ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | คุยกับทูต |
เผยแพร่ |
คุยกับทูต | ชีร์เลย์ เดนนิเซ อากิลาร์ บาร์เรรา
สัมพันธ์ 67 ปี ไทย-กัวเตมาลาแห่งภูมิภาคอเมริกากลาง (2)
ปริมาณการค้าระหว่างประเทศ
“ขณะนี้เรายังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนทางการค้า เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีหรือข้อตกลงคุ้มครองการลงทุนแบบแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศ อย่างไรก็ตาม กัวเตมาลาและไทยมีโอกาสมากมายในการร่วมมือและแลกเปลี่ยน โดยใช้ประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ทวิภาคีซึ่งต้องพิจารณาผ่านการใช้กลยุทธ์ต่างๆ เช่น :
1. การขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและเพิ่มดุลการค้า
กัวเตมาลาสามารถใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทยเพื่อมองหาพื้นที่สำหรับความร่วมมือและการถ่ายทอดความรู้ ในทางกลับกัน ไทยมองว่ากัวเตมาลาเป็นศูนย์กลางการลงทุนในละตินอเมริกาที่ช่วยให้มีความใกล้ชิดและกระจายการดำเนินงานไปยังตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้มากขึ้น ดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นทุกปีนั้นเป็นไปในทางบวกต่อไทย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าประเทศกัวเตมาลาจะมีโอกาสทางการค้าด้วย
จากสถิติของศูนย์ข้อมูลศุลกากรไทย ผลิตภัณฑ์หลักของกัวเตมาลาที่นำเข้ามาในประเทศไทย ได้แก่ วัตถุดิบโลหะ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก เสื้อผ้า พันธุ์พืชผสมตัวเอง เยื่อกระดาษ เศษกระดาษและเศษวัสดุ ผลไม้และผักแปรรูป ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เมล็ดกาแฟ เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้เนื้อดี สัตว์มีชีวิต พลาสติกและโพลิเมอร์ (polymer)
ในทางกลับกัน กัวเตมาลาได้นำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมของกัวเตมาลาจากประเทศไทย เช่น รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมรถยนต์ เครื่องซักผ้าอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารกระป๋อง โพลิเมอร์ ผลิตภัณฑ์เคมีและยา อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ทางการแพทย์และการผ่าตัด อาหารสัตว์ กระดาษ อัญมณี เครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ เป็นต้น
สถานเอกอัครราชทูตกัวเตมาลาในราชอาณาจักรไทยให้บริการรับรองเอกสารทางการค้าเพื่อการส่งออกแก่บริษัทไทยซึ่งเป็นตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่อาหารและเครื่องดื่มไปจนถึงสิ่งทอและอิเล็กทรอนิกส์มากกว่า 35 แห่ง โดยการใช้บริการเหล่านี้ บริษัทไทยสามารถรับประกันความถูกต้องและแม่นยำของเอกสารเพื่ออำนวยความสะดวกในกระบวนการส่งออกและสอดคล้องกับระเบียบข้อบังคับระหว่างประเทศ
2. การดึงดูดการลงทุน
กัวเตมาลาสามารถส่งเสริมบริษัทไทยที่ต้องการขยายการดำเนินงานในอเมริกากลางและย้ายฐานการลงทุนได้ ด้วยการให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มั่นคง แรงจูงใจด้านภาษี และแรงงานที่มีทักษะ ซึ่งจะส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบริษัทในกัวเตมาลาและประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เทคโนโลยี และการท่องเที่ยว จึงมีส่วนช่วยในการสร้างการจ้างงาน
ในด้านการส่งเสริมการค้า สถานเอกอัครราชทูตกัวเตมาลาประจำราชอาณาจักรไทยดำเนิน
กิจกรรมต่างๆ มากมายเพื่อส่งเสริมการส่งออกของกัวเตมาลา โอกาสสำหรับตลาดในเฉพาะที่กัวเตมาลาสามารถแข่งขันได้และมองหาบริษัทต่างๆ เพื่อดึงดูดการลงทุน จากวัตถุประสงค์ดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตจึงเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อมองหาผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ของกัวเตมาลา โดยมีการสำรวจว่ากาแฟเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงได้มีการติดต่อกับสมาคมกาแฟแห่งประเทศไทย สมาคมบาริสต้าไทย และผู้นำเข้าเมล็ดกาแฟ
สรุปว่า ปริมาณการค้าระหว่างไทยและกัวเตมาลาจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยได้รับอิทธิพลจากสภาวะตลาดและปัจจัยทางเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศมุ่งมั่นที่จะเพิ่มปริมาณการค้าและสำรวจความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านใหม่ๆ ข้อมูลสถิติเศรษฐกิจการค้าได้รับการอัปเดตเป็นประจำโดยรัฐบาลทั้งสองเพื่อติดตามความคืบหน้าและระบุโอกาสในการเติบโต”
กัวเตมาลากับการต่อต้านการทุจริตเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เอกอัครราชทูตกัวเตมาลา ย้ำว่า
“กัวเตมาลาได้พยายามอย่างจริงจังในการต่อสู้กับการทุจริตผ่านการปฏิรูปกฎหมาย การเสริมสร้างสถาบัน การส่งเสริมความโปร่งใสและความรับผิดชอบ ความพยายามเหล่านี้มุ่งหวังที่จะสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยและมั่นคงยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ”
