ยุทธศาสตร์จีนต่อเมียนมา

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

ยุทธศาสตร์จีนต่อเมียนมา

 

“…จุดสำคัญสูงสุดของเหตุการณ์ในเมียนมา จีนมีโอกาสไม่เพียงรักษาผลประโยชน์แห่งชาติของจีน แต่ยังมีอิทธิพลต่อผลของอนาคตในเมียนมาด้วย…”

นี่เป็นการประเมินของ Sithu1 ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของเมียนมา เขียนไว้เมื่อ 26 เมษายน 2024

จากข้อเขียนของ Krackhauer2 เขาเล่าสถานการณ์ของเมียนมาปัจจุบันว่า มีการแบ่งแยกระหว่างชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ในรัฐฉานตอนเหนือได้แก่ กลุ่ม TNLA, KIA และ MADAA ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างดินแดนเป็นของตน

และตอนนี้ จีนอยู่ในสถานภาพอย่างเชี่ยวชาญคือ quasi-vassal status3 ที่อาจแปลว่า สถานะกึ่งศักดินา มายาวนานหลายทศวรรษ อันหมายถึง สถานะเหนือกว่าแบบเจ้าขุนมูลนายของจีนต่อคนในเมียนมา

พร้อมกันนั้น Krackhauer ชี้ด้วยว่า สถานะของจีนในเมียนมาชัดเจนตั้งแต่ปี 1989 เป็นยุทธศาสตร์จีนต่อเนปิดอว์ คือ จีนไม่ไปเกี่ยวข้องกับระบบการเมืองเมียนมา ปล่อยให้ระบบการเมืองนี้ดำเนินต่อไป และถือว่า เป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดของเมียนมา

Krackhauer ยังสรุปว่า ด้วยยุทธศาสตร์นี้เอง ช่วยให้จีนรักษาดุลยภาพของความยุ่งยากระหว่างระบบการเมืองเมียนมากับกลุ่มต่อต้านที่แตกแยกกัน เขายังชี้ให้เห็นว่า ยุทธศาสตร์นี้จึงเป็นหลักประกันความปลอดภัยและให้ความก้าวหน้าสูงสุดของผลประโยชน์ของจีนภายในภูมิภาคนี้ด้วย

สรุป จีนพอใจดุลยภาพของรัฐบาลเมียนมากับชนกลุ่มน้อยที่แตกแยก

 

เมียนมาที่ไม่มั่นคง อ่อนแอ

: เป้าหมายยุทธศาสตร์จีน?

งานเขียนของนักวิชาการด้านเมียนมาข้างต้นชี้ให้เราเห็นว่า นอกจากจีนรักษาผลประโยชน์ของจีนในเมียนมาได้แล้ว จีนยังมีอิทธิพลต่อเมียนมาอีกด้วย

น่าสนใจ Aung Zaw ปัญญาชนแถวหน้าของเมียนมา ได้อธิบายรายละเอียดของความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสอง โดยให้น้ำหนักที่ยุทธศาสตร์ของจีนว่า4

“…เพื่อนยักษ์ทางเหนือของเรา (จีน-ขยายความโดยผู้เขียน) ทั้งมั่งคั่งล้นเหลือและทั้งทรงอำนาจมากเกิน ที่เรา (เมียนมา-ขยายความโดยผู้เขียน) ไม่สนใจไม่ได้…”

พร้อมกันนี้เขาได้เขียนบทความตั้งข้อสังเกตต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์จีนต่อเมียนมาว่า จีนต้องการเมียนมาที่ไม่มั่นคง (unstable) อ่อนแอ (weak) หรือเปล่า เพื่อที่จะรักษาการควบคุมและมีอิทธิพลเหนือประเทศเมียนมาทั้งหมด ทั้งนี้ ได้ย้อนความสัมพันธ์ระหว่างจีน-เมียนมาว่ามีความย้อนแย้ง แท้จริงแล้วยุทธศาสตร์ของจีนนั้น ทั้งรักษาผลประโยชน์ของจีน มีอิทธิพลต่อเมียนมา ด้วยยุทธศาสตร์ทำให้เมียนมาทั้งไม่มั่นคงและอ่อนแอเป็นหลัก

เขาอธิบายว่า ในขณะที่ผู้นำจีนให้ความสำคัญกับเมียนมามากและเป็นพิเศษ เฉพาะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เขาเดินทางเยือนเมียนมาอย่างเป็นทางการหลายครั้ง นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี

ในเวลาเดียวกัน ทางการจีนได้เชิญผู้นำเมียนมา เช่น นางอ่อง ซาน ซูจี เยือนปักกิ่งปี 2015 เมื่อเธอเป็นผู้นำฝ่ายค้านก่อนการเลือกตั้งหลายเดือน หลังจากนั้น เธอชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย นี่เป็นการคำนวณของปักกิ่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงภูมิการเมืองอย่างรวดเร็ว

