เล็บ (3)

ญาดา อารัมภีร

‘หยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ เป็นสำนวนไทยที่มีใช้ในวรรณคดีและชีวิตจริง น่าสังเกตว่ากวีนิยมอ้างถึงสำนวนดังกล่าวไว้ในวรรณคดีหลายเรื่อง อาทิ บทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง”

” จะมาขืนฟื้นฝอยหาตะเข็บ หยิกเล็บจะเจ็บเนื้อฤๅหาไม่”

หรือนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี”

“แม่ก็รู้อยู่ว่ากรุงการะเวก ร่วมภิเษกสืบเนื้อเป็นเชื้อไข

ขืนคิดทำย่ำยีดังนี้ไซร้ เขาว่าไว้หยิกเล็บแล้วเจ็บเนื้อ”

บทละครนอกเรื่อง “มณีพิชัย” เป็นเรื่องรักระคนแค้นที่นางยอพระกลิ่นมีต่อพระสวามี อันที่จริงพราหมณ์ยอพระกลิ่น กับนางยอพระกลิ่นคือคนเดียวกัน เป็นชายาของพระมณีพิชัย แต่ต้องพลัดพรากกันไปเพราะอุบายแม่ผัว

พระอินทร์รู้ว่าพระธิดายอพระกลิ่นตกระกำลำบากเพราะพระสวามีเชื่อคำแม่ไม่ช่วยแก้ไข จึงแปลงนางยอพระกลิ่นให้เป็นพราหมณ์ สอนเวทมนตร์และให้พระขรรค์เป็นอาวุธ

เมื่อพราหมณ์ยอพระกลิ่นช่วยรักษาแม่ผัวที่ถูกงูกัดจนฟื้น คิดแก้แค้นพระสวามี จึงขอพระมณีพิชัยไปเป็นทาส

พราหมณ์แกล้งลองใจพระมณีพิชัยว่าจะหวั่นไหวกับสาวอื่นหรือไม่ จึงร่ายมนต์ของพระอินทร์แปลงกายเป็นสตรีที่มีรูปร่างหน้าตาพิมพ์เดียวกับนางยอพระกลิ่น

แม้ใจของพระมณีพิชัยจะหวั่นไหว แต่ความสงสัยมีมากกว่า คิดว่านางคงเป็นน้องสาวพราหมณ์ที่บอกว่าจะให้มาอยู่เป็นเพื่อน ก็เลย ‘แกล้งทำสำรวมหลับตา ก้มหน้านิ่งอยู่ไม่ดูไป’

นางยอพระกลิ่นพยายามใช้มารยาสตรียั่วเย้าเท่าไรก็ไม่เป็นผล พระมณีพิชัยควบคุมตัวเองอย่างเต็มที่ ‘เห็นนางเข้าใกล้ไม่เจรจา ลุกมานั่งใหม่ให้ไกลกัน’ นางแสร้งพูดว่า ‘เย็นแล้วน้องจะลาคลาไคล นี่แน่ะคะข้าไหว้อยู่จงดี’

ต่อจากนั้นนางก็เลี้ยวหลบหลังพุ่มไม้ ร่ายเวทแปลงกาย ‘กลับเป็นเจ้าพราหมณ์ตามเดิม’

“ครั้นถึงจึงทำท่วงที เคืองค้อนพระมณีแล้วเมินหน้า

มึนตึงขึ้งโกรธไม่พูดจา จะดูทีกิริยาภูวไนย”

พระมณีพิชัยเห็นท่าทีพราหมณ์เช่นนั้นจึงเอ่ยถามว่า ‘เป็นไรจึงไม่พูดจา โกรธาข้าฤๅจงบอกความ’ พราหมณ์ยอพระกลิ่นสวนกลับทันทีว่า

“เมื่อนั้น เจ้าพราหมณ์แกล้งว่าอย่ามาถาม

ไว้ใจคิดว่าไม่ลวนลาม ทำความงามหน้าข้าขอบใจ

ถึงเจ้าหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ เสียแรงเชื่อว่าตรงไม่สงสัย

ว่าพลางเฉยเชือนเบือนไป พระมณีพิชัยก็ตามวอน”

พราหมณ์ทำเป็นโกรธจัด กล่าวหาว่าเสียแรงที่เชื่อใจ พระมณีพิชัยกลับถือโอกาสลวนลามน้องสาวของตน ทำเช่นนี้คือ ‘หยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ’ ลวนลามน้องสาว พี่ชายก็เจ็บใจแค้นใจที่หลงไว้ใจผิดคน

 

