านเลขหมายแทบจะถ้วนๆ

AIS- ณ สิ้นปี 2566 ฐานผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 44.6 ล้านเลขหมาย ลดลงไปถึง 1.4 ล้านเลขหมาย “เป็นผลจากผู้ใช้บริการเติมเงินที่ลดลง 1.5 ล้านเลขหมาย ในขณะที่ผู้ใช้บริการแบบรายเดือนเติบโตขึ้น 155,000 เลขหมาย การลดลงของผู้ใช้บริการสุทธิเป็นผลมาจากกลยุทธ์มุ่งเน้นไปยังผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพ ประกอบกับการเข้มงวดของกระบวนการยืนยันตัวตนในกลุ่มผู้ใช้งานเติมเงิน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของ กสทช.”

ด้วยเหตุปัจจัยข้ออ้างอิงในเวลานั้น พอมาถึง ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เพิ่มขึ้นพอสมควร เป็น 45.6 ล้านเลขหมาย

 

สอง-ธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ต

เฉพาะธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ต (broadband internet) ตามข้อมูลเมื่อ AIS ควบรวมกับ 3BB (สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566) มีฐานผู้ใช้บริการ 4.68 ล้านราย

ขณะคู่แข่งสำคัญ- TRUE มีฐานผู้ใช้บริการ 3.79 ล้านราย ขณะ ณ สิ้นปี 2566 อาจเรียกได้ว่าเป็นไปคงเดิมก็คงได้ (AIS 4.7 กับ TRUE 3.8 ล้านราย)

เมื่อผ่านไปถึงครึ่งปี 2567 สำหรับ AIS แล้ว มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเกือบทะลุ 4.9 ล้านราย ขณะ TRUE ลดลงเหลือตัวเลขเกือบกลมๆ ที่ 3.7 ล้านราย

ทั้งนี้ ณ ที่นี้ไม่ได้พิจารณาอย่างจริงจังถึงผลประกอบการโดยรวม โดยเฉพาะบรรทัดท้ายๆ ว่าด้วยผลกำไร ซึ่งปรากฏว่า AIS ดีกว่า TURE ค่อนข้างมาก ด้วยกรณี TRUE มีเหตุเกี่ยวกับกระบวนการควบรวมอย่างที่ควรยังไม่เสร็จสิ้น ตัวเลขทางการเงินอาจไม่สะท้อนภาพที่เป็นไปได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แค่ดัชนีที่อ้างถึงข้างต้น เชื่อว่าคงไม่เป็นที่พอใจนัก สำหรับผู้นำรุ่นใหม่- รุ่นที่ 3 อันกระฉับกระเฉง ของตระกูลเจียรวนนท์

 

หากดูภาพรวมในช่วงราว 1 ปีที่ผ่านมา พอจะเห็นภาพรวมทั้งสังคมไทย ฐานผู้ใช้บริการทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ต สะท้อนภาพอันทรงพลังทางธุรกิจ ซึ่งเชื่อมโยงผู้คนในสังคมอย่างลึกซึ้งและกว้างขวาง ทั้งนี้ มาถึงช่วงเวลาหนึ่งซึ่งขยายตัวอย่างจำกัด ไม่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ

แล้ว “ขาใหญ่” ทั้งสองมองปรากฏการณ์ข้างต้นเชื่อมโยงกับสถานการณ์ภาพใหญ่แตกต่างกันออกไปอย่างไรหรือไม่ ในช่วงที่ผ่านมาและจากนี้ไป

ว่าด้วยมุมมองภาวะเศรษฐกิจเกี่ยวเนื่อง เทียบเคียงกันตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งสองกิจการดูไม่ได้แตกต่างกันนัก

“การเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้และการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการทำกำไร ท่ามกลางปัจจัยเชิงบวกของเศรษฐกิจมหภาค การเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยว ทำให้การไหลกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาส 4 ส่งผลให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยรวมเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยเกื้อหนุนจากการลดลงของอัตราค่าพลังงานไฟฟ้า” (TRUE)

และ “ปี 2566 เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้พอสมควรท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเกิดจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ในขณะที่ยังเผชิญความท้าทายในด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มรากหญ้า” (AIS)

 

ว่าด้วยมุมมองไปข้างหน้าในเวลานั้น (เมื่อปลายปี 2566 เช่นเดียวกัน) คงเป็นไปเชิงบวก เชื่อว่าโอกาสทางธุรกิจยังคงเปิดกว้าง

“อุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้นเทคโนโลยี 5 G ยังเป็นเครื่องยนต์พื้นฐานในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรม โดยผู้ให้บริการได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่าย 5 G ของตนทั้งในด้านคุณภาพและความครอบคลุม และยังคงความพยายามส่งเสริมให้ผู้ใช้งานมีการใช้งานบนระบบ 5 G เพิ่มขึ้น เป็นผลให้จำนวนผู้ใช้บริการ 5 G เติบโตอย่างก้าวกระโดด” AIS นำเสนอบทวิเคราะห์ข้างต้นไว้อย่างตั้งใจ

ส่วนความเป็นจริงที่ผ่านมาดูจะไม่ตอบสนองอย่างที่คาดไว้เท่าที่ควร

“ไตรมาส 2/2567 เศรษฐกิจประเทศไทยสะท้อนภาพการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล ขณะที่ยังเผชิญความท้าทายจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า…” สรุปมุมมองกว้างๆ ล่าสุดของ AIS (อ้างจาก “บทวิเคราะห์ของฝ่ายบริหารประจำไตรมาส 2/2567”)

ส่วนช่วงเวลาที่เหลือของปี 2567 มุมมองจึงเป็นไปอย่างระแวดระวังมากขึ้น

“ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ยังคงมุมมองการเติบโตในระดับเดิมจากปัจจัยเชิงฤดูกาลในไตรมาส 3/2567 และความไม่แน่นอนของแนวโน้มทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งรวมถึงการปรับประมาณการของ GDP ไทยเติบโตในระดับที่ต่ำลง การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน และสัญญาณการฟื้นตัวช้าของผู้บริโภคกลุ่มเปราะบาง”

 

เมื่อเทียบกับ TRUE แล้ว (อ้างจาก “บทวิเคราะห์ของฝ่ายบริหารประจำไตรมาส 2/2567” เช่นกัน) ดูเหมือนว่าช่วงครึ่งปีที่เพิ่งผ่านมาไม่เป็นใจเท่าที่ควร

“ในไตรมาส 2 ปี 2567 ปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการลงทุนภาครัฐที่ลดลง การใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลง และการส่งออกที่ลดลง จํานวนนักท่องเที่ยวขาเข้าที่เข้ามาในประเทศไทยลดลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเนื่องจากปัจจัยฤดูกาล ในขณะที่การไหลกลับเข้ามาของแรงงานต่างด้าวยังคงทรงตัว” บทวิเคราะห์ซึ่งเชื่อว่าพาดพิงถึงดัชนีธุรกิจข้างต้น ค่อนข้างเป็นไปเชิงลบมากกว่า

อย่างไรก็ดี หวังว่าช่วงเวลาต่อจากนี้จะดีขึ้น “คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ประกอบกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน”

ความเป็นไป และมุมมองของ “ขาใหญ่” เป็นสิ่งที่ใคร่ครวญ •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com