เวลานี้ ธปท.ควรทำอะไรมากกว่ากัน

ในหน้าข่าวเศรษฐกิจ บ่อยครั้งที่เราจะเห็นข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลว่าอย่าทำนู่นอย่าทำนี่อยู่เสมอ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 คุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ลาประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่ ที่มีคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยอ้างเหตุติดภารกิจเดินทางต่างประเทศ

ก็ไม่รู้ว่างานต่างประเทศสำคัญกว่าเรื่องนี้อีกหรืออย่างไร หรือต้องการหลบหน้าลดการเผชิญหน้ากันระหว่าง ธปท. กับรัฐบาล

แม้ว่าท่านผู้ว่าการจะหลบหน้าไม่เข้าประชุม แต่ท่านผู้ว่าการยังมีเมตตา ทำหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ไม่ยอมถกกันในที่ประชุม ผันตนเองจากนักวิชาการสู่นักการเมืองอาชีพ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ไม่นิยมปฏิบัติกัน

ซึ่งจากจดหมายของท่านผู้ว่าการมีข้อกังวลในด้านเทคนิค แบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ได้แก่

1. เรื่องการพิสูจน์และการยืนยันตัวตน ป้องกันการสวมรอยใช้สิทธิ์

2. การตรวจสอบเงื่อนไขและอนุมัติการทำรายการเพื่อชำระเงิน

3. การเตรียมความพร้อมในการเชื่อมโยงระบบชำระเงิน (Payment Platform)

4. ประเด็นอื่นๆ เช่น การป้องกันการทุจริต การป้องกันข้อมูลรั่วไหล ฯลฯ

เมื่อได้อ่านจดหมายของท่านผู้ว่าการ ธปท. ประเด็นที่ท่านผู้ว่าการกังวลล้วนแต่เป็นปัญหาพื้นฐานในการจัดทำระบบวอลเล็ต มิใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องใหญ่ในมุมของไอทีแต่อย่างใด ต้องขอบคุณท่านผู้ว่าการที่หยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้รัฐบาลมีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริงแก่สังคม

ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งหากท่านผู้ว่าการมิได้มีเจตนาประทุษร้ายทางการเมืองต่อรัฐบาล เพราะการที่ผู้บริหารระดับสูงอย่างผู้ว่าการ ธปท. ออกโรงเตือนปัญหาเหล่านี้ โดยทำจดหมายถึงรัฐบาล เปิดเผยกับสื่อมวลชนและประชาชนเป็นวงกว้าง ย่อมทำให้สังคมเกิดความกังวลต่อโครงการของรัฐบาลอย่างแน่นอน

ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ธปท. กับกระทรวงการคลัง สามารถตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ก่อนที่จะประกาศสู่สาธารณะ แต่กลับไม่ทำและเลือกเล่นเกมการเมืองแทน และแสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลมาโดยตลอด

น่าผิดหวังอย่างยิ่ง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีภารกิจหลักที่สำคัญที่สุด คือ การบริหารนโยบายการเงินของประเทศ ซึ่งนโยบายการเงินนั้นประกอบด้วยนโยบายในหลายๆ ภารกิจ เช่น นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา นโยบายทุนสำรองระหว่างประเทศ นโยบายอัตราดอกเบี้ย นโยบายปริมาณเงินในระบบ เป็นต้น

ซึ่งการบริหารนโยบายการเงินนั้นต้องบริหารนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังของรัฐบาล มิใช่บริหารตามอำเภอใจ ประหนึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นรัฐอิสระอย่างในปัจจุบัน ใครวิพากษ์วิจารณ์ ใครเตือนก็ไม่ยอมรับฟังใดๆ ทั้งสิ้น ทะนงตนว่าตนเองฉลาดเหนือกว่าผู้อื่น

ผมขอตั้งคำถามท่านผู้อ่านให้ลองวิเคราะห์ตาม หากธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินได้ถูกต้องแล้ว เหตุใด GDP ประเทศไทยจึงขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 ในปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าปี 2565 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 รวมถึงปี 2567 นี้ มีการหั่นเป้าการขยายตัวของ GDP ลงทุกไตรมาส

เป็นเพราะรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวจริงหรือ? ผมว่าไม่ใช่ ธปท.ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

 

ผมขอเจาะรายนโยบายของ ธปท.

