ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ตุลวิภาคพจนกิจ |
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
7 สิงหาคม 2567 ผมตัดสินใจไปดูหนัง “แดนสาป” (The Cursed Land ภาณุ อารี กำกับฯ ก้อง ฤทธิ์ดี เขียนบท)
ตั้งใจไว้หลายวันแล้วเพราะได้ฟังคำวิจารณ์และเสียงโจษจันว่าเป็นหนังผี “มุสลิม” เรื่องแรกๆ ในรัฐสยามไทย
ผมเดินทางไปโรงหนังใกล้บ้านเวลาบ่ายสองโมง ก่อนถึงเวลาของการอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคก้าวไกล
ผมรู้ว่าคดีนี้จะเป็น “วันหยุดโลก” ประวัติศาสตร์หน้าสำคัญในอนาคตต่อไป แต่ขณะนี้ผมไม่อาจทำใจให้เป็นกลางและปราศจากอัตวิสัย อันเป็นคุณสมบัติที่ดีของนักประวัติศาสตร์ได้
ทางออกที่สะดวกง่ายและไม่ทำลายความรู้สึกให้มากเกินไปคือพาตัวออกไปจากประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเพิ่งสร้าง
เรื่องนี้ทำให้ผมเห็นปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและมีผลต่อการบันทึกและตีความประวัติศาสตร์ว่า เรามักคิดว่าแค่อ่านและทำความเข้าใจหลักฐานหรือการกระทำในอดีตของคนในประวัติศาสตร์ เท่านั้นก็สามารถเขียนและเล่าประวัติศาสตร์ให้คนอื่นฟังได้
ผมคิดว่ามันมีอะไรที่มองไม่เห็นซ่อนในการรู้ประวัติศาสตร์อยู่อีก
ในช่วงเวลาที่นักประวัติศาสตร์หรือนักมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์หยิบฉวยหรือดึงเอาเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ออกมานั้น มันมีปฏิสัมพันธ์ที่กำลังก่อตัวและสร้างความรับรู้อันหนึ่งออกมา ระหว่างนักประวัติศาสตร์ที่ผมเรียกว่า “ชีวประวัติ” (Biography) คือตัวตนและความเป็นมาของนักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง กับตัวประวัติศาสตร์ (History) ที่เป็นอดีตของคนมากมายซึ่งปรากฏออกมาอย่างเป็นเรื่องที่มีโครงสร้างและโครงเรื่องอยู่ในนั้น
กว่านักประวัติศาสตร์จะซึมซับและอ่านเรื่องในโครงสร้างเหล่านั้นออกมามันเป็นกระบวนการที่ปัจเจกคนหนึ่งเอาความเป็นมาของเขาผ่านชีวประวัติ เข้าไปอ่านและตีความเรื่องในโครงสร้างนั้นอีกทีหนึ่ง ประวัติศาสตร์ที่เขาเล่าหรือเขียนออกมาจึงไม่ใช่แค่เป็นเพียงเรื่องของหลักฐานประวัติศาสตร์เท่านั้น หากมันยังถูกจัดวาง ตีกรอบและกำกับด้วยความรู้สึกความคิดกระทั่งอุดมการณ์ของเขาที่อยู่ในชีวประวัติที่เป็นปัจเจกบุคคลของเขาด้วย
ผมเดินเข้าไปใน “แดนสาป” ด้วยการตาม “มิตร” วิศวกรโรงงานอุตสาหกรรมญี่ปุ่นและ “เมย์” ลูกสาวที่กำลังเรียนถาปัดในมหาวิทยาลัย ทั้งสองพ่อลูกย้ายเข้าไปพักในบ้านที่บริษัทเช่าให้เพื่ออยู่ใกล้โรงงาน
บ้านไม้ทรงไทยเก่านั้นเป็นของคนมุสลิมที่ทิ้งร้างพักหนึ่งอยู่ในชุมชนมุสลิมริมคลองแสนแสบ
ในความเป็นจริงมีชุมชนมุสลิมตั้งรกรากมานานริมคลองแสนแสบจากชุมชนบ้านดอนแถวสุขุมวิทไปถึงหลอแหล หนองจอก มีนบุรีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
