ปริศนาโบราณคดี : เงื่อนงำแห่งอมตะวาจาครูบาเจ้าศรีวิชัย “หากน้ำปิงไม่ไหลย้อน จักไม่ขอเหยียบนครเชียงใหม่” (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตอน 1 ตอน 2 ตอนจบ

“ถ้าน้ำแม่ปิงไม่ไหลย้อนขึ้นเหนือ
ครูบาเจ้าศรีวิชัยจักไม่ขอมาเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีก”

คำกล่าวนี้ครูบาท่านพูดจริงหรือ มีประจักษ์พยานฤๅไม่ มีที่มาที่ไปอย่างไร ครูบาพูดกับใคร เมื่อไหร่ และด้วยเหตุผลใด

มาช่วยกันร่วมวินิจฉัย

อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นปริศนาคาใจชาวเชียงใหม่กันอีกเลย

 

ปริศนาแห่งวาจาสิทธิ์

อมตะวาจาดังกล่าว ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กล่าวจริงกับ “หลวงศรีประกาศ” ผู้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยสร้างทางขึ้นดอยสุเทพเสร็จ ก็ถูกกลั่นแกล้งโดยความร่วมมือระหว่างฝ่ายคณะสงฆ์เชียงใหม่กับฝ่ายปกครองนครเชียงใหม่ โดยถูกสอบสวนในข้อหาดังต่อไปนี้

ข้อแรก ตัดไม้ทำลายป่าขณะทำถนนขึ้นดอยสุเทพ

ข้อสอง บวชพระเณรโดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อสาม ชักชวนวัด 62 แห่งลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ไปขึ้นตรงกับครูบา

ครั้งแรกมีการสอบสวนที่วัดทุงยู (อยู่กลางเวียงเชียงใหม่ ใกล้วัดพระสิงห์) อันเป็นที่ตั้งของเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ครูบาได้แก้ข้อกล่าวหาในทุกกรณี

ข้อแรก เป็นคำตอบที่คมคายมาก …ถ้าไม่ให้ตัดต้นไม้ ทำไมก่อนนั้นจึงไม่ห้ามตั้งแต่ดำริจะทำถนน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะให้สร้างถนนโดยไม่ตัดต้นไม้

ข้อสอง บวชให้เพราะสงสารลูกหลานชาวบ้านที่ปรารถนาอยากบวช เหตุเพราะคณะสงฆ์ตั้งเงื่อนไขข้อยุ่งยากไว้มากเกินไป กว่าจะรอขออนุญาตเป็นขั้นๆ จากผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ เจ้าคณะแขวง เจ้าคณะจังหวัด พระหนุ่มเณรน้อยเหล่านั้นก็คงไม่ต้องบวชกันพอดี

ข้อสาม ท่านมิได้มีเจตนาตั้งตัวเป็นหัวหน้าคณะ อีกทั้งไม่ได้รับถวายวัดที่ทางการกล่าวหาว่าเจ้าอาวาสวัดต่างๆ นำมาขึ้นกับท่านแต่อย่างใดเลย

เมื่อเอาผิดครูบาเจ้าศรีวิชัยทั้งสามข้อหานี้ไม่ได้ ฝ่ายคณะสงฆ์เชียงใหม่และฝ่ายปกครองเมืองเชียงใหม่จึงจับกุมตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยลงไปสอบสวนคดีความที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ อีกครั้ง ถือเป็นการถูกส่งตัวไปสยามที่ส่วนกลางเป็นครั้งที่สอง ในบรรดาการถูกต้องอธิกรณ์ทั้งหมด 6 ครั้ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นปลายปี พ.ศ.2478

ช่วงนั้นเองหลวงศรีประกาศได้เดินทางไปส่งครูบาเจ้าศรีวิชัยขึ้นรถไฟที่สถานีเชียงใหม่ และได้กล่าวแก่ครูบาเจ้าศรีวิชัยว่า เมื่อเสร็จสิ้นจากการต้องอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ แล้ว เขาจะมารอรับวันเดินทางกลับคืนสู่เชียงใหม่

แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับสวนหลวงศรีประกาศว่า จะไม่มีการกลับมาเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีกแล้ว เว้นเสียแต่ว่าน้ำแม่ปิงจะไหลย้อนคืนกลับมาเท่านั้น

เหตุการณ์นี้ปรากฏอยู่ในบันทึกความทรงจำของหลวงศรีประกาศเองในปี พ.ศ.2507

เหตุไฉนครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงลั่นวาจาสิทธิ์เช่นนั้น? เมือง (หรือคน) เชียงใหม่ทำอะไรให้ท่านเจ็บช้ำน้ำใจมากมายขนาดไหนหรือ?

 

ปมขัดแย้งเรื่องการบรรพชาครูบาขาวปี๋

เมื่อพิจารณาข้อกล่าวหาที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกทางการและคณะสงฆ์ยัดเยียดให้ทั้งสามข้อนั้น ท่านได้พยายามต่อสู้อย่างสุขุมและเยือกเย็น

ข้อที่หนึ่งและข้อที่สาม ดูเหมือนจะไม่มีอะไรหนักหนาสาหัสมากนัก

ปัญหาอยู่ที่ข้อกล่าวหาข้อที่สองนั่นเอง ในห้วงเวลา 6 เดือนระหว่างการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ชื่อเสียงของครูบาเจ้าศรีวิชัยระบือไปไกลและหอมฟุ้งด้วยศีลธรรม บุญบารมี จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะมีผู้คนชักชวนกันมาขอให้ท่านอุปสมบทบรรพชาเป็นจํานวนมาก รวมถึงกรณีที่หลายวัดปฏิเสธคณะสงฆ์ กรุงเทพฯ แล้วย้ายมาสังกัดกับครูบาเจ้าศรีวิชัย

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ระหว่างงานทําบุญฉลองทางขึ้นดอยสุเทพในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2478 นั้น อยู่ๆ หลวงศรีประกาศและเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงผู้ครองนครเชียงใหม่ นึกอย่างไรก็ไม่ทราบ ได้เข้ากราบครูบาเจ้าศรีวิชัยที่วัดพระสิงห์ ขอให้ท่านช่วยจัดการบวชให้หนานปี หรือ “ผ้าขาวปี” (คนเหนืออ่านเสียงเป็น “ผ้าขาวปี๋” หรือ “ครูบาอภิชัยขาวปี๋”) ศิษย์เอกมือขวาของครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ถูกทางการกลั่นแกล้งมาตลอดเช่นกัน และคาดโทษไว้สั่งห้ามไม่ให้บวชอีกโดยเด็ดขาด อีกครั้ง

ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้กล่าวแก่คนทั้งสองว่าอย่าเลย เกรงจะเกิดความขัดแย้งกับส่วนกลาง

แต่หลวงศรีประกาศและเจ้าแก้วนวรัฐรับรองอย่างแน่นหนักว่าหากเกิดเรื่องใดๆ ขึ้นก็ตามจะช่วยเหลืออย่างไม่มีข้อแม้

ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงไว้ใจและจัดการบวชให้ครูบาอภิชัยขาวปีใหม่อีกเป็นครั้งที่ 3 ณ วัดศรีโสดา

แต่แล้วเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกต้องอธิกรณ์ด้วยข้อหา “บวชพระเณรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งอันที่จริงทางการใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อจงใจเพ่งเล็งไปที่ครูบาอภิชัยขาวปี๋เนื่องจากเป็นศิษย์เอกมือขวารูปสำคัญ

ในขณะที่กําลังดําเนินคดีกันอยู่ ครูบาเจ้าศรีวิชัยได้เชิญเจ้าแก้วนวรัฐและหลวงศรีประกาศมารับรองและชี้แจงเรื่องการบวชของครูบาอภิชัยขาวปี๋

ทว่า ท่านทั้งสองกลับไม่ยอมมาพบครูบาเจ้าศรีวิชัย ไม่มาช่วยเป็นพยานฝ่ายจำเลย เป็นเหตุให้ครูบาอภิชัยขาวปี๋ต้องถูกจับสึกไปนุ่งผ้าขาวอีกเป็นครั้งที่สาม

หนังสือหลายเล่มจึงอ้างเหตุการณ์นี้ว่า เป็นต้นเหตุที่ทําให้ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องลั่นวาจาว่า “ตราบที่น้ำปิงไม่ไหลย้อนกลับ จะไม่ขอไปเหยียบเชียงใหม่อีก”

เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากผู้นําในเชียงใหม่ยามที่เดือดร้อนนั่นเอง

แม้การก่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพจะเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่ แต่ถนนยังต้องเก็บรายละเอียด เช่นการลงหินและการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำลําห้วยก็ยังค้างคาอยู่ เมื่อฝนตกหนักในฤดูฝน น้ำอาจไหลบ่าจากยอดเขาลงล้นห้วย รถยนต์ก็ไม่สามารถจะวิ่งได้

หลวงศรีประกาศเคยปรารภเรื่องนี้กับครูบาเจ้าศรีวิชัย ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

แต่ครูบาเจ้าศรีวิชัยปฏิเสธ และกล่าวว่าจะมอบให้รัฐบาลเป็นผู้ดําเนินการต่อไป

เรื่องดังกล่าวปรากฏรายละเอียดตามหนังสือที่ท่านชี้แจงเรื่องการขอยุติการก่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ลงวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2478 ที่สํานักวัดพระสิงห์เชียงใหม่ เป็นระยะเวลาก่อนที่ท่านจะเดินทางไปกรุงเทพฯ ตามที่คณะสงฆ์จะมีมติให้ท่านไปพักอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2478 ดังมีรายละเอียดว่า

“…ด้วยเวลานี้ถนนที่ขึ้นไปนมัสการพระเจดีย์สุเทพ อาตมาก็ได้ช่วยเหลือมามากแล้ว จนเป็นหนทางขึ้นไปนมัสการได้ แลเคยทําบุญมาแล้วครั้งหนึ่ง ฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้ไป อาตมาขอมอบไว้กับท่านพร้อมด้วยราชการบ้านเมือง เพื่อจะได้ดําริสร้างต่อไป ส่วนอาตมาเวลานี้ก็ได้ลงบันทึกต่อคณะสงฆ์ไว้แล้วว่าจะไม่ปฏิสังขรณ์ก่อสร้างไม่ว่าวัตถุใดๆ ในจังหวัดเชียงใหม่อีกแล้ว อาตมาขอยุติไม่ทํา…”

ในการขอยุติการก่อสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพนั้น ท่านชี้แจงไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ทายกทายิกาทั้งหลายที่ศรัทธามารับจะซ่อมแซมหนทางตามที่ตกลงกันไว้ หรือมารับทําท่อท่อหนึ่งสําหรับห้วยหนึ่งๆ นั้นก็มีหลายๆ หมู่บ้านแลหลายๆ คนด้วยกัน เขาต่างก็ท้อถอยไปหมด พร้อมกับคืนคําไม่รับทําเสียเลย เนื่องมาจากการเดือดร้อนคราวนี้ ครั้นอาตมาจะทําต่อไป ก็กลัวว่าจะได้รับความเดือดร้อนกับฝ่ายคณะสงฆ์ ดุจดั่งที่เป็นมา แล้วนี้อีก…”

เห็นได้ว่า การไม่ปรารถนาจะกลับมาเหยียบแผ่นดินเชียงใหม่อีกแล้วของครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น มีมูลเหตุมาจากสองกรณี

กรณีแรก คณะสงฆ์เชียงใหม่และทางการเชียงใหม่ (อันที่จริงไม่ได้แตกต่างไปจากสถานการณ์สมัยที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยเคยโดนมาแล้วที่ลำพูนแต่อย่างใดเลย) คอยจ้องจะเล่นงานครูบาเจ้าศรีวิชัยทุกวิถีทาง ขืนยังเดินหน้าพุ่งชนกับอำนาจที่มองเห็นอยู่ทนโท่เยี่ยงคนหัวแข็งนั้น รังแต่จะทำให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะเหล่าศิษยานุศิษย์และคณะศรัทธาที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่

ดังนั้น การปลีกตัวเองออกไปจากปริมณฑลที่เป็นเป้ากระสุนของเมืองเชียงใหม่เป็นการถาวรนั้น น่าจะช่วยลดกระแสหรือแรงปะทะระหว่างมวลชนกับฝ่ายบ้านเมืองได้ดีระดับหนึ่ง

กรณีที่สอง เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน ยามต้องการประจักษ์พยาน ผู้นําของเชียงใหม่ก็ไม่สามารถให้การช่วยเหลือครูบาเจ้าศรีวิชัยตามคำมั่นสัญญาได้เลย เชื่อว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยเองก็คงเข้าใจดีว่า อาจเป็นเพราะผู้นำเหล่านั้นได้รับคําสั่งจากส่วนกลางไม่ให้มีบทบาทเข้ามาช่วยปกป้องครูบาในทุกกรณี คือแม้นหากกระโจนเข้ามาก็ย่อมเจ็บตัวโชกเลือดด้วยไม่แพ้กัน

เป็นดั่งนี้แล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงมองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่จักต้องกลับมาเชียงใหม่อีก กลับมาทำไม ในฐานะอะไร ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าสู้กับใคร ในเมื่อฝ่ายหนึ่งคอยจ้องจับผิดทุกฝีก้าว ส่วนอีกฝ่ายซึ่งเคยให้สัญญาว่าจะเป็นปราการให้ ก็ไม่สามารถปกป้องได้เต็มแรง

หาใช่ความรังเกียจเดียดฉันท์หรือชิงชังใครในเมืองเชียงใหม่เป็นการเฉพาะไม่ ไม่ได้เกลียดแม้แต่หลวงศรีประกาศ

เพราะหากไปตีความเช่นนั้น ก็ดูเหมือนจะขัดแย้งกับแรงปรารถนาพุทธภูมิของครูบาเจ้าศรีวิชัย ประหนึ่งว่าท่านยังเต็มไปด้วยแรงอาฆาตพยาบาท

นี่แหละคือประเด็นที่อยากจะเคลียร์ให้หายคาใจ ทั้งปมเขื่องของชาวเชียงใหม่เอง และมุมมองอันล่อแหลมของคนทั่วไปที่มีต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย

ฉบับหน้าจะมาเฉลยให้ทราบว่า ทำไมดิฉันจึงเชื่อว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยยังคงรักและเมตตาชาวเชียงใหม่

ตอน 2