จับตา ‘ฝีดาษลิง’ ภาวะฉุกเฉินในแอฟริกา

กําลังกลายเป็นที่หวาดวิตกไปทั่วโลก หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาแสดงความห่วงกังวล เกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง ที่มีเพิ่มมากขึ้นในทวีปแอฟริกา

และเมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแอฟริกา หรือแอฟริกา ซีดีซี ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของทวีปแอฟริกา

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในแอฟริกา ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงมากกว่า 14,000 รายใน 10 รัฐของสหภาพแอฟริกา โดยมีผู้ติดเชื้อที่ยืนยันได้แล้ว 2,750 ราย และเสียชีวิต 450 ราย เพิ่มขึ้นถึง 160 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566

ในจำนวนผู้ป่วยนี้ กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเป็นเด็กถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 5 เปอร์เซ็นต์

โดยนอกจากคองโกแล้ว ก็ยังมีประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา ที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น ทั้ง บุรุนดี ยูกันดา เคนยา รวันดา ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของคองโก ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่เคยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงมาก่อน จึงกลายเป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกังวลอย่างยิ่ง

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง มากกว่า 38,000 ราย และเสียชีวิต 1,456 รายทั่วทั้งทวีป

ที่น่ากังวล นอกจากพื้นที่การระบาดที่เริ่มขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ แล้ว ยังมีเรื่องของกลุ่มผู้ป่วย ที่แต่เดิมระบาดเฉพาะในผู้ใหญ่ แต่ตอนนี้เริ่มลุกลามไปในกลุ่มเด็ก ที่พบเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากพบสายพันธุ์ย่อย Clade lb ที่ติดต่อได้ง่ายขึ้น จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนอง หรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัส รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสด้วย

สำหรับโรคฝีดาษลิงนั้น แม้ว่าจะชื่อว่าฝีดาษลิง แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดจากลิงแต่อย่างใด โดยมีรายงานการพบโรคนี้ครั้งแรกเกิดจากลิงในห้องทดลอง จึงเรียกว่าฝีดาษลิง

โรคฝีดาษลิงนั้น เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus ที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะในทวีปแอฟริกา โดยเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้ รวมถึงสามารถติดต่อได้จากคนสู่คน

สำหรับอาการที่แสดงในมนุษย์ จะคล้ายกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ และโรคติดต่อจากไวรัสอื่นๆ

โดยอาการทั่วไปของฝีดาษลิงที่เห็นได้คือ ผื่นขึ้นตามผิวหนัง มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ไม่มีแรง และต่อมน้ำเหลือโต กลายเป็นตุ่มหนอง จนระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะกลายเป็นสะเก็ดหลุดออกมา โดยเฉลี่ยอาการป่วยจะอยู่ที่ราว 2-4 สัปดาห์ และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคได้เอง

อย่างไรก็ตาม โรคฝีดาษลิงจะไม่ติดต่อโดยตรง จากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ วัสดุที่ปนเปื้อน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อ

 

แม้ว่าจะมีวัคซีนป้องกัน แต่เนื่องจากแอฟริกายังมีปัญหาเรื่องของการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา หรือซีดีซี แอฟริกา ระบุว่า แอฟริกาต้องการวัคซีนถึง 10 ล้านโดส แต่ที่มีอยู่ มีเพียงแค่ 2 แสนโดสเท่านั้น

การขาดซึ่งการควบคุมและการรักษา จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการระบาดในแอฟริกา

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2565 เคยเกิดจากระบาดใหญ่ทั่วโลกจากยุโรปมาแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน และเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนป้องกันเป็นวงกว้าง ก่อนที่จะมีการยกเลิกการประกาศในเดือนพฤษภาคม 2566

รวมจำนวนผู้ที่ป่วยจากฝีดาษลิงในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 90,000 คน!

โดยการประกาศภาวะฉุกเฉินที่มีขึ้นนั้น จะช่วยให้ประเทศต่างๆ สามารถประสานงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกมากขึ้น

ส่วนจะทำให้การระบาดในครั้งนี้บรรเทาเบาบางลงหรือไม่ ก็ต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไป