วงดนตรีกรมโฆษณาการ/สุนทราภรณ์ : ความบันเทิงของคนไทยในช่วงสงคราม

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

วงดนตรีกรมโฆษณาการ/สุนทราภรณ์

: ความบันเทิงของคนไทยในช่วงสงคราม

 

สร้างชาติขึ้นใหม่

นับแต่ช่วงก่อนสงครามไม่นาน รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม (2481-2487) มีนโยบายสร้างชาติไทยให้เจริญทัดเทียมอารยธรรมตะวันตก เกิดการปฏิรูปวัฒนธรรมไทยให้มีมาตรฐานตามอารยประเทศ ทั้งมารยาทการเข้าสังคม การแต่งกาย ศิลปวัฒนธรรม ดนตรีและความบันเทิง ด้วยการประกาศรัฐนิยมเพื่อปรับปรุงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตใหม่ให้คนไทย

นโยบายสร้างชาติให้เจริญทัดเทียมนานาอารยะนั้น รัฐบาลพยายามปลุกเร้าให้คนไทยรักชาติ พร้อมการปรับเปลี่ยนประเพณีและวัฒนธรรมให้ทันสมัย ผ่านประกาศรัฐนิยม 12 ฉบับเมื่อ 2482 ดังนี้ ประกาศว่าด้วยเรื่องการใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ การปกป้องประเทศ การเปลี่ยนชื่อประเทศสยามให้เป็นประเทศไทย (Thailand) การกำหนดสัญชาติไทย (Thai) การเรียกชื่อชาวไทย ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ หน้าที่พลเมือง การแบ่งเวลาการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้เครื่องอุปโภคและบริโภคที่กำเนิดในประเทศไทย การแต่งกายของประชาชนไทยตามแบบสากล

การเอื้อเฟื้อต่อเด็ก คนชราและคนทุพพลภาพ เป็นต้น (นิติพรรณ สุวาท, 2562, 179)

สุนทรพจน์นายกรัฐมนตรีและแบบเรียนเร็วใหม่สมัยสร้างชาติ

กำเนิดวงดนตรีกรมโฆษณาการ

รัฐบาลพยายามส่งเสริมดนตรีสากลขึ้น โดยการจัดตั้งวงดนตรีสากลขึ้น คือ “วงดนตรีกรมโฆษณาการ” นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2482 อยู่ภายใต้สังกัดกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) มีหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ของทางราชการสู่ประชาชนในช่วงสมัยแห่งการสร้างชาติของรัฐบาลจอมพล ป. ที่ขณะนั้นกำลังสนับสนุนเชิดชูความคิดชาตินิยม ตามแนวรัฐนิยมเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของประชาชนให้เป็นสากลมากขึ้น หรือต่อมาเรียกกันว่า วงดนตรี “สุนทราภรณ์”

สำหรับความแตกต่างของ “วงดนตรีกรมโฆษณาการ” กับวงดนตรี “สุนทราภรณ์” นั้นคือ วงดนตรีกรมโฆษณาการเป็นวงดนตรีของรัฐบาล สังกัดกรมโฆษณาการ หน้าที่หลักของวงคือ ให้ความบันเทิงด้วยการบรรเลงดนตรีตามนโยบายของรัฐบาลผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการและตามงานรื่นเริงสำคัญของรัฐ หรือตามคำขอของหน่วยราชการ ซึ่งขณะนั้นบทเพลงที่วงใช้บรรเลงจึงมีหลายหลากรูปแบบ มีทั้งเพลงปลุกใจ เพลงสถาบัน เพลงจากวรรณคดี เพลงเยาวชน เพลงเทศกาลและประเพณี เป็นต้น

ส่วนวงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นวงดนตรีที่มีสมาชิกทั้งนักร้องและนักดนตรีจากวงกรมโฆษณาการเช่นกัน แต่เป็นการรับจ้างแสดงดนตรีตามงานเอกชนนอกเวลาราชการ เพื่อสร้างความบันเทิงตามงานสังสรรค์ ด้วยเหตุนี้ บทเพลงที่ใช้แสดงจึงเน้นความสนุกสนานประกอบการลีลาศและสร้างความบันเทิงตามวัตถุประสงค์ของงาน (นิติพรรณ สุวาท, 2562, 181)

กรมโฆษณาการในช่วงน้ำท่วมใหญ่พระนคร ปลายปี 2485

สำหรับสมาชิกคนสำคัญในวงประกอบด้วย เอื้อ สุนทรสนาน มัณฑนา โมรากุล รุจี อุทัยกร สุปาณี พุกสมบุญ เลิศ ประสมทรัพย์ ชวลี ช่วงวิทย์ วินัย จุลละบุษปะ สุภาพ รัศมิทัต เพ็ญศรี พุ่มชูศรี จันทนา โอบายวาทย์ จุรี โอศิริ วรนุช อารีย์ ศรีสุดา รัชตะวรรณ รวงทอง ทองลั่นธม เป็นต้น

ในช่วงสมัยการสร้างชาติด้วยการทำให้สังคมเทียบทันสากลนั้น ไม่แต่เพียงรัฐบาลก่อตั้งวงดนตรีกรมโฆษณาการขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้หน่วยราชการตั้งวงดนตรีสากลขึ้นอีกด้วย เช่น วงกองทัพอากาศ วงดุริยโยธินของกองทัพบก วงกองทัพเรือ เอื้อ สุนทรสนาน เห็นว่า ในช่วงสงครามนี้ทำให้เพลงไทยสากลเจริญถึงขีดสุด (ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์, 2550, 58)

ความนิยมวงดนตรีแบบใหม่และเพลงไทยสากลอย่างแพร่หลายนั้นเกิดขึ้นจากสงครามด้วยเช่นกัน พลันที่ไทยประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่แต่เพียงทำให้เกิดการตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งเส้นทางการเดินเรือระหว่างกันถูกปิดล้อมไปด้วย ทำให้การนำเข้าภาพยนตร์ใหม่ๆ จากตะวันตกที่เคยหลั่งไหลเข้าในไทยถูกตัดขาดลง

แฟชั่นของสตรีและประกาศรัฐนิยมในสมัยสร้างชาติ

วงสุนทราภรณ์กับการเผยแพร่วัฒนธรรมใหม่

ด้วยเหตุนี้ ความบันเทิงประเภทภาพยนตร์ในสังคมไทยในยามนั้นจึงซบเซา เนื่องจากขาดแคลนภาพยนตร์ตะวันตกใหม่ๆ โรงภาพยนตร์ต่างๆ จึงแก้ปัญหายอดคนชมภาพยนตร์ลดลงด้วยการนำเอาภาพยนตร์เก่าที่ค้างอยู่ มาฉายเพื่อไม่ให้คนกรุงเบื่อหน่าย จึงมีการริเริ่มนำวงดนตรีมาแสดงในโรงภาพยนตร์ และวงนั้นคือ วงสุนทราภรณ์ ซึ่งสร้างความแปลกใหม่และดึงดูดผู้คนได้ไม่น้อย (ลาวณัลย์ โชตามระ, 2527 : 165)

จุรี โอศิริ นักแสดงอาวุโสและสมาชิกวงสุนทราภรณ์ หวนรำลึกถึงอดีตว่า พลันที่วงดนตรีสุนทราภรณ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์โอเดียน เมื่อ 2486 ท่ามกลางสมัยสงครามนั้น นับแต่นั้นเป็นต้นมาชื่อเสียงของวงสุนทราภรณ์ก็โด่งดังราวกับพลุแตก มีประชาชนติดตามวงกันอย่างล้นหลาม (จุรี โอสิริ, 2542 : 281)

นับแต่ช่วงกลางสงครามเป็นต้นมา เมื่อวงดนตรีสุนทราภรณ์รับงานเล่นดนตรีนอกเวลาราชการตามสถานที่ต่างๆ ตามแนวบิ๊กแบนด์หรือหัสดนตรี เพื่อสร้างความบันเทิงแก่สังคม การแสดงดนตรีของวงจึงมีความหลากหลายในแนวเพลง เช่น ความรัก การเกี้ยวพาราสี ความรักหวานชื่น การตัดพ้อต่อว่าและความขมขื่น ตามจังหวะลีลาจังหวะเพลงแบบละตินอเมริกาที่เร้าใจ เช่น Polka, Bequine, Bolero, Cha Cha Cha, Rumba, Quaracha, Boss nova, Swing (นิติพรรณ สุวาท,2562,181)

ภาพโรงภาพยนตร์โอเดียนในช่วงสงคราม เครดิตภาพ : นิภาภรณ์ รัชตพัฒนากุล

สุวัฒน์ วรดิลก เล่าว่า ในช่วงเวลานั้น ภาพยนตร์ที่ฉายตามโรงนั้นมักเป็นภาพยนตร์จากเยอรมนีและญี่ปุ่นอันเป็นมิตรประเทศของไทย ส่วนภาพยนตร์จากยุโรปและสหรัฐนั้นมักเป็นของเก่าที่ฉายวนไปมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โรงภาพยนตร์จึงใช้กุศโลบายในการใช้วงดนตรีในการเรียกคนมาชม ด้วยการมีการแสดงดนตรีสลับการฉายภาพยนตร์ “ดนตรีสลับหนังจึงอุบัติขึ้นเป็นดอกเห็ด” (สุพรรณ บุรณพิมพ์, 2528, 116)

ความนิยมแพร่หลายของเพลงไทยสากลและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ไม่แต่เพียงเป็นผลงานของวงสุนทราภรณ์ที่กำเนิดมาเพื่อรับงานสร้างความบันเทิงแก่สังคมเท่านั้น แต่ยังได้สร้างกระแสการแสดงดนตรีตามโรงภาพยนตร์อีกด้วย เช่น วงดนตรีทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นวงดนตรีของ พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และวงดนตรีดุริยโยธิน ล้วนเป็นวงดนตรีส่วนราชการที่รับงานนอกเวลาราชการตามโรงภาพยนตร์เช่นกัน (จุรี โอสิริ, 2542: 280)

ช่วงนั้น วงดนตรีที่สามารถเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนดูมีเพียงไม่กี่วง เช่น วงดนตรีของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ภายใต้การควบคุมของนารถ ถาวรบุตร โดยมีสถาพร มุกดาประกร ปิติ เปี่ยมสายสืบ ไพพรรณ บูรณพิมพ์ กัณฑรีย์ นาคประภา สุพรรณ บูรณพิมพ์ เป็นนักร้องดังของวง โดยเวทีที่วงทรัพย์สินฯ เล่นประจำคือ โรงภาพยนตร์โอเดียน นอกจากนี้ ยังมีวงดุริยโยธินของกองดุริยางค์ทหารบก และวงของเอกชน เช่น วงดนตรีของล้วน ควันธรรม ด้วยเป็นต้น (สุพรรณ บุรณพิมพ์, 2528, 116)

รุจี อุทัยกร และ มัณฑนา โมรากุล นักร้องหญิงคู่แรกของวงกรมโฆษณาการ กับเอื้อ สุนทรสนาน 2483

ควบคู่ไปกับการแพร่หลายของวงดนตรีแบบใหม่ เพลงไทยสากลแบบใหม่ ในช่วงทศวรรษ 2480 นั้น การเต้นลีลาศกลายเป็นวัฒนธรรมบันเทิงเป็นที่นิยมในหมู่ชาวกรุง การลีลาศบนฟลอร์อย่างเฉิดฉายนั้นเป็นการประชันแข่งขันผ่านการแต่งกาย เครื่องประดับ การแต่งหน้า ทำผมที่สวยงาม (บุญพิทักษ์ เสนีบุรพทิศ, 2566, 52)

ไม่แต่เพียงสุนทราภรณ์สร้างความบันเทิงให้สังคมไทยผ่านเพลงไทยสากลเท่านั้น แต่วงยังประยุกต์ความบันเทิงของชาวชนบทมาเสนอต่อคนกรุง ด้วยการแต่งเพลงรำวงอันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างมาตรฐานวัฒนธรรมแห่งชาติที่ยึดโยงกับสามัญชนมาแทนมาตรฐานทางวัฒนธรรมเดิมของราชสำนัก ตามนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมของรัฐบาลจอมพล ป.ด้วย (จิรพร วิทยศักดิ์พันธุ์, 2564, 503; บุญพิทักษ์ เสนีบุรพทิศ, 2566, 51)

พลันเมื่อไฟแห่งสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ลุกลามมายังไทย ส่งผลให้วงกรมโฆษณาการรับภารกิจในการปลุกขวัญกำลังใจให้กับสังคมไทยตลอดช่วงแห่งสงคราม ตั้งแต่ต้นสงครามที่สังคมต้องการปลุกจิตปลุกใจให้มีความฮึกเหิมในการรบ จวบจนในช่วงกลางและปลายสงครามที่สถานการณ์สงครามแปรเปลี่ยนไปอันเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยต้องการขวัญกำลังใจอย่างมากในการผ่านความทุกข์เข็ญไปให้ได้อีกด้วย

มัณฑนา โมรากุล เมื่อ 2482 และสุภาพ รัศมิทัต ในช่วงสงคราม