ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
ไม่ว่าผลทางการเมืองเดือนสิงหาคมจะออกหัวหรือก้อย อย่างไรแล้ว “เศรษฐกิจประเทศไทย” ไม่พ้นวังวนโหมด “ซึมเศร้า” ต้องได้รับการพลิกฟื้นอย่างเร่งด่วน เพื่อฝ่าวิกฤตที่ถาโถม ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างสง่าผ่าเผย
ถึงแม้ความไม่แน่นอนทาง “การเมือง” ภาคธุรกิจจะบันทึกไว้ในบัญชี “ปัจจัยเสี่ยง” ต้องเฝ้าจับตา แต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับเศรษฐกิจที่ตกสะเก็ด กำลังซื้อที่หดหาย และอัตราดอกเบี้ยคงค้างในระดับสูง ที่ภาคธุรกิจมีความกังวลมากกว่า
ประเมินจากมุมมองของ “อิสระ บุญยัง” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง คงไม่มีผลทำให้เอกชนชะลอการลงทุน เพราะการชะลอนั้นเกิดจากกำลังซื้อโดยรวมไม่ดี มีภาระหนี้จากอัตราดอกเบี้ยที่สูง ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศหลังได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่การลงทุนอาจต้องใช้เวลา จึงมองว่าปัจจัยการเมืองยังเป็นความเสี่ยงรองจากภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และนโยบายการเงินมากกว่า
นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลคือ หากเงินดิจิทัลมาไม่ทันปลายปี 2567 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวต่ำลงจากปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะแม้มีการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ปัญหาเก่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งภาวะหนี้ครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งในส่วนของดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อภาคธุรกิจ ผู้มีภาระหนี้ เป็นนโยบายที่สามารถทำได้เร็วกว่านโยบายอื่นๆ
ดังนั้น นโยบายการเงิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าความเสี่ยงทางการเมือง
ขณะที่ “สมศักดิ์ จิตติพลังศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ “ซัยโจเด็นกิ” ให้น้ำหนักความไม่แน่นอนทางการเมืองว่ามีผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน เพราะเศรษฐกิจกับการเมืองมีความเกี่ยวโยงกันในแง่ของนโยบาย ทำให้นักลงทุนเกิดความลังเลที่จะลงทุน เมื่อไม่มีการลงทุนย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งในครึ่งหลังปี 2567 รัฐบาลต้องทำให้นักลงทุนไทยและต่างชาติมีความมั่นคงด้านความคิดและความเชื่อมั่น เพื่อเกิดการลงทุนใหม่ เครื่องยนต์ใหม่ๆ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินไปข้างหน้า เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ได้ เพราะภาคการท่องเที่ยวอย่างเดียว ขณะที่ประเทศอื่นๆ มีปัจจัยสนับสนุนมากมาย จึงทำให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศไทย
ภายใต้สถานการณ์เดียวกัน ในมุมของ “ธรรมรัตน์ โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าแฟชั่นเครือสหพัฒน์ เปิดภาพเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ยังไร้สัญญาณการฟื้นตัว ทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่ายอดขายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปี 2567 จะดีขึ้นหรือทรงตัวหรือแย่ลง เนื่องจากภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกเหนือจากโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะเริ่มใช้ปลายปี 2567
สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 กำลังซื้อสินค้าแฟชั่นยังซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจ โดยช่วงไตรมาสแรก 2567 ยังพอไปได้ แต่เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2/2567 ยอดขายมีการปรับตัวลดลง และน่าจะเป็นกันทั้งตลาดและทั้งประเทศ
ด้านนักเศรษฐศาสตร์ “พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2567 อย่างน้อยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยว ที่เป็นเครื่องจักรสำคัญที่แบกทุกอย่างในขณะนี้ ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงินดิจิทัล คงต้องลุ้นจะใช้ทันปลายปี 2567 หรือไม่ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะทัน ถ้าหากโครงการมาไม่ทัน มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยแผ่วลงจากปัจจุบันอีกอย่างแน่นอน
เนื่องจากยังมีปัจจัยท้าทายและกดดันเพิ่ม ทั้งปัจจัยภายในยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง หนี้ครัวเรือนสูงกว่า 90% ของจีดีพี สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ความสามารถการแข่งขันลดลง รวมถึงปัจจัยภายนอกด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย ยังต้องจับตาผลเลือกตั้งสหรัฐ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและนโยบายใหม่การค้าและการลงทุน อย่างไรก็ตาม เคเคพีคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัว 2.6%
นอกจากนี้ เสถียรภาพด้านการเมืองที่ยังคาดเดาได้ยาก เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนมีความกังวลว่าภาพต่อจากนี้จะไปต่ออย่างไร โดยเฉพาะนโยบายที่รัฐบาลประกาศไว้ เช่น เงินดิจิทัล 10,000 บาท ความร่วมมือด้านการลงทุนที่เคยเดินสายไปยังประเทศต่างๆ จะมีการผลักดันต่อหรือไม่ ล้วนเป็นเหตุที่นักลงทุนไทยและต่างชาติมีคำถามเกิดขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอน ถ้ารัฐบาลไม่มีเสน่ห์ด้านอื่นมาดึงดูดให้เขามาลงทุน คงจะส่งผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจไทยแผ่วลงแน่นอน
จากเมื่อก่อนนักลงทุนมองปัญหาการเมืองไทยเป็นปัญหาเล็กๆ เพราะตลาดหุ้นยังดี แต่ตอนนี้ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจด้อยลง มีความเสี่ยงทางการเมืองเข้ามา ทำให้มีความกังวลเกิดขึ้น ในทางกลับกัน หากปัจจุบันเศรษฐกิจไทยขยายตัวดี ถึงปัญหาการเมืองไทยจะมีมาก นักลงทุนก็ไม่แคร์
แต่ภาพปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจไทยไม่ดี ขยายตัวต่ำ ขณะที่ประเทศอื่นมีทางเลือกสำหรับดึงดูดนักลงทุนได้มากกว่า จึงทำให้นักลงทุนเลือกไปลงทุนประเทศอื่นๆ
ส่วน “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย วิเคราะห์ว่า การเมืองเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจระยะสั้น จากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้งบประมาณปี 2568 ล่าช้า ลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นและตลาดทุน แต่ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีการขยายตัว ต้องมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาวออกมา อย่ามองเฉพาะเงินดิจิทัลอย่างเดียว
โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 จะโตต่ำกว่า 2% และทั้งปี 2567 เติบโต 2.6% เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงสูง ยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐชะลอ จีนฟื้นช้า จะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกและการแข่งขัน ทั้งนี้ ท่ามกลางความท้าทาย มีแนวโน้มดอกเบี้ยจะเป็นช่วงขาลง คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมปีนี้ 0.25% ไปสู่ระดับ 2.25% และสู่ระดับ 1.5% ในปี 2568 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เป็นมุมมองสะท้อนถึง “รัฐบาล” ต้องเตรียมแผนสำรอง รับมือกับพายุถาโถมเศรษฐกิจไทย หากสุดท้ายนโยบายเรือธง เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่มาตามนัด คนหาเช้ากินค่ำ ยันธุรกิจยักษ์ใหญ่ คงต้องเหนื่อยกันอีกนาน!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022