นายพลตาน ฉ่วย อดีตประธานาธิบดีเมียนมาก็เยือนปักกิ่ง

หลังจากนั้น จีนมีโครงการความร่วมมือกับเมียนมาหลายโครงการ ได้แก่ China Myanmar Economic Corridor, China-Myanmar Border Economic Cooperation Zone, Kyaukphyu Special Economic Zone and New Yangon City Project เป็นต้น

 

สภาวะย้อนแย้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นความจริงต่อจีนคือ ความรู้สึกของพลเมืองเมียนมาจำนวนมาก รวมทั้งเหล่านายพลเมียนมาพัฒนาความกลัวลึกๆ ต่อจีน แล้วไม่ใช่กล่าวเกินจริง คนเมียนมามี โรคกลัวจีน (Sinophobia)

เหล่านายพลเมียนมาสงสัยในอิทธิพลของจีนต่อกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ติดอาวุธ และแสดงความกังวลปักกิ่งหนุนกองกำลังฝ่ายกบฏตามบริเวณชายแดนตอนเหนือเมียนมาติดกับจีน โดยการขายอาวุธ แต่ในขณะนี้การสนับสนุนของจีนต่อกองกำลังของกบฏชาติพันธุ์แพร่กระจายไปทั่วประเทศเมียนมา ทั้งด้านตะวันตกในรัฐยะไข่ติดกับบังกลาเทศ รัฐกะเหรี่ยงติดกับไทย

กำลังทหารเมียนมายึดอาวุธเป็นจำนวนมากที่ทำจากจีนจากกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ทางตอนเหนือของเมียนมา ยึดอาวุธได้จาก Ta’ang National Liberation Army (TNLA) อาวุธรวมทั้ง RPGs และ FN6 ต่อสู้อากาศยานที่ผลิตโดยจีน5

TNLA อ้างว่ามีกำลังทหาร 7,000 นายพร้อมด้วยอาวุธอย่างดี อาวุธที่ยึดได้แสดงถึงแรงกระพือใหญ่ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยพวกเขาสร้างกองทัพขึ้นมาจากภาษีท้องที่ที่เก็บได้ การค้ายาเสพติด บ่อนการพนันผิดกฎหมาย ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ (0nline Scam Center) การค้ามนุษย์ การกดขี่แรงงาน ซึ่งในอดีตอาจกระจุกตัวอยู่บริเวณชายแดนและกับประเทศเพื่อนบ้าน จีน บังกลาเทศ รวมทั้งไทย

แต่ด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนจากการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนสัมปทาน ไม้ อัญมณี การค้าชายแดน ไปสู่การค้ายาเสพติด กาสิโน กาสิโนออนไลน์ ศูนย์หลอกลวงออนไลน์ รายได้ของกลุ่มกบฏชาติพันธุ์จึงไม่ใช่แค่ภาษี ค่าสัมปทาน แต่เป็นกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติที่มีมูลค่ามหาศาล แล้วส่วนหนึ่งนำไปซื้ออาวุธ อาหาร และเป็นค่าตอบแทนกองกำลังติดอาวุธ

กองกำลังกบฏชาติพันธุ์ไม่ต้องการเป็นเอกราช ไม่ต้องการปกครองตนเอง ไม่ต้องการระบบสหพันธรัฐอีกต่อไปแล้ว

พวกเขาต้องการ เงิน อันมหาศาลเพื่อสถาปนาระบบขุนศึก ผู้ทรงอิทธิพลและมั่งคั่งล้นเหลือ โดยมีจีนเป็นแหล่งที่มาของอาวุธ แหล่งการสนับสนุนทางการเมือง เป็นพื้นที่ปลอดภัย ในขณะที่จีนได้เมียนมาที่ไม่มั่นคงและอ่อนแอ เพื่อแลกกับผลประโยชน์ของจีนในเมียนมาและอิทธิพลต่อเมียนมา เพื่อให้เมียนมาไม่ใช่ภัยคุกคามต่อจีนโดยตรง

เงินจากการขายอาวุธก็อยากได้ อิทธิพลทางการเมืองก็อยากได้ ความปลอดภัยก็อยากได้ ดังนั้น จีนเป็นเพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้และซื่อสัตย์ของเมียนมา จึงเป็นคำถามคาใจนายพลและพลเรือนเมียนมาเสมอมา

 

1Sithu, “China’s Engagement with the Myanma Junta : A High Cost, Low Returns Deal” Fulcrum, 26 April 2024 : 1.

2Krackhauer, China’s Geopolitics Chessboard and Myanmar, 26 April 2024 : 1.

3Ibid., : 3.

4Aung Zaw, “An Unstable, Weak : China’s Strategic Goal?” Irrawaddy, 17 January 2020, : 1-2.

5Aung Zaw, “Myanmar’s Generals Make a Show of Displeasure at China’s Arming of Rebel” Irrawaddy, 26 November 2019 : 1.