ทำอย่างไร ‘หัวกะทิ’ ในบ้าน ถึงไม่คิดอพยพไปข้างนอก?

สุทธิชัย หยุ่น

สัปดาห์ก่อนเขียนถึงนโยบายรัฐบาลที่จะสามารถดึง “หัวกะทิไทย” กลับจากต่างประเทศ

โดยจะตรึงภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดาไม่เกิน 17% และให้นายจ้างหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า พร้อมด้วยเงื่อนไขรายละเอียดที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถตอบโจทย์เรื่องทำไมคนไทยเก่งๆ จึงไม่กลับบ้านช่วยชาติ

เพราะคนที่มีความรู้ความสามารถไม่ได้กลัวเรื่องเสียภาษี ความจริงในหน้าที่งานการที่เมืองนอกนั้น พวกเขาต้องเสียภาษีสูงกว่าในประเทศไทยด้วยซ้ำไป

 

ที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่าที่ “หัวกะทิไทย” ไม่กลับบ้านก็คือ การที่จะทำอย่างไรไม่ให้ “หัวกะทิไทย” ออกนอกบ้าน

หรือจะทำอย่างไรให้คนเก่งคนมีความสามารถรู้สึกว่าประเทศไทยของตนเองจะเปิดโอกาสให้พวกเขาและเธอมีส่วนในการ “สร้างบ้านแปงเมือง” อย่างจริงจัง

ไม่ใช่มองพวกเขาเป็นพวกเขาเป็นฝ่ายตรงกันข้าม เพราะข้อเสนอและแนวคิดของคนรุ่นใหม่นั้นไม่จำเป็นต้องสอดคล้องต้องกันกับคนรุ่นเก่าที่กลัวความเปลี่ยนแปลง

เคยมีกระแส “ย้ายประเทศ” ในหมู่คนไทย (ที่ไม่จำกัดเฉพาะคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนทำงานในวัยต่างๆ ด้วย) ในระยะหนึ่ง เพราะเกิดความเหนื่อยหน่ายในอนาคตของบ้านเมือง

บางคนไม่ได้มองแต่เพียงตัวเองเท่านั้น หากแต่ยังถามตัวเองว่าลูกจะโตขึ้นในสภาพของสังคมเช่นที่เห็นนี้หรืออย่างไร

สภาพที่ว่านี้คือ การที่มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง

ไม่มีความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะสร้าง “สังคมอันพึงปรารถนา” ของคนไทยส่วนใหญ่

 

ปัญหาของประเทศสรุปได้สั้นๆ อย่างที่เขียนบนกระดานดำในรูป

แก่ เจ็บ จน คน (เกิด) น้อย

ด้อยศึกษา ปัญหาเหลื่อมล้ำสูง

นั่นคือสังคมคนสูงวัยที่เข้าขั้นรุนแรง

ตามมาด้วยความเจ็บป่วยที่มาในรูปแบบต่างๆ เพราะสภาพแวดล้อมเป็นพิษ ปัญหา PM 2.5 หนักหน่วงขึ้น แต่ไม่มีมาตรการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

ยิ่งโยงเกี่ยวกับเพื่อนบ้านด้วย ยิ่งหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะทำหน้าที่นี้อย่างมีประสิทธิภาพยากขึ้นไปอีก

เพราะขาดการ “บูรณาการ” อย่างจริงจัง คำนี้ถูกใช้ในเอกสารราชการมากที่สุดคำหนึ่ง แต่นำมาปฏิบัติให้เกิดผลน้อยที่สุดเช่นกัน

เพราะการบริหารราชการแผ่นดินในยุคสมัยที่มีความซับซ้อนและผันผวนเช่นนี้ต้องอาศัยการทำงานอย่างรอบด้านและครอบคลุมที่เรียกว่า holistic แต่ระบบราชการที่ฝังลึกยังเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการแก้ปัญหาเชิงลึกอย่างยิ่ง

การจะฝ่าข้ามวิกฤตเช่นนี้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองที่อาสามาบริหารชาติบ้านเมือง

แต่เมื่อนักการเมืองจำต้องพึ่งพาราชการ, กลุ่มทุน, เครือข่าย, บ้านเล็กบ้านใหญ่และหัวคะแนน ความมุ่งมั่นหาญกล้าที่จะลงมือแก้ปัญหาโดยไม่หวั่นเกรงอิทธิพลบารมีของใครก็หดหายลงไปต่อหน้าต่อตา

เพราะ political will หรือความกล้าหาญทางการเมืองนั้นจะเกิดได้ก็แต่นักการเมืองที่มีหลักการและมุ่งมั่นที่จะทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนเท่านั้น

 

เมื่อคนเกิดน้อยลง และผู้คนมีอายุยาวนานขึ้น วิกฤตของ “สังคมคนสูงวัยอย่างถาวร” ก็เป็นความท้าทายของนักการเมืองที่มองหาเพียงแต่หนทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกินสติปัญญาแห่งการเป็นผู้เสียสละเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ยิ่งทับซ้อนด้วยปัญหา “ด้อยการศึกษา” ยิ่งไม่ต้องบอกว่าความยุ่งยากซับซ้อนของปัญหาจะทำให้รัฐมนตรี (ที่ไม่ได้ถูกเลือกเพราะฝีมือและประสบการณ์แต่มาด้วยระบบโควต้า) ไม่อาจจะรู้ซึ้งถึงหนทางที่จะหลุดรอดออกจากกับดับที่เราติดอยู่มายาวนาน

เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ (ในขณะนั้น) ยืนยันถึงวันนี้ว่า การทำงานของท่านจะไม่ใช้แนวทาง “ปฏิรูป”

แต่จะใช้วิธี “ร่วมกันพัฒนา”