อย่างไรก็ดี ‘หยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ กับ ‘หยิกเล็บ’ นั้นต่างกัน ‘หยิกเล็บ’ ไม่ได้ย่อมาจากสำนวน ‘หยิกเล็บเจ็บเนื้อ’ หากแต่มีความหมายเฉพาะใช้กันในสมัยโบราณ เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่ 21 ขุนแผนลุแก่โทษ กวีใช้คำว่า ‘หยิกเล็บ’ ตอนพระพิจิตรเรียกขุนนางกรมการมาพร้อมหน้าที่ศาลากลาง แจ้งเรื่องขุนแผนนางวันทองเข้ามาลุแก่โทษขอมอบตัวให้รู้ทั่วกัน แล้วแต่งใบบอกคำให้การของขุนแผนกับนางวันทองต่อหน้าคนทั้งหลาย จากนั้นผูกให้แน่น ‘หยิกเล็บ’ ไว้เป็นเครื่องหมาย ใส่กระบอกมอบให้ผู้คุม

“คำให้การวันทองกับขุนแผน เอาผูกแน่นหยิกเล็บหาช้าไม่

เขียนบอกเสร็จพลันในทันใด ใส่กระบอกส่งให้ผู้คุมรับ”

เช่นเดียวกับตอนที่ 22 ขุนแผนชนะความขุนช้าง หลังจากสิ้นคำฟ้องของขุนช้าง ลูกขุนก็ให้คัดคำให้การไว้

“คัดเอาสำนวนทวนต่อไป ชี้สองสถานไว้ตามอัยการ

รับในสำนวนควรฟังได้ ที่ข้อต่องดไว้ไม่ว่าขาน

ขออ้างให้ดำเนินเชิญพยาน เทียบผูกมินานหยิกเล็บไว้”

มีการสืบพยานอื่นๆ จนหมดทั้งพยานโจทก์พยานจำเลย ต่อจากนั้นพิจารณาคำพยาน ตัดทอนถ้อยคำแล้วปรึกษาหารือกัน

“สิ้นคำแล้วสืบคนอื่นไป หมดพยานที่ได้เผชิญมา

สืบสมไปข้างขุนแผนอ้าง พยานโจทก์ต้องบ้างไม่แน่นหนา

ผูกหยิกเล็บพลันพากันมา จึงชำระเข้าหาคำพยาน

ตัดรอนทอนลงกระทงแถลง ปรึกษาชี้แจงออกไปศาล”

คำถามคือ ‘ผูกแน่น’ ‘ผูก’ ‘ผูกมินาน’ คือ ผูกอะไร? และ ‘หยิกเล็บ’ ทำอย่างไร?

 

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ให้ความกระจ่างไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่า

“คำให้การของโจทก์ก็ดี จำเลยก็ดี และตลอดจนคำให้การของพยานในคดีความก็ดี เมื่อให้การแล้วทางศาลจะต้องจดไว้ และเมื่ออ่านให้ผู้ให้การฟังว่าถูกต้องแล้ว ก็จะเจาะรูกระดาษที่จดคำให้การนั้น แล้วเอาเชือกร้อยสองเส้น ผูกเป็นเงื่อนเอาดินเหนียวมาปั้น กดเข้าไปที่เงื่อน กดให้เป็นแผ่นแบนๆ แล้วให้ผู้ให้การเอาเล็บของตนหยิกไว้บนดินเหนียวนั้นให้เป็นรอย เมื่อดินเหนียวแห้งแข็งแล้ว รอยเล็บก็จะปรากฏอยู่ พิสูจน์ได้ทันทีว่า คำให้การเป็นของใคร โดยเอาเล็บมาเทียบ”

คำอธิบายข้างต้นสอดคล้องกับ ‘พระราชกำหนดเก่า’ ใน “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 2 บันทึกข้อความไว้ว่า

“แต่นี้สืบไปเมื่อหน้าถ้าแลผู้มีอัถคดีจะร้องฟ้องว่ากล่าวโทษแก่กันณะโรงสารกรมใดๆ ก็ดี แลกระลาการถามโจทจำเลยเปนสำนวรต่อกัน แล้วคัดเทียบออกจะเอาสำนวรนั้น ผูกให้โจทจำเลยหยิกเลบไว้ ให้กระลาการปิดตราประจำเลบไว้ด้วย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยังให้รายละเอียดเพิ่มเติมไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า

“เมื่อมีการขุดค้นพระราชวังโบราณที่กรุงศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อหาความรู้ทางโบราณคดีนั้น ปรากฏว่า ตรงที่ศาลาลูกขุนใน ที่อยู่ในพระราชวังนั้นได้ขุดพบแผ่นดินเผาขนาดประมาณเท่าหัวแม่มือสุมกันอยู่เป็นกองพะเนิน มีจำนวนมากมายสุดที่จะประมาณ แผ่นดินเผาเหล่านี้ ก็คือแผ่นดินเหนียวที่หยิกเล็บกันไว้ แล้วติดไว้ที่คำให้การในสมัยก่อนๆ”

‘เล็บ’ อย่าคิดว่าไม่สำคัญ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร