ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การ์ตูนที่รัก |
ผู้เขียน | นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ |
เผยแพร่ |
ในสเปเชียลฟีเจอร์ที่มากับแผ่นบลูเรย์ The Boy and The Heron เด็กชายกับนกกระสา มีบทสัมภาษณ์โปรดิวเซอร์ โตชิโอะ ซูซูกิ ความยาวสี่นาที ซูซูกิเล่าว่า “ฮายาโอะชวนผมสร้างการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องใหม่ ครั้งนี้จะเป็นกึ่งอัตชีวประวัติของเขา เขาจะเป็นตัวเอกของเรื่องเอง” และ “คุณเล่นกับฉันด้วย”
ซูซูกิเล่าว่าเขาแค่เล่นเป็นตัวเอง คือเป็นคนที่คอยคุยกับฮายาโอะ มิยาซากิ เห็นแย้ง ขัดกัน โต้เถียง และช่วยกัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่สองคนทำกันมาตลอดชีวิต “ผมจึงเป็นนกกระสาตัวนั้น” นกกระสาที่เห็นอาจจะดูน่ารำคาญแต่คืองานของเขา
ฮายาโอะ มิยาซากิ มีปัญหาเรื่องแม่ตายเหมือนเด็กชายมาฮิโตะ มากิ ในหนัง หนังขึ้นต้นด้วยแม่ของมาฮิโตะตายในเหตุเพลิงไหม้จากการทิ้งระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พ่อแต่งงานใหม่ มิหนำซ้ำแต่งกับน้องสาวของแม่ “หน้าตาเหมือนกันมาก” ยิ่งไปกว่านั้นพ่อเป็นถึงเจ้าของโรงงานผลิตอาวุธของญี่ปุ่น พวกเขาต้องย้ายบ้านไปอยู่ชนบทอันเป็นบ้านเก่าของภรรยา ภรรยาใหม่กำลังตั้งครรภ์อีกต่างหาก
จะเห็นว่ามาฮิโตะมิได้เผชิญความเศร้า (grief) จากการสูญเสียแม่ธรรมดาๆ กระบวนการโศกเศร้า (mourning process) ของเขามิใช่ดำเนินไปง่ายดายนักอย่างที่อลิซาเบ็ธ คลูเบอร์ รอสส์ เขียน ประกอบด้วย ช็อก ไม่เชื่อ โกรธ เศร้า แล้วยอมรับ เขาต้องพบกับโรคเครียดหลังภยันตราย (Post-Traumatic Stress Disorder, PTSD) เขามีอาการแฟลชแบ๊กเห็นแม่ในกองเพลิงอีกหลายครั้ง
มากไปกว่านี้เขายังเผชิญปมอิดิปัสเชิงซ้อน คือปมอิดิปัสที่เขาต้องแก้ไขเอากับพ่อซึ่งภายนอกเป็นสุภาพบุรุษนักธุรกิจมีฐานะและสถานะ แต่เขาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอาวุธและเอาน้องเมียมาเป็นเมีย ทำให้ความรักของมาฮิโตะที่มีต่อนัตสึกิ น้องของแม่ เมียใหม่ของพ่อ รวมทั้งเด็กในครรภ์ กลายเป็นข้อต้องห้ามของฟรอยด์ (Freudian taboo) ไปเลย
จะเห็นว่าพัฒนาการของมาฮิโตะจะยากมากเพราะข้อขัดแย้ง (conflicts) เต็มไปหมดไม่นับ PTSD ที่คอยแต่จะลาก (drag) เขากลับมาอยู่ที่เดิมอีกต่างหาก
จึงไม่แปลกที่หนังจะยาว ดูยาก และเล่นเอาเหนื่อยกว่าจะดูจบ
โปรดิวเซอร์ โตชิโอะ ซูซูกิ ให้สัมภาษณ์ต่อไปว่าเสียงจากคนดูเป็นไปในทางที่ดีมาก นี่เป็นหนังของฮายาโอะ มิยาซากิ แท้ๆ ซึ่งไม่มีทางที่จะดูเข้าใจได้ในครั้งเดียว “พวกเขาพากันเขียนในโลกออนไลน์ว่าจะต้องกลับมาดูอีกอย่างแน่นอน”
ความยากในชีวิตของมาฮิโตะนั้นเองจึงทำให้นกกระสาหน้าคนที่แสนอัปลักษณ์อย่างซูซูกิต้องทำงานหนักจนหมดแรงกลางเรื่องหลายต่อหลายครั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้หนังยากแต่ก็ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ทั่วโลกและกวาดรางวัลแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมทั้งสามเวทีสำคัญคือ บ๊าฟตา ออสการ์ และลูกโลกทองคำ นับเป็นการผลงานการกลับมาในระยะสิบปีหลัง The Wind Rises ปี 2013 ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