คนมุสลิมที่ปรากฏในหนังคือมุสลิมปาตานีที่ถูกกวาดต้อนมาหลังจากแพ้สงครามกับสยามในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่เป็นประเด็นถกเถียงระยะหลังคือเชลยศึกเหล่านั้นถูกพันธนาการด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวายที่โคนขาเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเปล่า
คนที่ไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์ปาตานีสมัยรัตนโกสินทร์หรือที่คนมลายูมุสลิมเรียกว่า “สีแย” (สยาม) จะงงเมื่อเห็นกอเดร์พยายามหลบหนีจากบ้านเจ้านายที่ล่ามโซ่และบังคับทำงานขุดคลอง
เขาตายพร้อมกับคำสาปต่อบ้านหลังนี้ที่ชาวบ้านบอกว่ามีญิน (jin) หรือขวัญ ซึ่งไม่ใช่ผี แต่ล่องลอยอยู่เพื่อกลับไปยังร่างไร้ชีวิต
ประวัติศาสตร์ของความรุนแรงของรัฐไทยต่อเชลยศึกมุสลิมปรากฏอีกครั้งหลายร้อยปีผ่านไป เมื่อมิตรและเมย์ย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนี้ นี่เองที่ชีวประวัติของ “สีแย” พ่อลูกคู่นี้มีปฏิสัมพันธ์กับ “ประวัติศาสตร์ปาตานี” ในชุมชนมุสลิมกรุงเทพฯ ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้คติความเชื่อแบบพุทธไปจับความและตีความพฤติกรรมของคนมลายูในชุมชนว่าเป็นคนน่ากลัวเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของปัจเจกความเป็นคนไทย
ความไม่เข้าใจในมโนทัศน์ที่แตกต่างกันนี้ทำให้คนกลายเป็น “คนป่า” (savage) หรือเสียสติไปได้
ในที่สุดกลายเป็นการปะทะและต่อสู้ระหว่างญินกับสีแย ซึ่งจบลงด้วยการให้ลูกหลานของกอเดร์มารับญินเขากลับไปยังบ้านเกิดที่ปาตานี
เป็นหนังผีมุสลิมที่ตื่นเต้นและซ่อนเงื่อนไว้มากหลายจุด แต่ทำให้ผมถามตัวเองว่า คิดถูกหรือเปล่าที่หนีคำวินิจฉัยไปจ้องดูความรุนแรงของรัฐไทยในอีกมิติที่ยังส่งแรงกระเพื่อมมาถึงปัจจุบัน เป็นความรุนแรงที่อาจหนักกว่าทนฟังคำพิพากษาในจอมือถือเสียอีก
แต่ไม่ว่าตัวตนของผมจะรับความรุนแรงเรื่องไหนก็ไม่ทำให้ความรับรู้และชีวประวัติผมเปลี่ยนไปมากเท่าใด
มันยิ่งเสริมความหนักแน่นให้แก่ความรับรู้ว่าพัฒนาการของรัฐไทยในอีกหน้าคือการสร้างญิน (มลายูมุสลิม) และ “ประหาร” วิญญาณ (ไทย) จำนวนมาก (อย่างน้อย 14 ล้าน) ที่ล่องลอยอยู่เต็มทั้งประเทศ รอเวลาที่จะกลับไปยังร่างอันเป็น “กายการเมือง” ของพวกเขา
และนั่นจะเป็นเวลาของการเป็นเสรีอย่างแท้จริงในที่สุด
เรื่องการปราบพรรคการเมืองที่ก้าวหน้าอาจดูเป็นหนังผีก็ได้ เหมือนกับ “แดนสาป” การต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐผ่านรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของอำนาจบริหาร ผ่านรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของอำนาจนิติบัญญัติและผ่านศาลที่เป็นตัวแทนของอำนาจตุลาการกับพรรคการเมืองและองค์กรกลุ่มประชาสังคม เต็มไปด้วยคติมโนทัศน์ที่แตกต่างกระทั่งตรงข้ามกัน บ่อยครั้งนำไปสู่การใช้อคติและอุดมการณ์มากำกับการใช้อำนาจ
