สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์ ในศิลาจารึกเขมรโบราณ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในบรรดาศิลาจารึกจำนวนนับพันหลักของวัฒนธรรมเขมรโบราณนั้น มีรายชื่อของเทพเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นจำนวนมากเลยนะครับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเข้าใจกันไปว่า เป็นรายพระนามของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ หรือโลกบาลต่างๆ ในพุทธศาสนาแต่เพียงถ่ายเดียวเท่านั้น

ที่มักจะเข้าใจกันอย่างนี้ก็คงเป็นเพราะว่า ศาสนสถานจำพวก ปราสาทหิน และปราสาทอิฐทั้งหมดที่ถูกสร้างขึ้นในวัฒนธรรมเขมรโบราณนั้น มักจะมีประดิษฐานศิวลึงค์ เทวรูปพระนารายณ์ พระพุทธรูป หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ในศาสนาที่อิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดียเป็นรูปเคารพประธาน

แถมทั้งภายนอก และภายในปราสาทยังรายรอบไปด้วยภาพแกะสลักเรื่องราวจากปรัมปราคติในศาสนาพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู ให้เห็นกันอย่างเกลื่อนตาเลยด้วยอีกต่างหาก

 

แน่นอนว่า ลักษณะอย่างนี้เมื่อผนวกเข้ากับชุดความคิดในโลกสมัยอาณานิคม ที่เริ่มมีการศึกษาประวัติศาสตร์ และงานโบราณคดีในภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งเชื่อว่า ภูมิภาคแห่งนี้เพิ่งจะเริ่มเจริญขึ้นเมื่อยอมรับเอาวัฒนธรรมจากจีน และโดยเฉพาะ “อินเดีย” เข้ามา ก็ย่อมทำให้บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏมีชื่ออยู่ในศิลาจารึกของเขมร (และหมายรวมถึงจารึกจากวัฒนธรรมอื่นในภูมิภาคเดียวกันนี้ด้วย) ถูกเหมารวมให้เป็นเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดีย หรือลังกาไปเสียหมด

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรากลับพบรายชื่อ ที่ควรจะเป็นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในศาสนาผีพื้นเมืองของเขมรเอง อยู่ด้วยมากจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว

อย่างน้อยในสารานุกรมที่ว่าด้วยการอ่าน และแปลจารึกเขมรโบราณ ที่ชื่อว่า “Inscriptions Du Cambodge” ขนาด 8 เล่มจบ ของนักอ่านจารึกผู้เชี่ยวชาญ ภาษาสันสกฤต และภาษาต่างๆ ในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะภาษาเขมร ระดับปรมาจารย์ ชาวฝรั่งเศส อย่างศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès, พ.ศ.2429-2512) ก็มีหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ให้เพียบเลยทีเดียว

ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès)

ตัวอย่างเช่น ในจารึกหลักหนึ่งที่ระบุปี พ.ศ.1154 ได้เล่าถึงการหลอมรวมเทพเจ้าองค์หนึ่งที่มีคำลงท้ายพระนามว่า “อิศวร” กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีชื่อว่า “วร กมรเตง อัญ กมรตัน เตม กรอม” (Vrah Kamarateng An Kamaratan Tem Krom) และเทพเจ้าที่มีพระนามว่า มณีศวร

ที่เกี่ยวกับเราในที่นี้ก็คือ เซเดส์ได้อธิบายเอาไว้ว่า ชื่อภาษาเขมรของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ แสดงให้เห็นว่าเป็น “ต้นไม้” ไม่ใช่เทพเจ้าของพ่อพราหมณ์องค์ไหน

และถึงแม้เซเดส์จะไม่ได้บอกเอาไว้ชัดๆ แต่ก็แน่นอนนะครับว่า “ต้นไม้” ที่ว่านี้ควรจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในศาสนาผีพื้นเมืองอุษาคเนย์นั่นแหละ

จารึกหลักนี้ จึงได้ชี้ให้เห็นถึงระเบียบวิธีในการนำผีตามความเชื่อพื้นเมืองเข้ามารวมอยู่ในเทวสถานของพราหมณ์-ฮินดูของชาวเขมรโบราณอย่างชัดเจน

ที่สำคัญก็คือ เซเดส์ยังได้บอกต่อไปอีกด้วยว่า ผีประจำต้นไม้ของชาวเขมรที่ว่านี้ ยังถูกอ้างถึงอีกครั้งหนึ่งในจารึกที่กล่าวถึงคำรับสั่งให้รวมการบริจาคของกษัตริย์เข้ากับการบริจาคที่ถวายให้กับเทพเจ้าพราหมณ์-ฮินดูองค์อื่น ซึ่งถูกจารขึ้นในช่วงเวลาห่างจากจารึกหลักแรกไม่นานนัก

ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า ในวัฒนธรรมเขมรยุคที่ยังก่อปราสาทหินกันนั้น มีการนับถือผีพื้นเมืองอยู่ร่วมกับบรรดาเทพเจ้าที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามาจากชมพูทวีปด้วยอย่างชัดเจน แถมนี่ยังไม่ใช่เพียงตัวอย่างเดียวอีกต่างหาก

 

จารึกอีกชิ้นที่จารขึ้นด้วยรูปอักษรแบบก่อนเมืองพระนครคือจารึก ตวล นาค ตา บาก กา (Toul Nak Ta Bak Ka) ระบุชื่อเทพเจ้าหลายองค์ ที่ดูเหมือนว่ากษัตริย์องค์หนึ่งจะทรงบริจาคให้ โดยในหมู่เทพเจ้าเหล่านี้มีองค์หนึ่งปรากฏชื่อว่า กโปล กมรเตง อัญ กมรตัน สล็อต (Kpol Kamarateng An Kamaratan Slot)

เซเดส์อธิบายว่า ชื่อข้างต้นมีที่มาจากภาษาเขมร ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมือง จึงมีชื่อดั้งเดิมเป็นภาษาพื้นเมือง คือภาษาเขมร ไม่ใช่เป็นชื่อภาษาบาลี หรือสันสกฤต อันเป็นภาษาของชมพูทวีป เพียงแต่เมื่อปีพื้นเมืองเหล่านี้ ต้องมาอยู่ท่ามกลางหมู่เทพเจ้าจากอินเดีย ก็จึงต้องถูกจับบวชด้วยการตั้งชื่อเสียใหม่ด้วยการผสมภาษาจากชมพูทวีปเข้าไปในชื่อ หรือบางทีก็แปลงชื่อให้เป็นภาษาสันสกฤตแทนก็เท่านั้น

ตัวอย่างทำนองนี้ยังมีอีกมาก เช่น ข้อความในจารึกจากรัชสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 (ครองราชย์ที่เมืองพระนคร ระหว่างเรือน พ.ศ.1487-1511) จำนวน 2 หลัก หลักหนึ่งระบุปี พ.ศ.1499 ที่บันทึกคำรับสั่งของพระองค์ที่มีต่อหัวหน้าชุมชนท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ให้สถาปนาศิลาจารึกที่อุทิศแด่เทพเจ้าที่มีพระนามว่า กมรเตง ชคัต ปิน ถโม (Kamarateng Jagat Pin Thmo) ส่วนอีกหลักคือจารึกบาสัก (Basak) อันปรากฏชื่อเทพเจ้าที่ถูกแปลงชื่อให้เป็นภาษาสันสกฤตว่า วกกาเกศวร โดยชื่อนี้ยังปรากฏอีกครั้งในจารึกวักเอก (Vak Ek)

แน่นอนว่า เซเดส์มีความเห็นว่า ชื่อดังกล่าวมีที่มาจากชื่อดั้งเดิมในภาษาเขมรด้วยเช่นกัน

สารานุกรม “Inscriptions Du Cambodge” เล่มที่ 7

แต่ชื่อของ “ผี” หรือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” พื้นเมือง ที่ปรากฏชื่ออยู่ในจารึกเขมรโบราณที่ผมอยากชวนคุยในที่นี้ก็คืออะไรที่ในศิลาจารึกเรียกชื่อว่า “กันลอน กมรเตง อัญ ราชคูหะ” (Kanlon Kamarateng An Rajakuha) ที่ก็ปรากฏชื่ออยู่ในจารึกจากรัชสมัยของพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 ด้วยเช่นกัน

เซเดส์อธิบายว่า ชื่อข้างต้นคือพระนามของ “ราชินีผู้วายชนม์แห่งถ้ำหลวง” (a deceased queen in the royal cave) โดยยังได้สันนิษฐานต่อไปอีกด้วยว่า ถ้ำดังกล่าวเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพของพระนาง

แถมราชินีผู้วายชนม์พระองค์นี้ดูจะได้รับการเคารพบูชาในราชสำนักเขมรเป็นระยะเวลาที่ยาวนานระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะอีกหนึ่งศตวรรษเศษต่อมา พระนามของพระนางก็ยังปรากฏอีกครั้งในจารึกจากปราสาทตราว (Prasat Trau) ที่ระบุปี พ.ศ.1652

แต่อะไรที่จารึกเรียกว่า “กันลอน กมรเตง อัญ ราชคูหะ” นั้น จะเป็น “ราชินีผู้วายชนม์แห่งถ้ำหลวง” อย่างที่เซเดส์ว่าเอาไว้จริงๆ หรือครับ?

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ปราชญ์ผู้ล่วงลับอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีความคิดเห็นไปในทิศทางที่แตกต่างจากเซเดส์ โดยได้เสนอเอาไว้ในบทความเรื่อง “The Devaraja Cult and Khmer Kingship at Angkor” (ลัทธิเทวราช กับสถานภาพของกษัตริย์เขมรที่เมืองพระนคร, ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2519) ว่า

“ถึงแม้เซเดส์จะเสนอว่า ในกรณีนี้พระนามเฉพาะดังกล่าวเป็นของพระราชินีผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่ก็เป็นไปได้เช่นกันที่ชื่อดังกล่าวจะเป็นของเทพีพื้นถิ่นของเขมร (Khmer goddess) ที่ผู้คนในท้องถิ่นรู้จักกันมาหลายศตวรรษแล้ว”

“เทพีพื้นถิ่น” ที่ อ.นิธิหมายถึงนั้น ย่อมไม่ใช่เทพีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือพระพุทธศาสนาแน่ แต่ต้องเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมืองของวัฒนธรรมเขมรโบราณต่างหาก

ความตรงนี้ชวนให้นึกถึงข้อความในหนังสือเก่าที่น่าจะเขียนขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่าง “โองการแช่งน้ำ” ที่มีข้อความช่วงกล่าวถึงการเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแช่งน้ำพระพัทธ์ฯ ตอนหนึ่งมีความระบุถึง “ผี” คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำว่า

“ผีดง ผีหมื่นถ้ำ ล้ำหมื่นผา

มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ”

และถ้าจะว่ากันตามข้อมูลในโองการแช่งน้ำแล้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ก็ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในถ้ำอย่าง “กันลอน กมรเตง อัญ ราชคูหะ” เท่านั้น เพราะในหนังสือโบราณเล่มนี้ นอกจากจะมีผีถ้ำ (ที่เซเดส์เข้าใจว่าคือ ราชินีผู้วายชนม์แห่งถ้ำหลวง) แล้ว ก็ยังมีผีดง และผีทั้งหมื่นผา (คือ ภูเขา) ที่มาจากทั้งทางน้ำ ทางบก นอกขอบฟ้าเมืองแมน ที่ตั้งของขอบฟ้าที่ต่อกับผืนดิน เพื่อมาเป็นพยานในพิธีแช่งน้ำพระพัทธ์สัตยาอีกด้วย

อ.นิธิอธิบายไว้ในบทความชิ้นเดิมว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำนองนี้ควรจะเป็นผีบรรพชนพื้นเมือง ผู้มอบ “พลังชีวิต” ให้แก่ชุมชนและผู้คน ที่ซ่อนตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่า หรือแหล่งน้ำ ในทำนองเดียวกับที่มีหลักฐานจากการสำรวจในบาหลี และเกาะชวา ซึ่งต่อมาจะถูกกระบวนการทำให้กลายเป็นสันสกฤต (Sanskritization) และกระบวนการทำให้เป็นอินเดีย (Indianization) เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้กลายเป็นภาษาสันสกฤต

ก็อย่างที่ทุกวันนี้เรารู้จักกันในชื่อของ “เทพารักษ์” นั่นแหละครับ

เอาเข้าจริงแล้ว ท่ามกลางหมู่เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพุทธศาสนาแบบมหายานนั้น ก็ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในศาสนาผีพื้นเมือง อยู่ในศิลาจารึกของเขมรโบราณ (และก็คงมีอยู่ในวัฒนธรรมอื่นๆ ของอุษาคเนย์แห่งนี้ด้วยเช่นกัน) ด้วยนั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