ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
การยุบพรรคก้าวไกล ชี้ว่า
1. กระบวนการยุติธรรมหลังรัฐประหาร 2549-2567 ไม่เปลี่ยนแปลง
คนที่ไปเลือกตั้ง หวังว่าจะทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะมีผู้แทนฯ มารับฟังปัญหาของชาวบ้าน นำไปเป็นนโยบาย ออกกฎหมาย และนำไปปฏิบัติ การทุจริต การคอร์รัปชั่นจะลดลง จะมีสิทธิเสรีภาพในการเรียกร้องและคัดค้านและสนับสนุนเรื่องต่างๆ จะมีความยุติธรรมมากขึ้นในทุกด้าน
แต่สุดท้ายอำนาจรัฐก็วนอยู่ในวงจรอุบาทว์ ตลอด 18 ปี มีรัฐประหาร มีเลือกตั้ง มีตุลาการภิวัฒน์หลายครั้ง
ล่าสุดการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบพรรคก้าวไกล…ชี้ว่าการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรม
ในประเทศนี้จะคิดหาความยุติธรรมหลังจากการเลือกตั้ง เป็นไปไม่ได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญใหม่ การเลือกตั้งไม่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แค่หาความยุติธรรมให้คนที่มาแข่งขันสมัคร ส.ว.ยังทำยาก หาความยุติธรรมให้คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี หรือตั้งรัฐบาลก็ยาก การเลือกตั้งจึงเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่มาอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น ส่วนอำนาจตุลาการ และองค์กรอิสระ ประชาชนก็ไม่มีส่วนในการคัดเลือก เมื่อโครงสร้างของกระบวนยุติธรรมไม่เปลี่ยน ตลอด 18 ปี
ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ ทุกอย่างจะซ้ำรอยเดิมอีกนาน อาจจะนานกว่า 10 ปี…
2.ทำไมจึงไม่ควรยุบพรรคการเมือง
ขออ้างบันทึกความเห็นของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน ที่พรรคก้าวไกลยื่นสู้ในคดีที่ กกต.ร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง
“…พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีสถานะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างประชาชนกับรัฐ ช่วยรวบรวมความปรารถนาที่หลากหลายของประชาชนเข้าด้วยกัน แล้วนำเสนอออกมาเป็นนโยบายของพรรคการเมือง…
พรรคการเมืองยังเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่ต้องการแสดงออกในทางการเมือง และประสงค์ที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก แสดงให้เห็นว่าการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองของประชาชนนั้น เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้แก่ สิทธิในการรวมกลุ่มกันทางการเมือง และสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง
ดังนั้น มาตรการยุบพรรคการเมือง จึงถือเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง ด้วยเหตุผลดังกล่าว มาตรการยุบพรรคการเมืองหากจะมีขึ้นจึงจะต้องอยู่ภายใต้หลักการสากล กล่าวคือ การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
และที่สำคัญที่สุด ผลลัพธ์ของการยุบพรรคต้องเป็นการธำรงรักษาประชาธิปไตย ไม่ใช่เพื่อทำลายระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย…”
3.เกิดคำถามว่า…การออกกฎหมาย และแก้ไข เป็นหน้าที่ของใคร?
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ยังมีความเห็นว่า
“กรณีการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นมิได้เป็นการใช้กำลังบังคับเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปเป็นระบอบการปกครองแบบอื่น เป็นเพียงการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ อันได้แก่อำนาจนิติบัญญัติในการเสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเท่านั้น
อีกทั้งการเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข ที่ได้กระทำผ่านระบบรัฐสภา ต้องผ่านความเห็นชอบทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้ อันเป็นการกระทำที่ชอบด้วยวิถีทางของรัฐธรรมนูญอีกด้วย
ดังนั้น ส.ส.ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายในระดับ ‘พระราชบัญญัติ’ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาก็เป็นพระราชบัญญัติด้วยเช่นกัน
ส.ส.ย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการเสนอแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาได้ ตลอดจนข้อเสนอในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือการแก้ไขบทบัญญัติที่มีลักษณะเดียวกัน
ในอดีตนั้น ก็ปรากฏมาอยู่โดยตลอด เช่น ข้อเสนอคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งได้รับการตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี มี ศ.ดร.คณิต ณ นคร เป็นประธาน ที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิม เป็น ‘มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาตร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ การสอบสวนดำเนินคดีในความผิดตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง'”
ทีมวิเคราะห์มีความเห็นว่า เรื่องสำคัญ หลังจากคดียุบพรรคก้าวไกล คือจะต้องสรุปให้ได้ว่า…การเสนอกฎหมายหรือแก้กฎหมายเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ ใครเป็นผู้ชี้ขาดว่ากฎหมายจะต้องเป็นอย่างไร ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตุลาการ
ถ้ากรณีการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 กลายเป็นความผิดแม้แต่ผู้ลงชื่อเสนอก็มีความผิด ต่อไปนี้การเสนอหรือแก้ไขกฎหมายก็จะกลายเป็นอันตรายสำหรับผู้เสนอเพราะอาจมีความผิดถ้ามีผู้ร้องขึ้นมา เช่น
การเสนอกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาซึ่งอาจมีผู้ฟ้องร้องว่ามีผลกระทบทำให้เซาะกร่อนบ่อนทำลายสังคมทำให้ผู้มีผู้ติดยาเสพติดมากขึ้น
หรือกรณีที่มีผู้เสนอกฎหมายให้ตั้งกาสิโนภายในประเทศก็อาจมีผู้เห็นค้านและฟ้องร้องว่ากฎหมายนี้จะทำให้เกิดบ่อนกาสิโนขึ้น และทำให้ส่งผลกระทบแก่สังคมไทยทำให้มีผู้ติดการพนันมากขึ้น กระทบกระเทือนต่อทั้งครอบครัวและทั้งสังคม
ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับซึ่งจะมีผลต่อสังคมและยังต้องโต้เถียงกัน แต่ถ้าไปกำหนดว่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดไม่สามารถเสนอสิ่งเหล่านี้ได้ สังคมก็ไม่มีโอกาสถกเถียงและเสนอเข้าสู่สภาเพื่อตัดสินใจได้
จาก 2550 จนถึงวันนี้ มีคำถามซ้ำๆ จากประชาชน หลายข้อ
1. ปัจจุบันประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่? ถ้าใช่ อํานาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชนชาวไทย เสียงประชาชนเป็นใหญ่ที่สุด แต่ทำไมการแทรกจากอำนาจนอกระบบ และอำนาจเหนือระบบ จึงยังคงมีอยู่
2. ทำไมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ต่างยอมรับอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน? จะเห็นได้ว่าหลังการรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ (ประเทศไทยมีการรัฐประหารสำเร็จมากที่สุดในโลก) ผู้มีอำนาจก็สามารถสร้างระบอบประชาธิปไตยเทียมขึ้นมาได้ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติ และคณะผู้บริหารประเทศ โดยคณะรัฐประหาร และฝ่ายตุลาการก็ยอมรับ
ในขณะที่มีกฎหมายลงโทษประชาชนหรือพรรคการเมืองว่าล้มล้างระบอบประชาธิปไตย แต่ทำไมไม่มีการลงโทษอย่างจริงจังสำหรับผู้ทำการรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและฉีกรัฐธรรมนูญ ที่ติดคุกล้วนแต่เป็นผู้ต่อต้านการรัฐประหาร
3. การใช้อำนาจตุลาการเข้ามาแก้ไขปัญหาการเมืองเป็นเรื่องควรทำหรือไม่? ถ้าจำเป็นต้องใช้อำนาจตุลาการเข้ามาถ่วงดุลเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง อำนาจของศาลที่เกี่ยวข้องเช่นศาลรัฐธรรมนูญควรจะมีที่มาอย่างไร ใครจะเป็นผู้คัดเลือก
การทำงานขององค์กรอิสระ เช่น กกต. หรือ ป.ป.ช. หรือการตัดสินคดีต่างๆ ที่เป็นการตัดสินคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง จะต้องมีวิธีพิจารณาคดีอย่างไร?
4. ประชาชนจะตรวจสอบการทำงาน ทั้งกระบวนการยุติธรรมอย่างไร? จะวิพากษ์วิจารณ์ หรือท้วงติงอย่างไร?
5. ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจของประชาชนสูงสุด นอกจาก ส.ส แล้ว ประชาชนควรมีสิทธิเลือกผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนโดยตรงฝ่ายใดบ้าง? กรรมการองค์กรอิสระต่างๆ ควรให้ประชาชนเลือกโดยตรงได้หรือไม่ คณะผู้บริหารประเทศ จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนได้หรือไม่?
การยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้มีผลกระทบทางการเมืองในระยะยาวอย่างไร จะเสนอในตอนหน้า
สำหรับตอนนี้พอสรุปได้ว่า การออกกฎหมายและแก้ไขเป็นหน้าที่ของสภา แต่ต้องขออนุมัติผู้มีอำนาจก่อนเข้าสภา…จึงเรียนมาเพื่อโปรดอนุมัติ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022