เริ่มจากนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและนโยบายทุนสำรองระหว่างประเทศ ข้อมูลวันที่ 9 สิงหาคม 2567 อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 35.243 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงเมษายน 2567 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปแตะ 37.025 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ซึ่งโดยหลักการและธรรมชาติแล้ว เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกาและยุโรป จะเกิดการไหลออกของเงินทุน (เสมือนน้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ส่วนเงินไหลจากที่ผลตอบแทนต่ำไปสู่ที่ผลตอบแทนสูง) ซึ่งเมื่อเงินไหลออก ค่าเงินบาทควรจะอ่อนค่าลง

นอกจากนี้ ในปี 2567 ประเทศไทยขาดดุลการค้าระหว่างประเทศตั้งแต่มกราคมถึงมิถุนายน กว่า 2 แสนล้านบาท ยิ่งเป็นปัจจัยเสริมให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก แต่เพราะเหตุใดค่าเงินบาทถึงกลับแข็งค่าสวนทางทั้งสองปัจจัย

ซึ่งก็หนีไม่พ้นการบริหารจัดการค่าเงินบาทของ ธปท. ที่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก ค่าเงินบาทควรอ่อนค่าอยู่ที่ 38-40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้วด้วยซ้ำ แต่เนื่องจาก ธปท.มีการปรับลดเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ (Net International Reserves) จาก 9.30 ล้านล้านบาท ในเดือนเมษายน 2567 เหลือ 9.19 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ลดลงควบคู่กับการขาดดุลการค้า ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก การดำเนินนโยบายทุนสำรองระหว่างประเทศเช่นนี้จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น สวนทางกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ค่าเงินบาทควรอ่อนค่าเพื่อลดการขาดดุลการค้า

การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าจะส่งผลให้ดุลการค้าติดลบ ราคาขายสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นจากค่าเงิน ผู้ประกอบการส่งออกไม่สามารถแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นได้ เมื่อส่งออกไม่ได้ก็มีปัญหาปิดโรงงานปิดกิจการตามมา

 

สําหรับนโยบายอัตราดอกเบี้ยและนโยบายปริมาณเงินในระบบ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี จนอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องกันหลายเดือน และบางเดือน เช่น เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อัตราเงินเฟ้อติดลบ ร้อยละ 0.77 จนกลายเป็นภาวะเงินฝืด

เมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงกว่าที่ควรจะเป็น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ย่อมส่งผลให้การกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ลดน้อยลง ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจก็ลดน้อยลงตามไปด้วย เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ จึงไม่เกิดปรากฏการณ์ Multiplier Effect ปริมาณเงิน (Money Supply) จึงติดลบ ซึ่งปริมาณเงิน M2 (Money Supply M2) ในเดือนมิถุนายน 2567 กลับมาติดลบเหมือนเดือนเมษายน 2567

เมื่อปริมาณเงินติดลบ เครื่องจักรเศรษฐกิจก็หยุดขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยลดลง สุดท้ายการบริโภคก็จะลดลง เมื่อการบริโภคลดลง ใครจะลงทุนเพิ่มในเมื่อกำลังการผลิตเดิมยังมีเหลืออยู่ยังใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ภาคอสังหาริมทรัพย์ถดถอยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภาคธุรกิจอื่นๆ ทยอยถดถอยตามมา

เวลานี้ ธปท.ควรหันมาใส่ใจนโยบายการเงินซึ่งเป็นภารกิจหลักของตนเองมากกว่านโยบายการคลังของรัฐบาล น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติสูงสุด