นิธิ เอียวศรีวงศ์ : บันทึกของนักเล่นนาฬิกาปลอม

นิธิ เอียวศรีวงศ์

เพิ่งมีคนบอกผมเมื่อเร็วๆ นี้ว่า นักเล่นนาฬิกานั้นเขาไม่สะสม Richard Mills กันหรอก เพราะนาฬิกายี่ห้อนี้หมั่นลดราคาเกินไป และมักจะลดมากจาก 40-60% ทีเดียว จึงทำให้ราคาตกอย่างฮวบฮาบ ไม่เหมาะแก่การสะสม เพราะคำนวณราคาในการสืบทอดมรดกไม่ได้ แต่พ่อค้ามักนิยมซื้อตอนลดราคาไปกำนัลผู้มีอำนาจทางการเมือง และหาทางทำให้ท่านรู้ว่า นั่นมัน 6 ล้านเชียวนะขอรับ

ครับ นาฬิกาหรูเหล่านี้ ฝรั่งนับรวมอยู่ใน jewelry (หรือ jewellery ในภาษาอังกฤษแบบอังกฤษ) แปลว่าเครื่องประดับหรูๆ แพงๆ การสะสมนาฬิกาหรูจึงไม่ใช่ความฟุ่มเฟือยเสียทีเดียว เพราะมูลค่ามันไม่ตก (บางเรือนอาจเพิ่มขึ้นด้วย) หรือถึงตกก็ไม่มากนัก จึงเท่ากับการเก็บเงินอย่างหนึ่ง เพียงแต่ได้ “เล่น” กับทรัพย์ที่สะสมไปพร้อมกันด้วย

เหมือนเศรษฐีบ้านนอกชอบซื้อโซ่ทองคำห้อยคอ หรือสะสมพระเครื่อง

ผมควรจะเตือนไว้ด้วยว่า แม้พ่อค้าอาจมีเหลี่ยมคูในการให้นาฬิกาแก่ผู้มีอำนาจทางการเมือง แต่ต้องเข้าใจนะครับว่านาฬิกาไม่เคยเป็นสินบนหรอก นาฬิกาหรูเป็นเพียงของกำนัลที่สร้างความประทับใจแก่คนที่ชอบเล่นนาฬิกา สินบนตัวจริงคือส่วนแบ่งกำไร – จะเป็นเงิน เป็นหุ้น หรือเป็นบัญชีเงินฝากในธนาคารต่างประเทศ ฯลฯ – แต่ไม่ใช่นาฬิกา ซึ่งถึงแพงมากสำหรับคนอย่างเราๆ แต่จิ๊บจ๊อยจนถึงกระจอกสำหรับคนระดับนั้น จะช่วยให้การหากำไรโดยไม่สุจริตของพ่อค้าเป็นไปได้โดยสะดวกด้วยราคาแค่นี้หรือ? (แค่ขอเปิดอาบอบนวดก็ไม่น่าจะได้แล้ว) ด้วยเหตุดังนั้น หากมีคนที่พ่อค้าอยากสร้างความประทับใจด้วยนาฬิกาหรูมากเรือนขนาดนั้น สินบนที่เขาจ่ายกันจะมากขนาดไหน แค่คิดก็เสียวไปทั้งตัวแล้วล่ะครับ

อย่างไรก็ตาม แม้แต่เล่นนาฬิกาจริงยังยาก คือไม่ใช่สะสมและลูบคลำด้วยความชื่นชมเพียงอย่างเดียว ยังต้องมีความรู้ทั้งที่เกี่ยวกับตัวนาฬิกาและความนิยมในตลาดนักเล่นไปพร้อมกัน เล่นไก่ชนหรืองัวชน โดยไม่รู้อะไร จ้างคนมาเลี้ยงแล้วเอาเข้าสังเวียนชนๆ ไปเพื่อเล่นพนัน จะไปสนุกอะไรล่ะครับ มันต้องรู้สายพันธุ์, ประวัติโคตรเหง้าศักราชของไก่และงัวตัวที่เล่น รู้นิสัยใจคอของมัน รวมทั้งรู้วิทยาศาสตร์การกีฬาของไก่และงัวพอสมควร ฯลฯ

ว่าที่จริงหัวใจของการ “เล่น” อะไรก็ตาม มักอยู่ที่ความรู้เบื้องหลังของสิ่งนั้นๆ อย่างนี้แหละครับ