ส่วนกระแสที่น่าสนใจคือ ชาวเกาหลีในกัวเตมาลาเป็นกลุ่มชุมชนชาวเกาหลีในต่างแดนที่ใหม่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในละตินอเมริกา
“ชุมชนชาวเกาหลีในกัวเตมาลาเติบโตขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เกิดจากโอกาสทางธุรกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม จนถึงปัจจุบัน มีบริษัทที่เป็นของชาวเกาหลีมากกว่า 240 แห่งในประเทศ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและการผลิต โดยใช้ประโยชน์จากตำแหน่งที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ของกัวเตมาลาและการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ”
“นอกจากนี้ การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและโปรแกรมการศึกษายังช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนทั้งสอง ทำให้กัวเตมาลาเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับชาวเกาหลีที่อพยพไปอยู่ต่างประเทศ”
ไทยและกัวเตมาลากับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม
“เราต่างมีความเคารพและชื่นชมในมรดกของกันและกัน เราส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างกัน เช่น นิทรรศการศิลปะ กิจกรรมการทำอาหาร และการแสดงแบบดั้งเดิม เพื่อให้ทั้งสองวัฒนธรรมใกล้ชิดกันมากขึ้น มีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดีและการส่งเสริมความเข้าใจที่มากขึ้น ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญส่วนหนึ่งของสถานทูตสาธารณรัฐกัวเตมาลาประจำราชอาณาจักรไทย”
สำหรับเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกัวเตมาลานั้น
“เป็นการผสมผสานระหว่างมรดกของชาวมายาพื้นเมือง อิทธิพลของอาณานิคมสเปน และ
องค์ประกอบสมัยใหม่ สะท้อนให้เห็นในดนตรี การเต้นรำ ศิลปะ และอาหารแบบดั้งเดิมของเรา การผสมผสานทางวัฒนธรรมอันหลากหลายนี้ เป็นแหล่งที่มาของความภาคภูมิใจของชาวกัวเตมาลาและเป็นส่วนสำคัญของเอกลักษณ์ประจำชาติของเรา”
โดยจุดเด่นของประเทศกัวเตมาลา คือ “เรามีชื่อเสียงในด้านมรดกทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งโบราณคดีของชาวมายา เช่น ติกัล (Tikal) และลาดันตา (la Danta) กัวเตมาลาเป็นที่รู้จักในด้านภูมิทัศน์ที่สวยงาม รวมถึงภูเขาไฟ ทะเลสาบ และป่าฝน นอกจากนี้ กาแฟของกัวเตมาลายังมีชื่อเสียงในด้านกาแฟคุณภาพสูง สิ่งทอแบบดั้งเดิม และเทศกาลที่มีชีวิตชีวา เช่น สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ (Semana Santa) และวันแห่งความตาย (Día de los Muertos)”
ด้านการเปิดกลยุทธ์ใหม่เพื่อดึงนักท่องเที่ยวของกัวเตมาลานั้น
“รัฐบาลกัวเตมาลาได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างแข็งขันผ่านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การรณรงค์ทางการตลาด และการพัฒนาแนวทางการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มีขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบิน การอนุรักษ์แหล่งมรดกทางวัฒนธรรม การเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยรัฐกำหนดให้ภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ของการพัฒนาเศรษฐกิจ”
“ทั้งนี้ หน่วยงานการท่องเที่ยวของกัวเตมาลา (INGUAT) มีแผนงานเชิงกลยุทธ์ 6 แกน ซึ่งได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบัน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ข้อมูลการท่องเที่ยว ความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว การตลาดการท่องเที่ยวโดยการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การล่องเรือ การประชุม สัมมนา และสิ่งจูงใจ ทัวร์และการเดินทาง ธรรมชาติ ภาษา งานแต่งงาน และฮันนีมูน”
“การเปิดตัวและส่งเสริมกลุ่มการท่องเที่ยวใหม่ที่ได้รับการยืนยันแล้วอีกเช่นกัน นั่นคือ ศาสตร์การทำอาหาร ซึ่งเรามุ่งหวังที่จะให้รับรู้ถึงความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหารของประเทศของเรา”
“หน่วยงานของรัฐยังคำนึงถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการประชุมระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมกัวเตมาลาในต่างประเทศ และในทำนองเดียวกันประสบการณ์ต่างๆ จะถูกแบ่งปันกับประเทศอื่นๆ เพื่อการบริหารจัดการการท่องเที่ยว”
เอกอัครราชทูตบาร์เรรา เปิดเผยถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวกัวเตมาลาในประเทศไทยว่า
“เราพยายามส่งเสริมประเทศกัวเตมาลาผ่านกิจกรรมทางวัฒนธรรม โดยร่วมมือกับบริษัทนำเที่ยว และการมีส่วนร่วมในงานนิทรรศการการท่องเที่ยวที่จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอประสบการณ์และจุดหมายปลายทางที่เป็นเอกลักษณ์ของกัวเตมาลา” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022