ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
‘เรียนปรัชญา/การเมืองกับชัยวัฒน์’ (จบ)
(เรียบเรียงจากร่างคำอภิปรายหัวข้อ “ปรัชญา/การเมือง” ของผู้เขียนในงานสัมมนาวิชาการ “ความรัก ความรู้ โลกปฏิบัติ: ชัยวัฒน์ สถาอานันท์” ที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ 8 สิงหาคม ศกนี้)
ชัยวัฒน์ชวนเล่นปรัชญาอย่างไร? (ต่อ)
การชวนเราท่านเพื่อนมิตรลูกศิษย์ลูกหาไปเล่นปรัชญา คิด-ถาม-คุยในพื้นที่ระหว่างกลางนอกขนบสถาบัน และวัฒนธรรมสังคมการเมืองโดยอาจารย์ชัยวัฒน์นั้น
ณ จังหวะที่สนุกดีงามและประเทืองปัญญาที่สุดของมัน ได้ช่วยสร้างความหมายใหม่ขึ้นมา ให้ผู้ร่วมเล่นได้ ประสบและสำรวจสัจธรรมบางอย่าง เหมือนเชื่อมต่อกับโลกุตรภาวะชั่วคราว (ประมาณว่าเหลือบเห็นพระผู้เป็นเจ้า วับไหวรำไร)
เสน่ห์ของมันเกิดจากทั้งการตื่นรู้ที่มีมนต์สะกดสะเทือนความคิดจิตใจ (enchanting enlightenment) และ มนต์สะกดที่ส่องแสงให้ตาสว่าง (enlightening enchantment) พร้อมเพรียงไปในคราวเดียว ทำให้ผู้เล่นทั้งสามารถ อิ่มเอมสมองและน้ำตาซึม
มันเป็นการเริ่มสร้างชุมชนใหม่ระดับย่อยของการเล่นปรัชญาภายใต้ระเบียบอำนาจสถาบันและวัฒนธรรมเดิม บนพื้นที่ซึ่งการถาม-การมอง-การคิดเชิงวิพากษ์พอเป็นไปได้นั่นเอง
การเมือง
: ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้, กระนั้นหรือ?
เหมือนจงใจ คล้ายไร้เจตนา ท่านผู้จัดงานอาจไม่ทราบว่าวันนี้ที่ 8 สิงหาคม ถือเป็นวันครบรอบเสียงปืนแตก ของสงครามประชาชนยาวนานสองทศวรรษ (8-8-08: จากปี พ.ศ. 2508-2528) ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทยกับรัฐบาลไทย (ตามการค้นพบใหม่ของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ดู https://prachatai.com/journal/2009/08/25380 & https://prachatai.com/journal/2009/08/25401)
อันเป็นสงครามที่มีคนไทยเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย 10,504 คน บาดเจ็บ 17,771 คน หรือเฉลี่ยตายวันละ 1.5 คน บาดเจ็บวันละ 2.5 คนทุกวันตลอดยี่สิบปี (ประมวลข้อมูลจาก General Saiyud Kerdphol, The Struggle for Thaialnd: Counter-insurgency 1965-1985, 1986, pp. 186-188)
ประเด็นนี้สำคัญยิ่งจนอาจเรียกได้ว่าเป็นข้อใหญ่ใจกลางแห่งแนวคิดรัฐศาสตร์ทวนกระแส/การเมืองแห่ง ความไม่รุนแรงของอาจารย์ชัยวัฒน์เลยทีเดียว
คนรุ่นผมและอาจารย์ชัยวัฒน์ (คนเดือนตุลาฯแห่งช่วงการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาฯ 2516 ถึงการฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาฯ 2519 ดังที่ท่านเล่าไว้ใน “Ahimsa Conversation #84 Chaiwat Satha-Anand, 2022, https://www.youtube.com/watch?v=IBcBwqB-Mlw) โตขึ้นมาทางการเมืองท่ามกลาง คติพจน์สงครามประชาชนของประธานเหมาเจ๋อตุงและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ว่า :
“สงครามคือการต่อเนื่องของการเมือง
การเมืองคือสงครามที่ไม่หลั่งเลือด
และสงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด”
“ว่าด้วยสงครามยืดเยื้อ” (พ.ค. 1938)
ขณะที่คติพจน์ของกัลยาณมิตรชัยวัฒน์ ซึ่งผมได้ยินได้ฟัง ประทับใจจดจำและขอเก็บความจากคำพูดคุยของ ท่านระหว่างนั่งเบาะหลังรถเก๋งที่ท่านขับวันหนึ่งกลับเป็นว่า :
– ความรุนแรงคือการแอนตี้การเมืองและแอนตี้อำนาจ
– อำนาจคือการให้คนอื่นทำอย่างที่คุณต้องการ เพราะฉะนั้นฐานคิดคือคนอื่นเป็นผู้กระทำการทางศีลธรรม (moral agent) ที่จะเลือกทำตามคุณหรือไม่ก็ได้ แล้วคุณสามารถทำให้เขาทำตามที่คุณต้องการได้ผ่าน การเมือง
– ขณะที่ความรุนแรงถูกใช้ออกมาเมื่อมองคนอื่นต่ำกว่ามนุษย์ เป็นแค่วัตถุ/เครื่องมือไปบรรลุสิ่งที่คุณ ประสงค์ คุณทำยังไงกับเขาก็ได้ คุณไม่แคร์เขาเลย ว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร เจ็บปวดไหม จะเป็นจะตาย ฯลฯ
– ความรุนแรงจึงเป็นเครื่องมือ ตั้งอยู่บนฐานตรรกะอุปกรณ์ (instrumental reason) ใช้ความรุนแรงกับ เหยื่อผู้เป็นเป้าหมาย เพื่อไปบรรลุวัตถุประสงค์อื่นบางอย่างต่างหากจากตัวเขาออกไป ไม่เห็นคนอื่นเป็น เป้าประสงค์โดยตัวเขาเอง
– รัฐคือสถาบันที่แสดงออกซึ่งความรุนแรงอย่างรวมศูนย์ เนื้อแท้มันเป็นเช่นนี้ ไม่อาจเป็นอื่นไปได้
– แนวโน้มโดยเนื้อในของรัฐจึงคือการจำกัด/กำจัดการเมืองอยู่ในตัวของมันเอง
– ถ้างั้นคุณทำการเมืองไม่รุนแรงอย่างไร?
– คุณต้องเปลี่ยนความคิดคนในการทำการเมืองไม่ว่าจะยึดถือเป้าหมาย/อุดมการณ์ใด ให้เขาหันไปใช้ วิธีไม่รุนแรงว่ามันมีประสิทธิภาพทางการเมืองเหนือกว่าความรุนแรง และยับยั้งรัฐ/ฝืนธรรมชาติของ รัฐไว้ไม่ให้ใช้ความรุนแรง
– ให้คนขัดแย้งทะเลาะกันต่อไปตามธรรมชาติปกติวิสัย แต่ทะเลาะกันอย่างสันติ มีการเมือง มีการแบ่งข้าง เขา/เรา มีความขัดแย้ง แต่ไม่มีการที่เราฆ่าเขา/เขาฆ่าเรา หากมีทั้งเรากับเขาอยู่ด้วยกันขัดแย้งทะเลาะ กันไปเรื่อย ๆ
– เป็นความสัมพันธ์แบบ agonistic relationship (คู่ขัดแย้งเป็นปรปักษ์ที่ต่างก็ชอบธรรมที่จะดำรงอยู่ ร่วมกัน) แทนที่จะเป็น antagonistic relationship (เป็นปฏิปักษ์/ศัตรูกัน สู้แบบ zero-sum conflict แพ้ชนะไปข้าง มุ่งกำจัดฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นไป)
– การเมืองแห่งความไม่รุนแรงพูดให้ถึงที่สุดจึงแทบเป็น mission impossible เหมือน The Nonviolent Prince ซึ่งเป็นชื่อดุษฎีนิพนธ์ของอาจารย์ชัยวัฒน์ (Chaiwat Satha-Anand. 1981. “The Nonviolent Prince.” PhD Thesis. Manoa : University of Hawaii)
การใหญ่ของชัยวัฒน์
ฟังดูก็รู้นะครับว่าเรื่องที่อาจารย์ชัยวัฒน์คิดและพยายามทำสวนทวนประธานเหมาและกระแสโลกนั้นเป็นการใหญ่และยากแค่ไหน แต่ทว่า…
– ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นคนที่เกิดมาทวนกระแสโลกโดยที่โลกไม่รู้ตัว
– ความคาดฝันของเขาคือชักชวนด้วยบทสนทนาและการตั้งคำถามอันแปลกพิศวงให้โลกทวนกระแสตน เองด้วยความกระตือรือร้น โดยที่กว่าโลกจะรู้ตัวว่ากำลังทำเช่นนั้นอยู่ก็สายเสียแล้ว
– นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายและก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ที่ชัยวัฒน์ดื้อทำก็เพราะความเชื่อที่เหลือเชื่อ ของเขา 3 ประการ กล่าวคือ
– 1) โดยพื้นฐานแล้ว ธรรมชาติของคนเรานั้นดี
– 2) แต่ที่คนเราทำไม่ดี ก็เพราะไม่รู้
– 3) ฉะนั้นปัญหาจริยธรรมพูดให้ถึงที่สุดจึงเป็นปัญหาญาณวิทยา
– นี่เป็นความเชื่อที่เชื่อได้ยากมาก แต่ถ้าเป็นความเชื่อที่ง่าย คนอย่างชัยวัฒน์คงไม่เชื่อ และโลกของเรา ก็คงไม่เป็นเช่นนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022