ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ
พื้นที่ความตายในเมืองกรุงเทพฯ (6)
: แยกซ่อนความตายในเมืองสมัยใหม่
แม้ปัจจุบันกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองมหานครขนาดใหญ่ที่มีผู้อาศัยเกือบสิบล้านคน มีคนตายต่อวันเป็นจำนวนไม่น้อย มีฌาปนสถานกระจายตัวมากถึง 308 แห่ง และเราทุกคนต้องมีโอกาสเข้าร่วมงานศพ งานสวด งานเผา หลายต่อหลายครั้งตลอดช่วงชีวิตของเราอย่างแน่นอน แต่กระนั้น หากมองเทียบกับสังคมแบบจารีต เราที่เป็นมนุษย์ยุคสมัยใหม่โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ กลับถูกแยกขาดออกจากพื้นที่ความตายมากขึ้นเรื่อยๆ
Philip Mellor และ Chris Shilling เคยเสนอประเด็นน่าสนใจไว้ในบทความเรื่อง Modernity, Self-Identity and the Sequestration of Death ว่า สังคมในยุคสมัยใหม่มีแนวโน้มที่จะ “แยกซ่อนความตาย” (Sequestration of Death) ออกจากชีวิตปกติประจำวันของเรา
กล่าวโดยสังเขป ความตายในยุคจารีตคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่สังคมยอมรับและเผชิญหน้า ไม่ว่าจะทั้งด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ความรู้ด้านสุขอนามัย และวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความตาย ทั้งหมดทำให้มนุษย์พบเห็น อยู่ร่วม และสัมผัสกับพื้นที่ความตายอย่างเป็นปกติ
แต่ในสังคมสมัยใหม่ ความตายถูก “แยกซ่อน” (Sequestration) ออกไปจากสายตาและความคิดของผู้คน ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากพัฒนาทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความตายที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของโรงพยาบาลหรือพื้นที่เฉพาะอื่นๆ ที่แยกตัวออกมา เป็นพื้นที่ของผู้เชี่ยวชาญและพื้นที่ที่ควรปิดซ่อนออกจากคนหมู่มาก ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้คนไม่คุ้นเคยกับการเผชิญหน้ากับความตายอย่างใกล้ชิดเหมือนในอดีต
นอกจากนี้ ภายใต้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความตายเริ่มกลายเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมหรือเลื่อนออกไปได้
ดังนั้น ในทัศนะสมัยใหม่ เมื่อเกิดความตายขึ้น สังคมจึงโน้มเอียงที่จะมองว่าเป็นความล้มเหลวของระบบการแพทย์ เป็นความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหา” มากกว่าที่จะมองว่าความตายคือ “ธรรมชาติ” ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตามทัศนะแบบจารีต
อีกส่วนที่สำคัญคือ ในอดีต ความตายเป็นเรื่องของชุมชน การจัดการความตายเป็นหนึ่งในกระบวนการทางสังคมที่เชื่อมโยง “คนเป็น” ให้ร้อยเข้าด้วยกันผ่าน “คนตาย” ในพื้นที่สาธารณะของชุมชน หรือไม่ก็ใช้ความตายเพื่อประโยชน์ทางสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่ทัศนะว่าด้วยความตายแบบสมัยใหม่พยายามทำให้ความตายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลและเป็นเรื่องเฉพาะของครอบครัวผู้สูญเสียมากขึ้น และด้วยเหตุนี้ พื้นที่ความตายจึงค่อยๆ เปลี่ยนผ่านจากพื้นที่ทางสังคมสู่พื้นที่เชิงปัจเจก
(ดูเพิ่มใน Mellor, P. A., & Shilling, C. (1993). Modernity, Self-Identity and the Sequestration of Death. Sociology, 27(3), 411-431.)
แม้ปรากฏการณ์ “แยกซ่อนความตาย” ในบทความดังกล่าวจะเน้นศึกษาสังคมตะวันตก แต่หากเรามองย้อนกลับมาดูสังคมไทย เราก็พบว่าดำเนินไปในทิศทางที่ไม่แตกต่างกันนัก
คติโบราณของคนไทย และคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยรวม ความตายและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เป็นเรื่องของสังคม และมิได้มองความตายตามแบบโลกสมัยใหม่
หากมองในเชิงทัศนะต่อความตาย สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยอธิบายไว้ว่า คนแต่ก่อนเชื่อว่าคนตายคือคนที่ร่างกายหมดสภาพแต่ “ขวัญ” ของคนคนนั้นยังคงอยู่ ไม่ตายจากไปไหน โดยขวัญของผู้ตายจะไปรวมพลังกับขวัญบรรพชนคนก่อนๆ (ที่ฝังอยู่ลานกลางบ้านหรือใต้ถุนเรือนบริเวณเดียวกัน) เพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชนและเผ่าพันธุ์ พร้อมทั้งบันดาลความอุดมสมบูรณ์ และด้วยความเชื่ออย่างนี้เอง งานศพในไทยสมัยก่อนๆ จึงเป็นงานสนุกสนานรื่นเริงต่อเนื่องหลายวัน (ดูเพิ่มใน https://www.matichon.co.th/columnists/news_149939)
แน่นอน เมื่อมีคนตายย่อมมีความเศร้าโศกเสียใจเกิดขึ้น แต่ด้วยโลกทัศน์แบบเดิม ความตายย่อมไม่ใช่เรื่องความผิดพลาด ล้มเหลว และปัญหาตามแบบสมัยใหม่ที่ต้องพยายามเข้าไปหยุดยั้ง แต่มันคือธรรมชาติที่เข้าใจ ยอมรับได้ และเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง
หากมองในเชิงพื้นที่ ความตายในอดีตของไทยใกล้ชิดและแทรกตัวอยู่ในพื้นที่ชีวิตประจำวันมากกว่าในปัจจุบัน ตามธรรมเนียมไทย ก่อนการเผาจริงจะมีการเก็บศพเอาไว้อย่างยาวนานผ่านพื้นที่ป่าช้าซึ่งแทรกตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ในเมือง รวมไปถึงธรรมเนียมการเก็บศพไว้ตามบ้านของผู้ตายซึ่งเป็นที่นิยมมากพอสมควร ไม่นับรวมประเด็นกลิ่นเหม็นจากซากศพที่ลอยโชยตามลมแทรกตัวเข้าไปยังบ้านเรือนผู้คนอย่างเป็นปกติทั่วไป (ตามที่อธิบายไปหลายตอนที่ผ่านมา)
ทั้งหมดนี้ทำให้คนในอดีตต่างต้องพบเจอกับซากซพและความตายอยู่เสมอ
พื้นที่คนตายกับคนเป็นแม้จะมีเส้นแบ่งกันอยู่ แต่หลายส่วนก็แชร์ใช้ร่วมกันจนเป็นเรื่องปกติ กรณีป่าช้าวัดสระเกศเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน แม้จะแยกตัวออกมาเป็นเสมือนเกาะที่มีคูคลองล้อมรอบ แต่ในอีกด้านก็เป็นพื้นที่ที่คนเป็นเข้าไปใช้สอยกันประจำผ่านพิธีศพรูปแบบต่างๆ ยิ่งหากเป็นงานเจ้านายที่มีกิจกรรมรื่นเริงประกอบ ป่าช้า ณ ช่วงจัดงานศพก็คือพื้นที่ทางสังคมขนาดใหญ่ที่คนเป็นเข้าไปอยู่ร่วมกับคนตายอย่างปกติ
หรือในส่วนของพระสงฆ์ ป่าช้าวัดสระเกศคือพื้นที่สำคัญของพระสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาที่จะต้องมาเจริญอสุภกรรมฐานกันเป็นประจำ ดังนั้น ภาพของซากศพที่เน่าเปื่อย ชิ้นส่วนร่างกายที่กระจัดกระจาย ร่องรอยของแร้งที่กัดกินศพ กลิ่นเหม็น ฯลฯ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่แปลกแยกมากนัก
และมิใช่แค่พระ ฆราวาสก็เข้าไปใช้สอยป่าช้าและพบเห็นซากศพกันเป็นเรื่องปกติ
ป่าช้าบางแห่ง เช่น ที่วัดพลับพลาชัยที่มีสถานะพิเศษเป็นลานประหารนักโทษในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ความตายที่เชื่อมโยงกับพื้นที่คนเป็น
ในทุกการประหารมักจะมีผู้คนแห่แหนกันมาดูเสมอ ยิ่งหากเป็นกรณีโด่งดังก็จะยิ่งมีผู้คนไปรวมตัวกันจนล้นลานประหาร และในบางกรณีก็จะมีการแห่ประจานรอบเมืองไปจนถึงการเสียบหัวประจานหลังการประหารประกอบไปด้วย (ไม่ต่างจากการประหารแบบโบราณในสังคมทั่วโลกที่จะมีลักษณะนี้เช่นกัน)
ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ความตายในอดีตนั้นอยู่ใกล้ตัวเราเป็นอย่างมาก
แต่เมื่อสังคมสยามก้าวเข้าสู่ความศิวิไลซ์ กระบวนการ “แยกซ่อนความตาย” ก็เริ่มขึ้น การจัดการซากศพและกลิ่นเหม็นผ่านการจัดตั้งบุคคลและหน่วยงานขึ้นมาดูแลเป็นการเฉพาะก็เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “นายป่าช้า”, “ขุนกะเรวฬาก” ไปจนถึงการจัดตั้ง “สุขาภิบาล” และอื่นๆ อีกมากตามมา (ดูเพิ่มในหนังสือ รัฐสยดสยอง โดย ภัทรนิษฐ์ สุรรังสรรค์)
ราวทศวรรษ 2430 โรงพยาบาลสมัยใหม่ก็ถูกจัดตั้งขึ้นในสยาม และเริ่มเข้ามาทำหน้าที่แยกซ่อนความตายออกไปจากสังคม ในแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในตะวันตก
และเมื่อมีการนำเข้าเตาเผาสมัยใหม่มาใช้ในปี พ.ศ.2483 การเผาซากศพกลางแจ้ง การปล่อยให้แร้งกลิ่นในที่สาธารณะก็ทยอยลดลง การฝังศพและเก็บศพในป่าช้าก็หมดบทบาทและหายไปในที่สุด เปลี่ยนกลายมาเป็นฌาปนสถานที่พื้นที่ถูกจัดแยกออกเป็นศาลาย่อยๆ ที่แต่ละครอบครัวจัดงานในเชิงปัจเจกเฉพาะครอบครัวและเครือข่ายของตนเองมากขึ้น
การเผาศพกลายเป็นเรื่องเฉพาะตัว แม้ฌาปนสถานจะมีทั่วกรุงเทพฯ 308 แห่ง แต่พื้นที่ทั้งหมดมีลักษณะของการจัดพิธีกรรมเชิงปัจเจก มิใช่พื้นที่ในรูปแบบและความหมายแบบป่าช้าในอดีตอีกต่อไป
แม้แต่การประหารก็มิใช่กิจกรรมทางสังคม แต่เป็นเรื่องของปัจเจกที่ต้องแยกซ่อนออกไปทำกันในพื้นที่ปิด
อย่างไรก็ตาม ในโลกสมัยใหม่ ก็มิใช่ว่าทุกความตายจะถูกเปลี่ยนกลายให้เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลทั้งหมดเสียทีเดียวนัก
เพราะหนึ่งในผลผลิตของความเป็นสมัยใหม่ คือ การเกิดขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า “รัฐชาติ” ซึ่งเป็นประดิษฐกรรมทางสังคมการเมืองที่ชอบเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการจัดการความตาย
โดยรัฐสมัยใหม่ทุกแห่งต่างนิยมที่จะเปลี่ยนความตายบางรูปแบบและของบางคนให้กลายมาเป็นศูนย์รวมหรือสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ
ภายใต้กระบวนการดังกล่าว พื้นที่ความตายรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าอนุสรณ์สถานหรืออนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงคนตายในฐานะสัญลักษณ์ของชาติก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
และเมืองกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองหลวงของรัฐชาติไทยก็หนีไม่พ้นที่จะปรากฏพื้นที่ความตายรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022