อนึ่ง วลีว่า “การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เป็นมโนทัศน์ (concept) ที่สังคมสร้างขึ้นมาในกาละและเทศะที่แน่นอนหนึ่ง มันไม่ได้มีอยู่ชั่วกัปชั่วกัลป์ หรือเป็นนิรันดร
วลีที่ขีดเส้นใต้นั้นคือศัพท์นามธรรมเหมือนความดี ความงาม ความชอบธรรม สัจธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏในรูปธรรมที่แน่นอนตายตัว หน้าตาของระบอบประชาธิปไตยเหมือนเจดีย์ไหม ไม่ใช่ โชคดีจอมพล ป.พิบูลสงคราม สร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วประดิษฐานรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้าไว้กลางถนนราชดำเนิน ทำให้มันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของระบอบประชาธิปไตยไป คือรัฐธรรมนูญนั่นเอง
ในสหรัฐ สัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญคือวรรคเริ่มต้นที่เขียนไว้ว่า “We, the people…” หมายความว่ารัฐธรรมนูญคือประชาชน
การฉีกรัฐธรรมนูญอเมริกาจึงทำยากและเสี่ยงสูงมาก ต่อให้เป็นผู้บังคับบัญชากองทัพทุกภาคในโลกก็ไม่กล้าฉีก เพราะประชาชนอเมริกันคือคนทุกคนทั้งประเทศ ไม่มีชนชั้นจารีตและอำนาจสามารถดำรงอยู่เหนือประชาชนได้
ศัพท์นามธรรมดังกล่าวเรียกว่า มโนทัศน์ (concept) ต้องประกอบกันเข้าด้วยสิ่งรูปธรรมจำนวนมากจนกลายเป็นโครงสร้างใหญ่ที่กำกับรูปธรรมทั้งหลายเอาไว้
เช่น ครอบครัวประกอบกันเข้าเป็นตำบล หลายตำบลประกอบกันเข้าเป็นอำเภอ หลายอำเภอประกอบกันเข้าเป็นจังหวัด หลายจังหวัดประกอบกันเข้าเป็นประเทศ ดังนั้น ประเทศจึงเป็นโครงสร้างรวมของคนไทยทุกคน
ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงประเทศไทย คนไทย เรามักคิดว่าเรากำลังพูดถึงคนหน้าตาเหมือนคนที่เรารู้จักหรือดำเนินชีวิตการงานและอี่นๆ เหมือนกับเรา ทั้งที่จริงๆ อาจไม่ใช่ ไม่เหมือน แตกต่างกันในหลายเรื่องที่เป็นเฉพาะตน
แต่รัฐมักจินตนาการว่าคนไทยเหมือนกันหมดทั้งประเทศ ที่เป็นเช่นนี้เพราะทุกคนเข้าโรงเรียนเหมือนกัน อ่านตำราเหมือนกัน ฟังเทศน์เหมือนกัน ยกเว้นคนต่างศาสนา
รวมๆ แล้วคนไทยดำเนินชีวิตเหมือนกัน เพราะทุกคนอยู่ภายใต้ระบบและความเชื่อเดียวกันที่ผลักดันให้สังคมและประเทศดำเนินไปเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิต
เจ้าสิ่งที่ทำให้คนทั้งประเทศคิดและเชื่อเหมือนกันภายใต้โครงสร้างนี้คืออุดมการณ์ อันได้แก่ ความคิดและความเชื่อที่วางอยู่บนหลักการนามธรรมชุดหนึ่งที่รัฐ (นามธรรมเหมือนกัน) รองรับและทำให้มันเป็นจริงด้วยการใช้อำนาจบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งโดยสันติสงบกล่อมเกลาและด้วยความรุนแรงลงโทษและถึงขั้นประหารชีวิตหากรัฐเห็นว่าคุณเป็นศัตรูที่ไม่อาจให้อยู่ร่วมโลกได้ เราจึงถูกทำให้คิดแบบเป็นโครงสร้าง ยอมรับและเชื่อว่ามันคือความจริง แล้วยอมตายเพื่อปกป้องรักษามัน
เห็นได้ว่าระบบปกครองและสถาบันต่างๆ โดยตัวมันเองแล้วไม่มีอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ หากปราศจากอำนาจของอุดมการณ์คอยกำกับและควบคุมความคิดไปถึงความประพฤติของคนทั้งประเทศเอาไว้
โครงสร้างเช่น “ระบอบประชาธิปไตย” และระบอบยุติธรรมหากไม่มีความคิดหรืออุดมการณ์กำกับและอธิบายจนคนทั้งหมดในโครงสร้างนั้นเข้าใจและยอมรับกัน มันก็ไม่มีความหมาย เพราะจะไม่มีใครทำตามใครและไม่ยอมรับกันจนทำให้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขกระทำไม่ได้
อาณาจักรไทยเดิมแต่อยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอุดมการณ์ธรรมราชาและจักรวรรดิวัตรเป็นหลักความเชื่อในการปกครอง ราษฎรคนธรรมดาสามัญไม่มีความชอบธรรมใดๆ รัฐดำรงอยู่ได้โดยกษัตริย์องค์เดียว การค้านหรือวิจารณ์กษัตริย์ไม่อาจทำได้เพราะจะเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายอำนาจรัฐ หากมีพฤติการณ์ที่น่าสงสัย เช่น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ในสมัยพระเชษฐาธิราช (พ.ศ.2171) มีผู้ยุยงทูลว่าคิดกบฏโดยอาศัยงานศพมารดาชุมนุมแม่ทัพนายกอง รับสั่งให้จับกุมมาลงโทษด่วน ทำให้พระยากลาโหมสุริยวงศ์ตัดสินใจนำคณะขุนนางทำกบฏนำกำลังเข้ายึดวังในที่สุด จนได้เป็นพระเจ้าปราสาททอง
วิธีการพิจารณาการ “อาจเป็นปฏิปักษ์” และ “อาจจะล้มล้าง” ต่อสถาบันจึงไม่ต้องสอบสวนเพราะแค่มีอีกาหรือคนร้องก็อาจตีความได้ว่ากระทำ “ความผิดสำเร็จ” แล้ว
ยุคสมัยใหม่มีรัฐธรรมนูญเป็นหลักแทนด้วยอิทธิพลของความเจริญและลัทธิสมัยใหม่ของตะวันตกที่มากับวิทยาศาสตร์และระบบทุนนิยม
แต่อุดมการณ์ที่มากับโครงสร้างระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดให้แก่คนพื้นเมืองได้ยากยิ่งโดยเฉพาะต่อชนชั้นศักดินาและเครือข่าย เพราะระบบความรู้และความเชื่อแตกต่างกันมาก ฝ่ายหนึ่งเป็นไสยศาสตร์ อีกฝ่ายเป็นแบบวิทยาศาสตร์
ยิ่งหากโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ได้เปลี่ยนโดยพื้นฐาน ยังอิงความสัมพันธ์ทางการผลิตจารีตบ้างผสมแบบใหม่หน่อย เอื้อต่อการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้กุมปัจจัยการผลิตกับพ่อค้านายทุนที่คุมตลาดที่ลงตัว อุดมการณ์สมัยใหม่ที่เติบโตอย่างดีกับระบบเสรีนิยมที่ต้องแข่งขันก็ไม่อาจเกิดได้อย่างจริงจัง นี่คือมรดกศักดิ์สิทธิ์ของการปฏิรูปสยามนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ด้านหนึ่งเสมือนเป็น “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” แต่ชีวประวัติของปัจเจกที่ก่อรูปเป็นคนรุ่นใหม่ไม่ยอมรับคำสาป พวกเขาจะทำให้ “ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย” ในที่สุด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022