ครีเอทีฟนคร ครั้งที่ 6 ‘จ้าน’ เทศกาลที่ขับเคลื่อนนครศรีธรรมราช ด้วยความคิดสร้างสรรค์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ครีเอทีฟนคร ครั้งที่ 6 ‘จ้าน’

เทศกาลที่ขับเคลื่อนนครศรีธรรมราช

ด้วยความคิดสร้างสรรค์

 

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้เดินทางไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อไปร่วมชมเทศกาล ครีเอทีฟนคร ครั้งที่ 6 “จ้าน” เทศกาลงานสร้างสรรค์ที่รวบรวมทั้งนิทรรศการแสดงศิลปะ งานออกแบบ สถาปัตยกรรม งานหัตถกรรมท้องถิ่น เข้าไว้ด้วยกันอย่างโดดเด่น ไปจนถึงการแสดงดนตรี เวิร์กช็อป และกิจกรรมการเสวนาและบรรยายเกี่ยวกับองค์ความรู้ต่างๆ ด้านงานสร้างสรรค์โดยผู้เชี่ยวชาญหลากสาขา ให้ผู้ที่สนใจร่วมฟังโดยไม่เสียสตางค์

นอกจากนี้ ในเทศกาลยังมีตลาดนัดที่มีเครือข่ายร้านอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ที่นำเสนอของดีท้องถิ่นของนครศรีธรรมราชในแบบร่วมสมัยอย่างน่าสนใจ เรียกได้ว่างานนี้ทำให้เราอดประหลาดใจไม่ได้ว่า นครศรีธรรมราชก็มีกิจกรรมดีๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์อย่างที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

เทศกาล ครีเอทีฟนคร ริเริ่มขึ้นโดยกลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ ศิลปิน นักออกแบบ ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่าง วิสิทธิ์ เตชสิริโกศล, แก้วตระการ จุลบล และ ศุภชัย แกล้วทนงค์ สบทบด้วย ณัฐนันท์ รุจิวณิชย์กุล, สุธาทิพย์ โมราลาย และ ชัชวาลย์ รัตนพันธุ์ ที่รวมตัวกันในชื่อ ครีเอทีฟนคร (Creative Nakhon) ผู้ใช้สินทรัพย์และทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อผลักดันให้นครศรีธรรมราชนี้กลายเป็นเมืองสร้างสรรค์ที่ดึงดูดให้คนหลั่งไหลเข้ามา

โดยแก้วตระการ จุลบล หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มครีเอทีฟนคร กล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า

“โครงการนี้เริ่มต้นจากการที่เราทั้งสามคน เป็นศิลปินและนักออกแบบที่กลับมาอยู่กันที่นครศรีธรรมราช และเปิดสตูดิโอศิลปะและดีไซน์กัน เราก็คุยกันว่าเราหาคนพูดคุยเกี่ยวกับศิลปะ งานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ในเมืองนี้ได้ยาก เราเลยตั้งกลุ่มที่รวบรวมทั้งศิลปิน นักออกแบบและสถาปนิกขึ้นมา เพื่อทำอะไรสักอย่างเพื่อขับเคลื่อนเมืองของเรา เพราะถึงแม้ว่าในจังหวัดนครศรีธรรมราชจะมีกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเมืองในยุคสมัยก่อนหน้าอย่างครูบาอาจารย์และศิลปินรุ่นพี่ที่เขาเคยทำกันมาอยู่แล้ว แต่เราก็อยากให้มีคนรุ่นใหม่ ผู้ทำงานร่วมสมัยที่แตกต่างจากสิ่งที่เราเคยมีอยู่ เราก็เลยรวมกลุ่มกันในชื่อ ครีเอทีฟนคร เบื้องต้นก็มี 3 คน โดยที่แต่ละคนจะมีเครือข่ายพันธมิตรของแต่ละสาขาที่ตัวเองทำงาน โดยในปี 2560 เรารวบรวมคนทำงานศิลปะและนักออกแบบในเมืองนครศรีธรรมราชมาร่วมแสดงนิทรรศการร่วมกันในพื้นที่ Paretas Art Club ซึ่งเป็นสตูดิโอของอาจารย์ปริทรรศ หุตางกูร จัดขึ้นเป็นเทศกาลในปีแรก”

“ต่อมาในปีที่ 2 เราเริ่มขยับขยายมาจัดแสดงงานเทศกาลกันในพื้นที่ สีดิน See-Din Nature And Creative Space : พรหมคีรี โดยมีธีมงานที่ชัดเจนขึ้น คือ The Fruit Story เพราะจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านผลไม้”

“โดยเราจะพูดถึงผลไม้ในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีอยู่มากมายผ่านผลงานของศิลปินและนักออกแบบหลากหลายคนจากกรุงเทพฯ และอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดนี้ และทำงานศิลปะต่อเนื่อง”

“หลังจากนั้นในปีที่ 3 เราเริ่มมีสมาชิกเป็นสถาปนิกมากขึ้น ทำให้งานของเราเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ประจวบกับงานสถาปนิกทักษิณ ลงมาแสดงงานในนครศรีธรรมราชพอดี ในงานชื่อ ASA MAHA NAKHON 202 โดยมีครีเอทีฟนคร เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการชื่อ THE ROOT ด้วยแนวคิดในการค้นหารากเหง้าของเมืองนครศรีธรรมราชที่มีอารยธรรมมานับพันปี โดยในครั้งนั้นเรามีการเปิดรับสมัครศิลปินและนักออกแบบให้ส่งผลงานมาร่วมแสดงในนิทรรศการ ด้วยความที่เราจัดงานใหญ่ขึ้น ชัดเจนมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ก็เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เรายังหาภาคีเครือข่ายที่เป็นเอกชนมาร่วมสนับสนุน ทั้งโรงแรม ร้านค้าอุปกรณ์ก่อสร้าง ฯลฯ ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดของงานมาร่วมด้วย”

“ในปีที่ 4 เราก็มีแนวคิดในการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ในย่านชุมชนท่าวัง-ท่ามอญ ย่านเศรษฐกิจเก่าของนครศรีธรรมราช เพื่อปลุกชีวิตของย่านการค้าขายเดิมในอดีต ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจังหวัด ด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ เรายังได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ด้วยความที่หน่วยงานจังหวัดของเราส่งข้อมูลไปยัง CEA เพื่อให้ชุมชนท่าวัง-ท่ามอญ เป็นแหล่งนำร่อง 15 จังหวัดในการสร้างเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย”

“ในครั้งนี้จึงเป็นการทำงานด้วยการลงพื้นที่พัฒนาย่านชุมชนท่าวัง-ท่ามอญ โดยเป็นการจัดเทศกาลในพื้นที่หลายแห่งในชุมชน ทั้งในร้านอาหาร ร้านค้า คาเฟ่ ในชุมชนต่างๆ จำนวน 19 อาคาร โดยมี ททท. และ CEA ร่วมสนับสนุน และมี ครีเอทีฟนคร เป็นผู้จัดงานอยู่เบื้องหลัง”

“ในปีที่ 5 หลังจากเราเว้นวรรคการจัดงานไปหนึ่งปี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เราจึงลดขนาดงานลงมาทำเป็นเทศกาลที่พูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างชัดเจน ในครั้งนั้นเราจึงเลือกนำเสนอในธีม ‘เมืองทำมือ’ ซึ่งเกี่ยวกับจุดเด่นของนครศรีธรรมราชที่เป็นแหล่งหลากงานศิลปหัตถกรรม”

“ล่าสุด ในการจัดงานเทศกาล ครีเอทีฟนคร ครั้งที่ 6 ในปี พ.ศ.2567 นี้ หลังจากที่เราลดขนาดลงไปในปีที่ 5 เราจึงขยายแนวทางของเทศกาลให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งนิทรรศการศิลปะและการออกแบบ การแสดง ดนตรี การจัดบรรยายเสวนา ตลาดนัดศิลปะ งานออกแบบ เครื่องดื่มและอาหาร โดยจัดในธีม ‘จ้าน’ ซึ่งเป็นภาษาไทยปักษ์ใต้ที่มีความหมายว่า เยอะแยะมากมาย ครบครัน เพราะนครศรีธรรมราชเป็นเมืองแห่งธรรมชาติ ศิลปะ หัตถกรรม อาหารอร่อย ผลไม้อุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีทั้งภูเขาและทะเล ธรรมชาติ เยอะแยะมากมาย เรียกได้ว่า จ้านไปหมด”

นอกจากตัวตั้งตัวตีทั้งสามและสมาชิกกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังโครงการนี้แล้ว อีกบุคคลที่เราสังเกตเห็นว่าเป็นแรงขับดันสำคัญของเทศกาลครั้งนี้คือ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ผู้บุกเบิกและร่วมก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมถึงเป็นกรรมการและเลขานุการ สวนโมกข์กรุงเทพ เขายังเป็นผู้สนับสนุนพื้นที่แสดงงานหลักและพื้นที่จัดเทศกาล ครีเอทีฟนคร ในครั้งนี้ (และครั้งที่ผ่านๆ มา) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ See-Din Old Town : Art Gallery และ ตึกยาวบวรนคร นั่นเอง

“ก่อนหน้านี้พวกเรารู้จักคุณหมอบัญชาในฐานะเจ้าของร้านหนังสือนาครบวรรัตน์ ซึ่งคุณหมอต้องการให้เป็นแหล่งชุมชนทางปัญญา ที่มีศิลปิน นักเขียน กวี มารวมตัวกัน ซึ่งร้านหนังสือได้ปิดตัวไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว หลังจากนั้นเรามารู้จักคุณหมอจริงๆ ตอนที่เราทำเทศกาล ครีเอทีฟนคร ครั้งที่ 3 ในงาน ASA MAHA NAKHON 2020 เขาก็มาสนับสนุนผลงานในเทศกาล และเล็งเห็นว่ามีกลุ่มคนที่กำลังขับเคลื่อนเมืองในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ ผ่านงานศิลปะและงานออกแบบ ในเมืองนครศรีธรรมราช คุณหมอเองเป็นเจ้าของที่ดินหลายแห่งในนครศรีธรรมราช ซึ่งรวมถึง ตึกยาวบวรนคร ที่เคยเป็นที่ตั้งของร้านหนังสือนาครบวรรัตน์”

“ซึ่งในปัจจุบันกำลังปรับปรุงให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ คุณหมอเองก็สนับสนุนและอนุญาตให้เราใช้พื้นที่เหล่านี้จัดงานอย่างต่อเนื่อง”

เราอดสงสัยไม่ได้ว่า หลังจากจัดเทศกาล ครีเอทีฟนคร ผ่านมาแล้ว 6 ครั้ง มีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดสร้างสรรค์อะไรเกิดขึ้นบ้างในชุมชนย่านนี้ของนครศรีธรรมราช ซึ่งแก้วตระการบอกกับเราว่า

“ตอนปีแรกๆ ที่จัดงาน เรายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่พอหลังจากเราจัดงานในปีที่ 4 เราเห็นว่ามีผู้ประกอบการเริ่มเห็นแรงกระเพื่อมบางอย่างเกิดขึ้นในย่านชุมชนนี้ มีร้านรวงใหม่ๆ เริ่มเปิดขึ้นหลังจากเราจัดเทศกาลไป เราก็ไม่แน่ใจว่างานเทศกาลที่เราจัดจะเป็นการสร้างคุณค่าของพื้นที่นี้ให้เขาเห็นหรือเปล่า หรือเขาอาจจะมีความตั้งใจที่จะทำอยู่แล้ว”

“หลังจากเราจัดงานในปีที่ 5 เราเริ่มเห็นร้านรวง คาเฟ่ต่างๆ ที่มีดีไซน์ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในย่านนี้ได้ เปิดขึ้นมามากขึ้น เริ่มมีการปรับปรุงตึกเก่ามาทำเป็นสถานประกอบการในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น เราเริ่มเห็นความเป็นไปว่ามีผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ คนรุ่นใหม่มาทำอะไรในย่านนี้มากขึ้น เราเริ่มเห็นความเป็นไปได้ของพื้นที่ในย่านนี้ที่จะทำให้เกิดอะไรบางอย่างใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในเมืองแห่งนี้ได้”

“ในช่วงเวลาที่เราจัดงานเทศกาล ครีเอทีฟนคร ครั้งที่ 6 ที่ผ่านมา เรามีการจับมือเชื่อมโยงกับหลากหลายภาคีมากขึ้น อย่าง CEA, หอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช (YEC Nakhon), ททท., สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ อย่างโรงแรม ห้างร้านและบริษัทต่างๆ แต่ละคนก็มาเชื่อมโยงสนับสนุนเทศกาล ให้กลายเป็นจุดดึงดูดทางความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ชุมชนและจังหวัด เพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในจังหวัดมากขึ้น”

“เพราะก่อนหน้านี้ คนมาท่องเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่จะเข้ามาแบบมาเช้าเย็นกลับ เราจะทำอย่างไรให้คนมานครศรีธรรมราชอยู่ในเมืองนานขึ้น จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ที่ต้องอาศัยพลังของคนในจังหวัดร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้”

เมื่อได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานงานเทศกาล ครีเอทีฟนคร ในครั้งนี้ ทำให้เราสัมผัสถึงศักยภาพอันเปี่ยมล้นและความร่วมมือร่วมใจของคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นใหม่ไฟแรงในเมืองแห่งนี้ และหวังอย่างยิ่งว่าเราจะมีโอกาสได้กลับมาเยือนเทศกาลนี้ในอนาคตข้างหน้า และขอหยิบเอาคำสัพยอกที่ใครบางคนใช้เหยียดคนในเมืองนี้อย่างเหมารวมมาเปลี่ยนแปลงด้วยความคิดสร้างสรรค์ว่า “ประตูมีกลอน คนคอนมีครีเอทีฟ” จริงๆ อะไรจริง!

เทศกาลงานสร้างสรรค์ ครีเอทีฟนคร ครั้งที่ 6 “จ้าน” จัดไปเมื่อวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567 ณ สีดิน See-Din Old Town : Art Gallery และอาคารตึกยาวบวรนคร ย่านท่าวัง-ท่ามอญ นครศรีธรรมราช ใครที่ไม่ได้ไปชมเทศกาลครั้งนี้ก็อย่าเพิ่งเสียดาย เพราะเขาจะมีการจัดงานแสดงนิทรรศการ จ้าน JAAN by ครีเอทีฟนครครั้งที่ 6 อีกครั้ง สำหรับผู้พลาดชม ในงาน เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567 ที่จังหวัดสงขลา ในวันที่ 17-25 สิงหาคม 2567 นี้ ไปชมกันได้ตามสะดวก

ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่เพจ facebook Creative Nakhon 

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์