ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โฟกัสพระเครื่อง |
เผยแพร่ |
“พระเทพมงคลรังษี” หรือ “หลวงปู่ดี พุทธโชติ” อดีตเจ้าอาวาสวัดเหนือ (วัดเทวสังฆาราม) ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี พระเกจิที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา
อีกทั้งยังเป็นพระอุปัชฌาย์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวัฑฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งทรงกลับมาอุปสมบทที่วัดเหนือและจำพรรษาอยู่ 1 พรรษา
จากนั้น กลับสู่วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอุปสมบทซ้ำญัตติเป็นธรรมยุต โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์
วัตถุมงคลที่สร้างล้วนเป็นที่นิยมและเสาะแสวงหา มีทั้งพระบูชา ภปร, รูปหล่อ, พระกริ่ง, เหรียญรูปเหมือน และเครื่องรางของขลังต่างๆ
โดยเฉพาะ “พระกริ่งพุทธโชติ” หลวงปู่ดี วัดเทวสังฆาราม
ในช่วงปี พ.ศ.2484 ไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส กลิ่นอายแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มปะทุ ครั้งนั้น พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ศิษย์ใกล้ชิดและเลื่อมใสศรัทธา ได้ขออนุญาตสร้างวัตถุมงคลเพื่อบำรุงขวัญให้กับทหารที่ไปราชการสงคราม รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อไว้ปกปักรักษาคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยสงคราม
วัตถุมงคลที่จัดสร้างครั้งนั้น อาทิ พระพุทธชินราช, พระขุนแผน, พระคงเนื้อดินเผา, พระลืออุดกริ่ง, พระท่ากระดานหล่อโบราณ เป็นต้น
สำหรับ พระกริ่งพุทธโชติ จัดสร้างเป็นเนื้อทองผสมกลับแดง และเนื้อทองแดง (สำริด) แต่เนื้อทองแดงอุดกริ่งแบบเจาะสะโพก
นอกจากนี้ ยังมีเนื้อดินเผาละเอียด มีปีก หลังอูม โดดเด่นด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี
ลักษณะเป็นพระกริ่งศิลปะแบบเขมร ฐานบัวฟันปลา 3 คู่ พระหัตถ์ซ้ายอุ้มบาตร พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว
ด้านหลัง มีกลีบบัวฟันปลา 2 คู่ ใต้ฐานก้นถ้วยมีเลขหนึ่งไทยและกากบาท อุดกริ่งแบบฝาเชื่อม
เป็นพระกริ่งที่หายากมากอีกรุ่น
อัตโนประวัติ เกิดที่บ้านทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2416 บิดา-มารดาชื่อ นายเทศ-นางจันทร์ เอกฉันท์
บรรพชาในปี พ.ศ.2434 ณ วัดทุ่งสมอ มีพระอธิการรอด วัดทุ่งสมอ ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่เป็นพระอุปัชฌาย์
อยู่ได้ 6 เดือน ก็ลาสิกขาออกมาช่วยงานครอบครัว จนอายุครบบวช จึงอุปสมบท ณ วัดทุ่งสมอ มีพระครูวิสุทธิรังษี (หลวงปู่ช้าง) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการรอด และพระใบฏีกาเปลี่ยน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “พุทธโชติ”
จำพรรษาที่วัดทุ่งสมอ ใฝ่ใจศึกษาเล่าเรียนทั้งคันถธุระและวิปัสสนาธุระ โดยมีความชอบเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับการสวดปาติโมกข์ จึงมีความมานะพยายาม จนที่สุด สามารถท่องได้จบบริบูรณ์ในพรรษาที่ 2
ช่วงออกพรรษามักธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ศึกษาวิปัสสนาและวิทยาคมเพิ่มเติมกับพระเกจิหลายรูป อาทิ พระอาจารย์เกิด วัดกกตาล นครชัยศรี, หลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้ จ.กาญจนบุรี, หลวงพ่อยิ้ม วัดหนองบัว ฯลฯ
ชะตาผกผัน ในพรรษาที่ 12 ที่มาจำพรรษาที่วัดรังษี ครั้งที่ 2 นั้น พบพระครูสิงคิบุราคณาจารย์ (หลวงพ่อสุด) เจ้าอาวาสวัดเหนือ ซึ่งรู้จักกันมาก่อนในครั้งที่รับนิมนต์ให้ไปสวดที่วัดใต้
หลวงพ่อสุดทำหนังสือขอเดินทางเพื่อไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า จึงขออนุญาตเดินทางไปด้วย ตลอดทางทั้งไปและกลับ หลวงพ่อสุดเกิดอาพาธ ซึ่งหลวงปู่ดีคอยปรนนิบัติดูแลจนกลับถึงวัดเหนือ
หลวงพ่อสุดยังปรารภว่า “ถ้าไม่ได้หลวงปู่ดีไปด้วยกัน ก็คงมรณภาพเสียที่กลางทางเป็นแน่”
จากนั้น กลับมาอยู่กรุงเทพฯ ดังเดิม แต่ก็มีจดหมายไต่ถามทุกข์สุขกันเสมอมา บางครั้ง หลวงพ่อสุดลงมากรุงเทพฯ จะมาแวะพักพูดคุย จนช่วงหลังๆ อาพาธหนัก เดินทางไปไหนไม่ได้ จึงมีจดหมายถึง ขอให้ไปเยี่ยม
จึงหาโอกาสขึ้นไปเยี่ยมที่วัดเหนือ หลวงพ่อสุดให้ศิษย์นิมนต์หลวงปู่ดีอยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ แต่ก็ไม่ได้รับปาก แต่ช่วยดูแลกิจการต่างๆ เช่น สวดปาติโมกข์ หรือเทศน์แทน เป็นต้น
คราหนึ่งให้หลายคนมาขอร้องให้เป็นสมภาร แต่ก็ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด
จนเมื่อหลวงพ่อสุดมรณภาพลง กรรมการ ศิษย์วัดและชาวบ้านทั้งหลาย จึงนิมนต์ขอให้เป็นสมภารอีกครั้ง ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ จึงต้องรับเป็นเจ้าอาวาสวัดเหนืออย่างเต็มตัว
เป็นพระเถราจารย์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาจิต ปรับปรุงและพัฒนาทุกอย่างในวัด ทั้งขนบธรรมเนียม ระเบียบพิธีการ และถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด พระทุกรูปมีวัตรปฏิบัติเรียบร้อย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นับได้ว่า วัดเหนือได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ จนเจริญรุ่งเรือง เป็นที่ชื่นชมศรัทธาของเหล่าสาธุชน แม้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส ยังทรงยกย่องให้เป็นตัวอย่างของวัดทั้งหลาย
ในปี พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐินต้นที่วัดเหนือ
ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธย ภปร จารึกไว้เหนือผ้าทิพย์ของ “พระพุทธรูปปางประทานพร” ที่วัดจัดสร้างเพื่อนำปัจจัยมาบำรุงวัด ทั้งพระราชทานแผ่นทอง เงิน และนาก ลงในเบ้าหลอมพระพุทธรูปทุกเบ้า อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง
ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมา สุดท้ายเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ พระเทพมงคลรังษี และเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี
มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2510 สิริอายุ 94 ปี พรรษา 73 •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022