บทสัมภาษณ์ที่สองในสเปเชียลฟีเจอร์ที่มากับแผ่นบลูเรย์เป็นการให้สัมภาษณ์ของซูเปอร์ไวซิ่งอะนิเมเตอร์ ทาเคชิ ฮอนดะ ซึ่งทำงานร่วมกันกับมิยาซากิหลายเรื่อง
เขาเล่าว่า “ตอนที่ฮายาโอะมาชวนทำงาน ผมรับปากจะทำแอนิเมชั่นให้อีกงานหนึ่งไปแล้ว แต่ฮายาโอะบอกว่าคนในตระกูลของเขาไม่มีใครเลยที่อายุเกิน 80 ปี เขามีเวลาเพียง 2-3 ปีที่จะทำเช่นนั้น ได้ยินเช่นนั้นผมก็ไปอธิบายกับทางนั้นแล้วก็มานั่งวาดรูปกับเขา” แล้วสองคนก็นั่งวาดรูปด้วยกันจริงๆ มิยาซากิวาดสตอรี่บอร์ด ฮอนดะแปลงสตอรี่บอร์ดนั้นเป็นภาพที่เราเห็นในหนัง
ฮอนดะเล่าต่อไปว่ามิยาซากิยืนยันเรื่องการวาดการ์ตูนด้วยมืออย่างเดิมแม้จะทำได้ยาก ใช้เวลานานและสิ้นเปลืองมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน งานวาดด้วยมือในกระดาษทำบางสิ่งที่ซีจีหรือดิจิทัลทำไม่ได้ จริงที่ว่าเราก็ไม่สามารถสร้างภาพบางภาพที่ซีจีหรือดิจิทัลทำได้เหมือนกัน
หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าฉากฝูงเพลิแกนตอนกลางเรื่องหรือฝูงกองทัพนกแก้วเต็มจอนั้นวาดด้วยมือของทีมงาน
“ฉากหัวของชายแก่อัปลักษณ์ที่ยื่นออกมาจากปากนกกระสาเราทำได้ดีกว่าซีจีหรือดิจิทัลแน่นอน” ฮอนดะว่า ฉากนี้คนดูรู้สึกได้ถึงความลำบากลำบนพิพักพิพ่วน โดยเฉพาะเมื่อคิดว่านี่เป็นฉากสัญลักษณ์การทำงานร่วมกันของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง
ลุงทวดของนัตสึกิซึ่งก็คือลุงทวดของแม่มีอายุเหลือไม่นานเหมือนมิยาซากิ เขาต้องการหาผู้สืบทอดคือมาฮิโตะ
นี่คือฉากไคลแมกซ์ของทั้งในหนังและชีวิตจริง
อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญยังอยู่ที่การดิ้นรนของเด็กชายเพื่อเอาชนะความโกรธต่อแม่ที่จากไป ความโกรธต่อพ่อที่ดูเหมือนจะไม่อินังขังขอบ แต่ที่แท้เพราะพ่ออาจจะมีความสามารถปรับตัวได้เร็ว ซึ่งนั่นก็มิใช่ข้อแก้ตัวเพราะเด็กหนุ่มยังโกรธอยู่ดี
ถามว่าโกรธมากแค่ไหนคำตอบอยู่ที่เมื่อเขาถูกเพื่อนรุมสิ่งที่เขาทำคือเอาก้อนหินขนาดเท่าฝ่ามือฟาดขมับตัวเองอย่างแรงจนเลือดไหลไม่หยุดต้องเรียกหมอมาเย็บ พวกเพื่อนเป็นเรื่องเล็กต่อยพวกมันให้หมดก็เสร็จ
แต่นี่เขาต่อยแม่ไม่ได้ ต่อยน้องแม่ไม่ได้ ต่อยพ่อไม่ได้ จะให้ทำอย่างไร นกกระสาช่วยได้
เขียนกันว่านกกระสาในวัฒนธรรมญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับความตาย มีเสียงวิจารณ์หนึ่งว่านกกระสาในเรื่องมิใช่แค่เป็นที่ปรึกษาอย่างซูซูกิ
เป็นไปได้ว่าเขาคือคนที่ตายไปแล้วอย่างอิซาโอะ ทาคาฮาตะ ที่เคยทำงานร่วมกับมิยาซากิไว้หลายชิ้น เขาก็กลับมาช่วยให้มาฮิโตะเปลี่ยนผ่านด้วย
หนังดูยากก็จริง แต่งานด้านภาพและสีแบบดั้งเดิมสวยงามมากมายสะกดให้นั่งชื่นชมได้นานสองชั่วโมง ในแผ่นสเปเชียลฟีเจอร์ยังมีหนังที่ฉายในรูปแบบสตอรี่บอร์ดความยาวเท่าหนังที่ออกฉายจริง
การนั่งดูสตอรี่บอร์ดที่มีเสียงพูดและดนตรีประกอบตามจริงช่วยให้เข้าใจเนื้อเรื่องได้ง่ายขึ้นมาก
น่าจะเป็นเพราะสตอรี่บอร์ดจะมีเฉพาะส่วนสำคัญของภาพและเป็นเพียงลายเส้นขาวดำ จึงมีแต่ส่วนที่สำคัญจริงๆ
เป็นหนังแฟนตาซีที่คาบเกี่ยวระหว่างไซไฟและโลกวิญญาณ
เราจะได้เห็นผีญี่ปุ่นปรากฏตัวหลายชนิดแต่ก็เป็นที่เปิดเผยว่าที่อยู่ภายในปราสาทลึกลับหลังบ้านนั้นเป็นโครงสร้างที่มาจากอวกาศ
เป็นคำอธิบายว่าเพราะอะไรลุงทวดของแม่จึงยังมีชีวิตอยู่ และอาจจะอยู่ในอีกมิติหนึ่ง •
การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022