คือเลือกวิธีค่อยทำค่อยไป อันหมายถึงการประนีประนอมกับกลุ่มผลประโยชน์เพื่อประคองให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัยไปให้ครบเทอม

เมื่อไม่ “ปฏิรูป” ก็หมายความว่าจะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงในสาระที่แท้จริง

อาจจะมีการ “ปะผุ” ไปเรื่อยๆ เพื่ออ้างว่าได้ “กำชับ” ให้แก้ปัญหาแล้ว แต่ใครทำจริงจังหรือไม่ไม่มีการประเมิน

หากปัญหาของบ้านเมืองเป็นเหมือนโรคเรื้อรังมายาวนาน ไม่ต่างกับเป็นมะเร็งร้าย

แต่หมอใหญ่ไม่กล้าวินิจฉัยโรคอย่างตรงไปตรงมาตามจรรยาแพทย์

เพราะเกรงใจคนไข้ที่มีบุญคุณต่อตัวคุณหมอเองหรือโรงพยาบาลที่หมอสังกัด

คนไข้จึงได้รับแต่เพียงยาแก้ปวด

เมื่อหมอไม่กล้าผ่าตัดคนไข้ที่ป่วยหนักเพราะเกรงใจคนป่วยหรือญาติพี่น้อง ก็มีแต่เพียงนอนรอความตายเท่านั้น

คนไข้ที่ควรเข้าห้องไอซียู และควรจะได้รับรักษาอย่างครบครันแม้จะต้องเจ็บปวด แต่กลับขออยู่ห้องพิเศษที่มีบริการเหมือนโรงแรมหกดาวที่ไร้การรักษาพยาบาลอย่างมืออาชีพ ก็ไม่รอด

 

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ปัญหาที่หนักหน่วง ท้าทาย และร้ายแรงที่สุดของสังคมไทยคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งมีอยู่ทั่วทุกหัวระแหงของสังคมไทย

การที่คนไทยอย่างน้อยก็จำนวนหนึ่งยอมรับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันมายาวนานนั้นไม่ได้สะท้อนถึง “ความอดทน” ยอมรับความเป็นจริงของชีวิต

หากแต่สะท้อนถึงความน่าอนาถของผู้ปกครองประเทศที่ยังไม่สำเหนียกว่านี่คือภัยร้ายแรงที่จะเป็น “ระเบิดเวลา” ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ทำให้ “หัวกะทิ” ในประเทศจำนวนหนึ่งคิดจะ “อพยพ” ออกนอกประเทศ

 

ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีความสำนึกในการรับใช้ประเทศ ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่ต้องการเห็นบ้านเมืองหลุดพ้นจากหลุมพรางของความล้าหลัง

หากแต่เป็นเพราะพวกเขาได้พยายามเต็มที่แล้วที่จะมีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาสังคม

ทั้งจากหน้าที่งานการในอาชีพของตน และกิจกรรมอาสาเข้าช่วยทำงานสังคมในด้านต่างๆ

แต่ผลที่ได้คือความเอื่อยเฉื่อยนิ่งเฉย

ร้ายกว่านั้น พวกเขายังถูกมองเป็นศัตรูของระบบเดิมหากพยายามผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

ยิ่งเมื่อพวกเขาเข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองและระบบราชการมากเท่าใด ก็ยิ่งประสบพบกับความน่ารังเกียจของเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวง, ความฉ้อฉลในระบบราชการ, การแก่งแย่งตำแหน่งงานเพื่อผลประโยชน์

“หัวกะทิ” ย่อมหมายถึงผู้มีความรู้และได้สั่งสมประสบการณ์มาระดับหนึ่ง

พวกเขาจึงมีความสามารถในด้านที่ประเทศชาติต้องการเพื่อการปฏิรูปบ้านเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์

และที่สอดคล้องกับความฝันและความหวังของคนรุ่นใหม่ในอันที่จะเห็นความเป็นไปได้ที่จะพลิกประเทศชาติให้เป็นไปในแนวทางที่จุดประกายแห่งความทะเยอทะยานสำหรับคนไทยทั้งมวล

แต่พอเจอกับอุปสรรค, ความเน่าเฟะของระบบและความน่าอดสูของทัศนคติของนักการเมืองรุ่นเก่ากับระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย “หัวกะทิ” เหล่านั้นก็สิ้นหวัง

 

สําหรับพวกเขามีทางเลือกไม่กี่ทาง

หนึ่งคือเดินหน้าสู้กับความไม่ชอบมาพากลด้วยการบอกตัวเองว่าจะต้องเจอกับการถูกกดดันกลั่นแกล้งและถูกเขี่ยออกจากวงจรดั้งเดิม

ชีวิตของตนและคนรอบข้างก็อาจจะไม่อยู่ได้อย่างปกติสุข

สองคือการใช้กลยุทธ์ “อยู่เป็น”

นั่นคือการยอมประนีประนอม เลิกต่อสู้ ไม่เผชิญหน้ากับผู้มีอิทธิพล

และวิธีที่สามคือการดิ้นรนหาที่ทางใช้ชีวิตเพื่อยังบอกตัวเองได้ว่า “เราไม่ได้ทรยศต่อความฝันและความหวังของเรา”

เราเห็น “หัวกะทิ” ในสามกลุ่มนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันโดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่ระบุ “สถานภาพส่วนตัว” ในเรื่องนี้ให้เป็นที่ประจักษ์

แต่หากคนสองกลุ่มหลังเพิ่มมากกว่ากลุ่มแรกอย่างมีนัยสำคัญ (อย่างที่เห็นเป็นแนวโน้มอยู่วันนี้) อนาคตของประเทศไทยก็มืดมนอนธการเต็มที!