ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ยุทธบทความ |
ผู้เขียน | ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข |
เผยแพร่ |
ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข
ขวาคือใคร… คิดอย่างไร (4)
การปฏิวัติที่เขย่าโลกอนุรักษนิยม
“อนุรักษนิยมก็เหมือนกับเสรีนิยม ที่ไม่มีภาพแทน ไม่มีวิทยาลัยเพื่อการประกาศศรัทธา ไม่มีพื้นฐานของคำประกาศอิสรภาพ และไม่มีบทสรุปในเชิงหลักนิยมที่เทียบได้กับหนังสือฉบับมาตรฐานของมาร์กซ์-เองเกลส์เลย”
Edmund Fawcett (2020)
หากพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองในยุโรปแล้ว ไม่มีอะไรที่จะ “เขย่าโลก” ของชาวอนุรักษนิยมในยุโรปได้มากเท่ากับ “การปฏิวัติฝรั่งเศส” ที่เกิดขึ้นในปี 1789 เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดนั้น เป็นความรุนแรงอย่างชัดเจน และมีลักษณะของการ “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” อย่างที่กษัตริย์และชนชั้นนำในยุโรปไม่เคยเห็นมาก่อน
การปฏิวัติฝรั่งเศสแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์” ของอังกฤษ ซึ่งในตัวแบบของอังกฤษมีลักษณะที่ไม่รุนแรงมากนัก และไม่มีการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และทั้งไม่ได้กระทบต่อเสถียรภาพของระบบเก่า จนถึงเกิดการล่มสลายลงแต่อย่างใด หรือในกรณีของ “การปฏิวัติอเมริกา” จะมีสงครามใหญ่เป็นส่วนประกอบสำคัญ แต่ก็เป็นปัญหาเอกราชของรัฐอาณานิคม และไม่ได้ส่งผลให้ระบบกษัตริย์อังกฤษที่เมืองแม่ต้องล้มตามไปกับความพ่ายแพ้ของกองทัพอังกฤษในสนามรบที่อเมริกาแต่อย่างใด
ในเงื่อนไขเช่นนี้ การปฏิวัติฝรั่งเศสจึงมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการจัดระบบความคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมในยุโรป โดยเฉพาะการปฏิวัตินี้ได้สร้าง “กรอบความคิด” ที่ชัดเจนใน “ความเป็นอนุรักษนิยม” อันเป็นผลจากงานทางความคิดของนักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษอย่าง “เอ็ดมันด์ เบิร์ก” (Edmund Burke) และคงจะต้องถือว่า เขาเป็นผู้สร้างให้เกิดโลกของ “อนุรักษนิยมสมัยใหม่” ที่มีชีวิตทางการเมืองสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
และอาจต้องยกย่องให้เบิร์กเป็น “บิดาของอนุรักษนิยมสมัยใหม่” ด้วย
การปฏิวัติและสงคราม
ในขณะที่การเมืองอังกฤษก้าวสู่จุดเปลี่ยนสำคัญจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์นั้น การเมืองของฝรั่งเศสก็ก้าวสู่จุดสูงสุดอีกแบบ หรือที่กล่าวกันว่าระบอบกษัตริย์ฝรั่งเศสเฟื่องฟูถึงจุดสูงสุดในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งพระองค์เชื่อว่า คนทั้งหมดในสังคมเป็นเพียงดาวเคราะห์ดวงเล็กดวงน้อยที่โคจรรอบๆ พระองค์ ซึ่งมีสถานะเป็นดังดวงอาทิตย์
กล่าวคือ พระองค์เป็น “ศูนย์กลางของจักรวาล” แห่งฝรั่งเศส ดังคำที่พระองค์กล่าวเสมอว่า “เราคือรัฐ” (I am the state – คำแปลจากภาษาฝรั่งเศส)
ความเฟื่องฟูของระบอบกษัตริย์มักจะตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ทั้งเพื่อการขยายพระราชอำนาจผ่านการสงคราม และการสร้างความยิ่งใหญ่ภายในราชอาณาจักร เช่น การสร้างพระราชวังแวร์ซายส์ อันทำให้เกิดภาระทางด้านงบประมาณอย่างหนัก ขณะที่สังคมภายในเองประสบปัญหาอย่างมากทั้งในเรื่องของความยากจน และความไม่เป็นธรรมในด้านต่างๆ
สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็น “ความไม่พอใจสะสม” ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ราชสำนักและชนชั้นสูงยังใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย โดยไม่ยอมรับรู้ถึง “ไฟกองใหญ่” ที่กำลังสุมไหม้ลามอยู่ในสังคมฝรั่งเศส อันทำให้เกิดทัศนะร่วมกันในหมู่นักคิด ปัญญาชน และประชาชนว่า ระบอบการเมืองการปกครองเก่าคือ ต้นเหตุแห่งความเสื่อมโทรมทางสังคม และจำเป็นต้องโค่นล้มด้วยกำลัง
สุดท้ายแล้ว “สุมไฟกองใหญ่” นี้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 และเป็นการเปลี่ยนแบบพลิกโฉมหน้าการเมืองยุโรปอย่างทันที ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัฐฝรั่งเศสที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน ถูกโค่นล้มด้วยพลังของ “ความไม่พอใจ” ของประชาชน และการสิ้นสลายของระบอบเดิมนั้น สะท้อนชัดเจนผ่านสัญลักษณ์ของการ “ตัดศีรษะ” พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จนอาจต้องเรียกการเมืองยุโรปในช่วงนี้ว่าเป็น “ยุคแห่งการปฏิวัติ” (the Age of Revolution) อย่างแท้จริง
ดังที่กล่าวมาแล้วเราเห็นการปฏิวัติ 3 ชุดในระนาบของเวลาที่ไล่ตามกัน คือ การปฏิวัติอังกฤษ 1688 การปฏิวัติอเมริกา 1776 และการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 แม้กระนั้น นักคิดและนักปฏิวัติบางคนอาจโต้แย้งว่า การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ของอังกฤษไม่ใช่การปฏิวัติอย่างแท้จริง หรืออาจกล่าวในมิติทางรัฐศาสตร์ว่า ไม่ใช่การปฏิวัติในแบบของการปฏิวัติจริงๆ ที่ต้องมีองค์ประกอบของความรุนแรง การนองเลือด และการล้มล้างระบบเดิม
ผลสืบเนื่องจากความรุนแรงและการนองเลือดของการปฏิวัติคือ การสงคราม เพราะการปฏิวัติฝรั่งเศสสั่นสะเทือนระบอบกษัตริย์ทั่วทั้งยุโรป จนบรรดากษัตริย์ทั้งหลายตัดสินใจที่จะต้องล้มระบอบปฏิวัติของฝรั่งเศสให้ได้ อันเป็นจุดเริ่มต้นสงครามชุดใหญ่ของยุโรปในปี 1792 และสงครามดำรงอยู่สืบเนื่องจนปี 1815
วิพากษ์การปฏิวัติ
ในท่ามกลางโลกที่ผันผวนของการเมืองยุโรปเช่นนี้ นักคิดที่ยึดมั่นในแนวทางแบบอนุรักษนิยมย่อมมีข้อวิพากษ์ต่อสภาวะดังกล่าวอย่างแน่นอน
เอ็ดมันด์ เบิร์ก นำเสนอความเห็นต่อการปฏิวัติในปีถัดมา (1790) ซึ่งขณะนั้นพระเจ้าหลุยส์ยังไม่ถูกประหารชีวิต และการประหารชีวิตชุดใหญ่ในสังคมยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเบิร์กคาดการณ์ได้ถูกต้องว่า การปฏิวัตินี้กำลังนำไปสู่ความรุนแรงอย่างน่ากลัว และก็เป็นจริงตามที่เขาคาดไว้ อันทำให้เบิร์กมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น “ความบกพร่องของการปฏิวัติ” แต่สำหรับการปฏิวัติอเมริกันแล้ว เบิร์กมีท่าทีสนับสนุน