คนที่เคยเป็นทูตอังกฤษประจำประเทศไทยแสดงความประหลาดใจไว้ใน ฟบ. ของตนว่า ทำไมคนเราซึ่งมีเพียงสองแขนจึงต้องการนาฬิกาข้อมือมากมายอย่างนั้น ขนาดคนอังกฤษซึ่งได้ชื่อว่าตรงต่อเวลาอย่างยิ่งแล้ว ยังไม่ต้องมีนาฬิกาติดตัวมากขนาดนั้นเลย

ตลกดีหรอกครับ แต่ผมรู้ว่าท่านทูตผู้นั้นไม่ใช่นักเล่นนาฬิกาแน่ ที่ผมรู้ก็เพราะผมนี่แหละเคยเป็นนักเล่นนาฬิกาเหมือนกัน เพียงแต่เป็นนักเล่นนาฬิกาปลอมเท่านั้น

ขึ้นชื่อว่านาฬิกาที่นักเล่นสะสมย่อมไม่ใช่นาฬิกาควอตซ์นะครับ ต้องเป็นนาฬิกาเครื่องเท่านั้น และต้องเป็นเครื่องอัตโนมัติด้วย หากไม่นำมาเวียนใช้ให้ครบ มันก็ตายสิครับ จึงต้องเปลี่ยนนาฬิกาไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาการเดินของเครื่องเอาไว้

ความยุ่งยากนี้ ทั้งนักเล่นนาฬิกาจริงและปลอมต้องประสบเหมือนกัน ซ้ำนักเล่นนาฬิกาปลอมอาจต้องประสบมากกว่าด้วย เพราะขืนปล่อยให้นาฬิกานอนตายนานๆ อาจปลุกไม่ฟื้นก็ได้ ก็เครื่องมันไม่ดีเท่าของจริงนี่ครับ

อย่าลืมนะครับว่า จะหาช่างซ่อมนาฬิกาปลอมในเมืองไทยปัจจุบันได้ยากมาก ช่างซ่อมนาฬิกาเหลืออยู่แต่ในร้านที่เป็นเอเย่นต์ของนาฬิกาจริง ซึ่งเจ้าของนาฬิกาปลอมจะเอาไปให้ซ่อมไม่ได้ (เพราะเขาไม่รับซ่อม ถึงรับ ราคาค่าซ่อมก็แพงกว่าไปหาซื้อของปลอมใหม่) ใครที่คิดจะเป็นนักเล่นนาฬิกาปลอม สิ่งแรกที่ต้องทำคือหาช่างที่ไว้ใจได้ไว้ก่อน ที่ต้องไว้ใจได้ ไม่ใช่เพราะเขาจะโกงหรอกครับ แต่เขาขี้เกียจหาอะไหล่ที่ตรงกับตัวเครื่องจึงมักบอกว่าซ่อมไม่ได้เสียแล้ว ช่างที่ไว้ใจได้ก็จะเก็บนาฬิกาไว้นานๆ โดยไม่ลืมไปเสีย แต่คอยจ้องหาอะไหล่ชิ้นนั้นให้จนได้

เหมือนของปลอมทั้งหลายในเมืองไทยนะครับ นาฬิกาปลอมก็มีหลายเกรด การปลอมของปลอมนั้นเกิดขึ้นเสมอ เช่นที่คนขายบอกว่าเครื่องญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นท็อปของเครื่องปลอม อย่าเพิ่งเชื่อ มันอาจเป็นรัสเซียหรือจีนก็ได้

คนขายนาฬิกาปลอมคนหนึ่งเคยสอนผมว่า วิธีดูง่ายๆ ซึ่งพอได้ผลบ้างก็คือ ลองชั่งน้ำหนักด้วยมือตนเองดู หากหนักมากๆ หน่อยก็น่าจะเป็นญี่ปุ่นจริง เขาอธิบายว่าเพราะเครื่องญี่ปุ่นมักทำด้วยทองแดง จึงทำให้หนัก

แต่ผมยังมีคำอธิบายแก่ตนเองอีกอย่างหนึ่งด้วยว่า นาฬิกาหรูจริงมักประกาศตนเองเป็น chronograph คือเป็นเครื่องวัดเวลาที่แม่นยำเป๊ะ ถ้าผมจำไม่ผิด ดูเหมือนมีมาตรฐานของนาฬิกาที่จะประกาศตนเองเป็น chronograph ได้ว่า ในหนึ่งปีต้องไม่คลาดเกิน 2 หรือ 3 นาที อะไรทำนองนั้น

จะให้เครื่องทำอย่างนั้นได้อย่างไร ผมเดาเอาจากความรู้งูๆ ปลาๆ ด้านจักรกลของผมว่า ต้องซอยเฟืองของจักรแต่ละชิ้นให้ละเอียด และด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องใช้จักรซ้อนกันหลายตัวมาก ทำให้แรงดันของลานสม่ำเสมอ ไม่ว่าลานจะตึงหรือหย่อน แต่ละติ๊กจึงเท่ากัน (เกือบ) เป๊ะ นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เครื่องมีน้ำหนักมาก

ส่วนนาฬิกาหรูจริงจะมีน้ำหนักมากอย่างนั้นหรือไม่ ผมไม่ทราบหรอกครับ เพราะไม่เคยได้จับนาฬิกาหรูจริงสักครั้งในชีวิต

ค่าของนาฬิกาปลอมอยู่ที่เครื่องไม่ได้อยู่ที่ตัวเรือน ผมไม่ทราบว่าตัวเรือนถูกปั๊มมาจากไหน แต่เขาว่ากันว่าไม่มีทางเหมือนกับของจริงได้เลย สมัยที่ผมยังเล่นนาฬิกาปลอมอยู่ เขาสอนให้ดูลายเส้นตัวหนังสือบนหน้าปัด โดยเฉพาะที่ตัวเล็กๆ เช่น Swiss made หรือชื่อรุ่น มันจะไม่คมเหมือนของจริง

ใช้กล้องขยายส่องเหมือนดูพระเครื่องก็ได้นะครับ แต่คนชำนาญอาจบอกได้ด้วยการมองผาดเดียวว่าปลอม ผมไม่รู้ว่าที่เขาบอกได้อย่างนั้นเพราะหน้าผมหรือหน้านาฬิกา แต่เขาบอกได้ล่ะครับ

มนุษย์ในทุกวัฒนธรรมแบ่งแยกกิจกรรมของตนเองตาม “เวลา” มานานแล้ว ในแง่นี้ในทุกวัฒนธรรมจึงใช้นาฬิกามาเก่าแก่ตั้งแต่ยังอยู่ในถ้ำ เพียงแต่ว่าเป็นนาฬิกาธรรมชาติเท่านั้น “นาฬิกา” ชีวภาพกำหนดพฤติกรรมของเราส่วนหนึ่ง ที่อยู่นอกตัวเราก็ยังมีนาฬิกาธรรมชาติอีกหลายอย่าง เช่น แสงของดวงอาทิตย์ แสงไฟฟ้าในปัจจุบันอาจทำให้เราลืมความสำคัญของแสงอาทิตย์ ซึ่งเปิดโอกาสให้เราทำอะไรที่ทำไม่ได้ในที่มืดมากมายหลายอย่าง ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการทำงานด้านชีวเคมีของแสงอาทิตย์นะครับ แค่แสงสว่างเพียงอย่างเดียวนี่แหละ เป็นนาฬิกาธรรมชาติที่กำหนดกิจกรรมเราไปครึ่งวันแล้ว

แม้แต่คำว่านาฬิกาก็มีคนบอกว่ามาจากคำว่านาฬิเกในภาษาบาลี ซึ่งแปลว่ามะพร้าว (หรือกะลามะพร้าว) ซึ่งเราใช้ในการวัดเวลาในอดีต (แต่พจนานุกรมบอกให้เทียบกับสันสกฤตว่านาฑิกาหมายถึงเครื่องกำหนดเวลา หากนาฑิกาจะเกี่ยวอะไรกับมะพร้าวหรือไม่ ท่านไม่ได้บอกไว้)

เราใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนดเวลาตลอดมา น้ำบ้าง (เช่น กะลามะพร้าวหรือ horologium ของโรมัน), แดดบ้าง, ทรายบ้าง, จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 จึงมีผู้ผลิตเครื่องกำหนดเวลาด้วยจักรกลขึ้นเป็นครั้งแรก ในระยะแรกก็ยังไม่มีลาน แต่ใช้ลูกตุ้มดึงให้จักรหมุนได้ (เหมือนนาฬิกานกในปัจจุบัน) ต่อมาจึงเติมลานเข้าไปเพื่อไม่ต้องใช้ลูกตุ้ม เครื่องดังกล่าวนี้ถูกพัฒนาขึ้นให้มีเข็มบอกเวลา แล้วต่อมาก็มีเสียงระฆังตีบอกเวลา หลังจากนั้นก็เพิ่มเสียง “ปลุก” ได้ด้วย เครื่องกำหนดเวลาทั้งหมดเหล่านี้ถูกเรียกว่า clock ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเอามาจากคำว่า clocca ในภาษาละติน แปลว่าระฆัง

