ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
“ฟู้เอี้ยน” ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม อยู่ตอนกลางของประเทศที่มีบริษัทไทยคือ “บี.กริม เพาเวอร์” ถือหุ้นใหญ่สุด และธนาคารพัฒนาแห่งอาเซียนอนุมัติเงินกู้กว่า 6 พันล้านบาท รูปแบบกรีนโลนแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก
โซลาร์ฟาร์มแห่งนี้รัฐบาลเวียดนามมุ่งเป้าพัฒนาพลังงานสะอาดลดการปล่อยก๊าซพิษและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชนบท
เป็นที่รู้กันว่า เศรษฐกิจของเวียดนามในช่วง 20 ปีขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยจีดีพีโตปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งช่วงหลังวิกฤตโควิด ปี 2565 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจพุ่งกระฉูดถึง 8.02 เปอร์เซ็นต์ จนนักเศรษฐศาสตร์เก็งกันว่าเวียดนามจะเป็นเสือตัวใหม่ของอาเซียน
เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยแล้ว เวียดนามก้าวกระโดดไปไกลกว่าหลายช่วงตัว โดยเฉพาะการผลิตสินค้าส่งออกไม่ว่าเป็นเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ปี 2565 เวียดนามส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น10.6 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 371,850 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI เพิ่มขึ้น 13.5 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 22,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่เศรษฐกิจไทยอัตราการขยายตัว ปี 2565 แค่ 2.6 เปอร์เซ็นต์ ยอดการส่งออก 5.5 เปอร์เซ็นต์ มูลค่า 287,067 ล้านเหรียญสหรัฐ และ FDI มีเพียง 3,679 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น
ปี 2566 จีดีพีขยายตัวแค่ 1.9 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ สินค้าส่งออกลดลง 1.7 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปี 2565 และ FDI ในปี 2566 มีเพียง 2,669 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าเวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย
ปีนี้ เศรษฐกิจไทยข้ามผ่านไตรมาสที่ 2 แล้ว แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรวมแล้วเพียง 2.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คาดกันว่า จีดีพีปี 2567 อาจจะอยู่ที่ 2.3 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เก็งว่าจะโตขึ้นอย่างต่ำๆ 3 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจบ้านเรายังอยู่ในภาวะหืดขึ้นคอ
ถ้าการเมืองยังยึกๆ ยักๆ การบริหารประเทศสะดุดกึกกักเพราะแย่งชิงการนำในพรรคเพื่อไทย ไม่มีแผนยกระดับความสามารถของการแข่งขันอย่างชัดเจน และนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ไปไม่ถึงฝั่ง โอกาสไทยเดินถอยหลังมีความเป็นไปได้สูงมาก
ระหว่างนั่งรถกับทีมงานของข่าวหุ้นอะคาเดมี (KH Academy) ร่วมกับคณาจารย์ นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเมืองญาจางไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เมืองฟู้เอี้ยน “ฮาตี้” ไกด์ทัวร์ชาวเวียดนาม พูดชื่นชมยกย่องในความสำเร็จของรัฐบาลเวียดนามที่สามารถปลุกปั้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ฟังแล้วรู้สึกหมั่นไส้อยู่ในใจลึกๆ
“ฮาตี้” บอกว่า วันนี้เศรษฐกิจเวียดนามเจริญก้าวหน้ามาก ข้าวส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ข้าวเวียดนามไปประกวดที่ไหนก็ชนะ เป็นข้าวพันธุ์ดีมีคุณภาพ หอมนุ่ม บางพื้นที่ปลูกได้ปีละ 4 ครั้ง กาแฟก็อร่อย ส่งออกเป็นอันดับ 2 รองแค่บราซิล
การส่งออกข้าวเวียดนามที่ “ฮาตี้” พูดถึงว่าเป็นที่ 1 ของโลกนั้น อาจไม่ได้โอ้อวดเกินความจริง เพราะถนนที่รถของเราแล่นผ่านมีคลองชลประทานคู่ขนานไปด้วย ข้างๆ คลองเป็นบ้านเรือนประชาชน อีกฝั่งถนนเป็นนาข้าวเขียวขจีสุดลูกหูลูกตา
น้ำในคลองชลประทานใสสะอาดมากแม้ว่าจะไหลผ่านชุมชนข้างทาง สังเกตเห็นเศษขยะไม่กี่ชิ้นตลอดทางที่รถวิ่งผ่านเกือบๆ ชั่วโมงเต็ม
ความสะอาดของน้ำในคลองเหมือนบอกให้รู้ว่าชาวเวียดนามวันนี้เคารพในกฎระเบียบวินัยรักษาความสะอาด ไม่ทิ้งเศษขยะลงในลำคลองสาธารณะ ต่างกับคลองในบ้านเราที่เกลื่อนไปด้วยถุงพลาสติก ขวดน้ำ
พูดถึงระเบียบวินัย ยังมีข้อน่าสังเกตอีกเรื่องคือการใส่หมวกกันน็อกของบรรดาผู้ขี่มอเตอร์ไซค์ชาวเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก หรือผู้ใหญ่ขี่คนเดียว หรือมีคนนั่งซ้อนท้าย ทุกคนใส่หมวกกันน็อกทั้งหมด แม้จะขี่มอเตอร์ไซค์นอกเมืองในชนบทไกลๆ ก็ใส่หมวกกันน็อก
การรักษาระเบียบวินัยเคารพในกฎกติกาบ้านเมืองเป็น 1 ในข้อบ่งชี้พื้นฐานคุณภาพของประชากร
รถยนต์ยี่ห้อ “วินฟาสต์” แล่นแซงรถคณะข่าวหุ้นอะคาเดมี ไกด์ทัวร์เวียดนามเปลี่ยนเรื่องคุยทันที หันมาเล่าที่มาที่ไปของ “ฝ่าม เญิต เหวื่อง” (Pham Nhat Vuong) มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของเวียดนามซึ่งเป็นเจ้าของ “วินกรุ๊ป” ผู้ผลิตรถ “วินฟาสต์” ด้วยความภาคภูมิใจ
คอลัมน์นี้ก็เคยเขียนถึง “วินฟาสต์” รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่ง “ฝ่าม เญิต เหวื่อง” ใช้เวลาเพียง 6 ปี สามารถผลักดันให้ก้าวขึ้นมาโดดเด่นในอุตสาหกรรม “อีวี” ของโลก ผลิตขายทั้งในเวียดนาม ต่างประเทศ รวมถึงไทย
“วินฟาสต์ ออโต้” บุกไปตั้งโรงงานในรัฐนอร์ธแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา มุ่งเป้าเจาะตลาดอีวีอเมริกันและนำหุ้นขายในตลาดแนสแด็ก มหานครนิวยอร์กเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา มูลค่าเทรดวันแรกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท
มากกว่าหุ้นของโฟล์กสวาเกน
ความรู้สึกหมั่นไส้ “ฮาตี้” แทบจะหายไปพลันเมื่อย้อนนึกถึงอดีตประเทศไทยห้วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมาที่จมปลักกับวงจรอุบาทว์ทางการเมือง การปฏิวัติรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตยถึง 2 ครั้ง กระทบต่อประเทศเป็นวงกว้าง ลึก เศรษฐกิจพังพินาศ การศึกษาถดถอยล้าหลัง ศักยภาพของเยาวชนไทยด้อยลง ความสามารถในการแข่งขันกับโลกวูบหาย
สถิติของธนาคารโลกปีนี้ระบุว่า เยาวชนและคนไทยทั่วประเทศอ่านหนังสือไม่ออกถึง 2 ใน 3 ของประเทศ หรือ 64.7เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้อ่านสลากกำกับยายังไม่ได้เลยแล้วจะไปทำอะไรกิน แถมยังขาดทักษะด้านดิจิทัลมากถึง 74.1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3 ใน 4 ของประชากร ไม่รู้วิธีการใช้คอมพิวเตอร์ในการค้นคว้าหาความรู้ผ่านออนไลน์
การศึกษาล้มเหลว ความรู้ง่อนแง่น การเมืองไม่นิ่ง ต่างชาติไม่มาลงทุน การส่งออกสะดุดไม่มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ไม่มีสินค้าใหม่ๆ เมดอินไทยแลนด์ที่เป็นเทรนด์โลกวางขายในตลาดโลก รายได้ของผู้คนลดน้อยลง ข้าวของแพงรายจ่ายพุ่งตามจึงนำไปสู่ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนพุ่งทะลุถึง 17.7 ล้านบาท หรือ 91 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
เศรษฐกิจไทยจึงถดถอยอย่างต่อเนื่องอย่างที่เห็นในวันนี้
คณะข่าวหุ้นอะคาเดมีเดินทางมาถึงสำนักงานโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฟู้เอี้ยนของบริษัทบี.กริม เพาเวอร์ ตั้งอยู่กลางที่ราบใหญ่กึ่งภูเขา มีเนินเตี้ยอยู่ตรงกลาง
ผู้บริหารโรงไฟฟ้าเล่าให้ฟังว่า แผงโซลาร์เซลล์ที่ฟู้เอี้ยนติดตั้งในพื้นที่ราบราว 1,600 ไร่ แต่ละแผงจะแปลงแสงแดดเป็นไฟฟ้ากระแสตรง หรือดีซี (direct current) เชื่อมสู่สถานีย่อยตู้แปลงกระแสไฟสลับ หรือเอซี (alternating current) แปลงเป็นกระแสไฟฟ้าแรงสูงก่อนเชื่อมกับสายส่งไฟฟ้าแรงสูงไปยังพื้นที่ต่างๆ ทางตอนกลางของเวียดนาม
ฟังเบื้องหลังการดีลระหว่างตัวแทนของบี.กริม เพาเวอร์ และทีมงานกับรัฐบาลเวียดนามนั้น บอกให้รู้ว่ากว่าจะได้มาซึ่งความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างมีเงื่อนเวลา มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคขวางอยู่แทบทุกจุด
ปกติแล้ว การให้ใบอนุญาตก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม กำหนดกำลังการผลิตโครงการละ 50 เมกะวัตต์เท่านั้น ทีมงานของบี.กริม.เพาเวอร์ชาวเวียดนาม สามารถเจรจาต่อรองกับผู้นำเวียดนามอนุมัติขยายกำลังการผลิตมากถึง 257 เมกะวัตต์ในพื้นที่เดียวกัน
ถึงกระนั้นรัฐบาลเวียดนามขีดเส้นตายว่า ผู้ได้รับอนุมัติโครงการต้องก่อสร้างให้ทันกับเวลาซึ่งจะต้องผลิตไฟฟ้าและปล่อยกระแสไฟฟ้าภายใน 9 เดือน (ระหว่างตุลาคม 2561-มิถุนายน 2563) อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในสัญญาการปรับลดซื้อขายไฟฟ้าระหว่างภาครัฐกับเอกชน
สัญญานี้ทำให้บรรดาธนาคารและแหล่งเงินทุนไม่กล้าปล่อยเงินกู้ให้กับเจ้าของโครงการซึ่งต้องใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่กว่า 9 พันล้านบาท
“บี.กริม.เพาเวอร์” ใช้สายสัมพันธ์แนบแน่นกับบริษัทไชน่า เอ็นเนอร์ยี่ เอ็นยิเนียริ่ง เป็นรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ของจีนช่วยผลักดันให้โครงการนี้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง แต่ยังมีอุปสรรคในการจัดหาที่ดินต้องแปลงใหญ่ 1,600 ไร่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพื้นที่ที่เล็งเอาไว้มีชุมชนบ้านเรือนผู้คนตั้งอยู่
การวางแผนเพื่อโยกย้ายถิ่นฐานชุมชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนๆ กับการวางแผนติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์
การโยกย้ายชุมชนออกจากพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งมีทั้งหมด 97 ครัวเรือน ต้องชักชวนให้ทุกครัวเรือนพร้อมใจไปทำกินในที่ดินแห่งใหม่ ต้องมีข้อเสนอเรื่องการสร้างรายได้และจัดตั้งกองทุนให้กับชุมชนเพื่อสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มีโครงการฝึกอบรมการเลี้ยงหมูแพะวัว ปลูกผัก มันสำปะหลัง แนะนำวิธีการสร้างโรงเพาะชำ จัดหาแหล่งรับซื้อสินค้าและวิธีการชำระเงินครบวงจร
นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมการศึกษาให้กับลูกหลานเยาวชนของชุมชน มีการจัดหาทุนการศึกษาให้เด็กเรียนดี
กระบวนการทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในกรอบเวลาที่สั้นๆ เพราะหลังจากเสร็จสิ้นการย้ายบ้านเรือนของผู้คนออกจากพื้นที่โครงการแล้ว คณะกรรมการชุมชนยังติดตามผลอย่างต่อเนื่องและต้องส่งเสริมให้ชุมชนได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการเพิ่มผลผลิตและสร้างมูลค่าสินค้า
บี.กริม.เพาเวอร์ จัดการบริหารและก่อสร้างโครงการ “ฟู้เอี้ยน” โซลาร์ฟาร์มประสบความสำเร็จเพราะมีพันธมิตรที่ดีมีความมุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคจากสิ่งที่ไม่มีใครคาดว่าเป็นไปได้ก็ทำให้เป็นไปได้ จนสามารถต่อเชื่อมกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังสายส่งของการไฟฟ้าภูมิภาคเวียดนามเพื่อป้อนสู่ชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรมทางตอนกลางของประเทศด้วยเวลาเพียง 180 วัน เร็วกว่าสัญญา 90 วัน
อีก 2 ปีต่อมา บี.กริม.เพาเวอร์ยื่นขอกู้เงินในรูปแบบ “กรีนโลน” จากเอดีบี ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติเงินกู้มีเงื่อนไขมากมายต้องผ่านมาตรฐานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
ในรายงานของเอดีบี ประเมินคุณภาพน้ำบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าฟู้เอี้ยนว่ามีคุณภาพตามมาตรฐานหรือไม่ ประเมินผลกระทบกับนกที่อยู่อาศัยโดยรอบโรงไฟฟ้าว่ามีนกเสียชีวิตเพราะบินชนเสาไฟฟ้าหรือแผงโซลาร์เซลล์หรือไม่ ผลการเฝ้าติดตามตรวจสอบพบว่าคุณภาพน้ำได้มาตรฐาน ไม่มีนกเสียชีวิตในบริเวณโครงการ
ผลประเมินผ่านฉลุย “เอดีบี” เซ็นอนุมัติเงินกู้ “กรีนโลน” ให้กับบี.กริม เพาเวอร์
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “ฟู้เอี้ยน” คือตัวอย่างที่เวียดนามตั้งใจโชว์ให้โลกเห็นว่า แผนพัฒนาพลังงานสีเขียวแห่งชาติกำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2573 ให้ได้ 15 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับ 16 ปีที่แล้ว •
สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022