ภาพของความรุนแรงขนาดใหญ่ในสังคมฝรั่งเศสทำให้เกิดคำถามในเบื้องต้นสำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมว่า ความผันผวน ความโหดร้าย และการนองเลือดเป็นผลจากการมีเสรีภาพของประชาชน หรือเป็นเพราะการมีเสรีภาพดังกล่าวจึงทำให้เกิดความผันผวน ความโหดร้าย และการนองเลือด ซึ่งเบิร์กมองว่า เสรีภาพเป็นต้นตอของปัญหา หรืออีกนัยหนึ่งคนมีความเข้าใจที่ผิดพลาดในเรื่องของ “เสรีภาพสมัยใหม่” อันทำให้เกิดสภาวะของ “เผด็จการมวลชน” (popular despotism)
สภาพเช่นนี้ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมมีมุมมองว่า “การปฏิวัติคืออาชญากรรม” และทำให้พวกเขามีท่าทีเป็น “พวกปฏิกิริยา” ต่อต้านการปฏิวัติ
อีกทั้งสภาพของความโหดร้ายของการปฏิวัติเป็นผลสืบเนื่องจากการที่มนุษย์เป็นอิสระจากประเพณีและสำนึกที่ดี ทำให้เขาผู้นั้นจะกลายเป็น “คนโง่” และ “อาชญากร” ทันที
หรือนักคิดในสายนี้อีกส่วนมองว่า ปัญหาความรุนแรงเช่นนี้เกิดเพราะมนุษย์พาตัวเองออกจากพระเจ้า ดังนั้น พวกเขาจึงมองว่า ประชาชนโดยทั่วไปจะไม่มีขีดความสามารถในการปกครองตนเอง อันทำให้กฎระเบียบของสังคมมีความจำเป็นในตัวเอง
หรืออาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นประเพณี ความสำนึกที่ดี หรือความคุ้มครองของพระเจ้าก็ตาม ล้วนเป็นปัจจัยที่มีขึ้นเพื่อให้เกิด “ความสงบเรียบร้อยทางสังคม” เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในชุมชน
ในมุมของฝ่ายอนุรักษนิยม ศาสนาเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ เพราะเป็นแกนกลางของคำอธิบายต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และยังเน้นถึงการมีศรัทธาร่วมกันของมนุษย์ต่อพระเจ้า อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดระเบียบทางสังคม อีกทั้งถือว่าประโยชน์ของศาสนาเป็นผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม หรือโดยนัยทางความคิด คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องของขนบธรรมเนียมและประเพณี เพราะปัจจัยเช่นนี้คือพื้นฐานของการสร้างครอบครัวและชุมชน ซึ่งชุมชนในมิติทางทฤษฎีคือ “สังคมพลเมือง” หรือจะเรียกว่า “สังคมประชา” ก็แล้วแต่
อย่างไรก็ตาม คำว่า “civil society” จะขอไม่แปลคำนี้ในแบบที่ชอบพูดติดปากว่า “ประชาสังคม” เพราะในทางรัฐศาสตร์มีคำคู่ขนานคือ “สังคมรัฐ” คือ “state society” อันมีนัยถึงพื้นที่ทางการเมืองของความเป็นรัฐ
ในอีกด้านหนึ่งเบิร์กมองว่าเสรีภาพตกอยู่ในความเสี่ยงเสมอ ฉะนั้น เสรีภาพจึงควรได้รับการป้องกันโดยกฎหมาย
พร้อมกันนี้เขามองว่าสังคมสมัยใหม่จะต้องได้รับการจัดการในทางการเมืองโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ และไม่ยอมรับแนวคิดของปัญญาชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงด้วยการล้มล้างกฎหมายและสถาบันเดิมด้วยการ “อ้างประชาชน” เพราะการกระทำเช่นนี้จะทำให้เกิดความวุ่นวาย ดังเช่นที่เห็นมาแล้วจากการปฏิวัติฝรั่งเศส
ชุดความคิดเช่นนี้ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมยอมรับในเรื่องของ “การเชื่อฟัง” อันหมายถึงการยอมรับต่อการที่จะอยู่ในกรอบของสังคมเดิม ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมมีทัศนะที่ไม่ยอมรับสภาวะเดิม และเรียกร้องที่จะก่อ “การกบฏ” แต่ถ้าเป็นฝ่ายสังคมนิยมแล้ว จะร้องหา “การปฏิวัติ” ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอนุรักษนิยม
มุมมองเช่นนี้จึงทำให้บรรดาอนุรักษนิยมทั้งหลายคิดไปในทิศทางเดียวกันในความพยายามที่จะรักษาสถาบันและประเพณีการปฏิบัติ เพื่อทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยของสังคม และทำให้เกิดความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ โดยจะต้องไม่ถูกหยุดชะงักด้วยการปฏิวัติ
เศรษฐศาสตร์อนุรักษนิยม
นอกจากนี้แล้วเบิร์กให้ความสำคัญกับปัจจัยทางเศรษฐกิจ และยอมรับว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด” เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นไปในทิศทางเดียวกับอดัม สมิธ (Adam Smith) ซึ่งผลงานเล่มสำคัญของเขาคือ “The Wealth of Nations” และถือเป็นคัมภีร์หลักของระบบทุนนิยมนั้น ออกเผยแพร่ในปีเดียวกับการปฏิวัติอเมริกาในปี 1776 จากการนำเสนอแนวคิดทางเศรษฐกิจที่แม้จะเป็นแนวทางแบบทุนนิยม ที่น่าจะมีพื้นฐานของเสรีนิยม เพราะในทางทฤษฎีแล้ว ทุนนิยมและเสรีนิยมน่าจะเป็นส่วนขยายของกันและกัน แต่ผลงานของเขากลับมีส่วนสำคัญต่อการสร้างเสริมมิติทางปัญญาให้กับกลุ่มอนุรักษนิยม
สมิธเน้นถึงความสำคัญของ “สังคมพลเมือง” และ “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” ซึ่งปัจจัยเช่นนี้ถือเป็นแกนกลางทางความคิดของสายอนุรักษนิยมอังกฤษ รวมทั้งสายอื่นที่สมาทานความคิดชุดนี้ และยอมรับอย่างมากในเรื่องของ “กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” ในการถือครองเครื่องมือการผลิตและปัจจัยการผลิต อันเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบทุนนิยม ซึ่งจะต่างจากความคิดของสายสังคมนิยมในแบบลัทธิมาร์กซ์ ที่ปฏิเสธในเรื่องดังกล่าว และเชื่อว่ากรรมสิทธิ์เช่นนี้เป็นของรัฐ
หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นมุมมองที่แตกต่างกันใน 4 เรื่องที่สำคัญคือ รัฐ เสรีภาพ การผลิต และการปฏิวัติ
อนุรักษนิยมปกป้องอะไร
สุดท้ายแล้วความเป็นอนุรักษนิยมถูกนิยามง่ายๆ ว่า เป็นแนวคิดที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของระบบเดิม ที่มีลักษณะของการจัดลำดับทางชนชั้นที่ถูกกำหนดไว้แล้วอย่างชัดเจนในสังคม (established hierarchies) หรืออีกนัยหนึ่งชุดความคิดนี้โดยพื้นฐานคือ การรักษาไว้ซึ่ง “ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งทำให้ในมิติทางการเมือง พวกเขาจึงต้องดำรงรักษาสถาบันเก่า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขามีความเชื่อมั่นในอำนาจการปกครองแบบดั้งเดิม (traditional authority)
แต่ถ้าอำนาจแบบดั้งเดิมนี้กำลังล่มสลายไปกับความเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว ชาวอนุรักษนิยมจะทำอย่างไร?… ภาวะเช่นนี้จึงเป็นความท้าทายต่อความเป็นอนุรักษนิยมอย่างยิ่ง!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022