ต่อมาก็มีคนปรับปรุงให้เครื่องกำหนดเวลานี้เล็กลง บุคคลสามารถพกพาไปไหนได้ด้วย นาฬิกาขนาดเล็กลงสำหรับพกพานี้ จะมี “ระฆัง” หรือไม่มีก็ได้ ถ้าไม่มีเรียกในภาษาอังกฤษว่า watch แปลว่า “ยาม” ในภาษาไทยนั่นแหละ คืนหนึ่งพวกโรมันแบ่งออกเป็นสี่ยาม พวกยิวแบ่งออกเป็นสามยามเหมือนไทย (21.00 น. – 24.00 น. และ 03.00 น. แสดงว่าการนับยามแบบไทยคงมีกำเนิดแถวตะวันออกกลาง ผ่านอินเดียและกัมพูชา (?) เข้ามาสู่ไทยอีกที)

(ประวัตินาฬิกานี้นำมาจาก Eric Bruton, The History of Clocks and Watches)

เครื่องจักรกลที่ทำให้นาฬิกาทำงานได้นี้ จะว่าไปก็เป็นสิ่งใหม่ในยุโรป ไม่ใช่ยุโรปไม่เคยมีจักรกลมาก่อนนะครับ การทดแรง, การเปลี่ยนทิศทางของแรง, การใช้จักรเพื่อเปลี่ยนการทำงานเช่นบดนั่นโม่นี่คงมีใช้มาแต่บรมสมกัลป์แล้ว แต่นาฬิกาเป็นเครื่องจักรกลที่สลับซับซ้อนอย่างยิ่ง ช่างต้องคำนวณจำนวนเฟืองให้เป๊ะ เพราะไม่แต่เพียงให้นาฬิกา “เดิน” ได้เท่านั้น แต่ต้อง “เดิน” ให้ตรงเวลาด้วย จักรกลที่ละเอียดซับซ้อนอย่างนี้ไม่เคยมีมาก่อนในยุโรป

ความรู้ในการสร้างจักรกลให้ทำงานอย่างซับซ้อนเช่นนี้แหละครับ ที่เปิดทางให้แก่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยเพียงพบแหล่งพลังงานใหม่ (ไอน้ำ) เท่านั้น แต่ต้องมีใครที่ชำนาญการเกี่ยวกับจักรกลแปรผันพลังงานนั้นให้มาทำงานตามที่ต้องการได้ด้วยเฟืองจักรตัวนี้ ไปผลักเฟืองจักรตัวนั้น… ตัวโน้น, ตัวนู้น, ตัวโน้นนน, ฯลฯ ไปเรื่อยๆ จนได้เข็มมาเย็บผ้าขึ้นๆ ลงๆ อย่างรวดเร็ว ช่างนาฬิกานี่แหละครับคือผู้ประดิษฐ์ และผู้คอยรักษา เครื่องจักรในรุ่นแรกๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม

เครื่องนาฬิกา (ซึ่งไม่ใช่ควอตซ์) จึงสะท้อนความเป็นมนุษย์ และอารยธรรมของมนุษย์ที่สั่งสมมาเนิ่นนาน แม้แต่นาฬิกาปลอมก็เป็นส่วนหนึ่งของความงดงามนี้ด้วย

(ผมจำได้ว่าเมื่อพูดอย่างนี้ในวันหนึ่ง อาจารย์ฉลอง สุนทราวนิช สะกิดผมแล้วบอกว่า พี่สมัยนี้เขาปั๊มขึ้นมาด้วยเครื่องจักรทั้งก้อนแหละครับ ไม่ได้เอาจักรมาเสียบทีละตัวอย่างที่พี่พูดหรอก มันก็จริง แต่ไม่อาจทำลายความรู้สึกสยบยอมต่อเครื่องนาฬิกาของผมได้)

ความสามารถของช่างนาฬิกาเป็นซอฟต์แวร์อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ยังมีซอฟต์แวร์อีกอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน นั่นคือความคิดเกี่ยวกับ “เวลา”

คนที่เข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมในระยะแรกๆ นั้น เกือบทั้งหมดคือคนที่ไม่เคยชินกับเวลาที่มากับนาฬิกาเครื่องกล โดยเฉพาะฝ่ายแรงงานซึ่งเพิ่งถูกขับออกจากที่นาของตนไม่นานก่อนหน้า พวกเขาทำกิจกรรมตามเวลาที่กำหนดโดยนาฬิกาธรรมชาติ ซึ่งยืดหยุ่นได้ตามความจำเป็นของแต่ละคน นอกจากแต่ละคนแล้ว ยังแต่ละสถานการณ์ส่วนตัวของเขาด้วย

หน้าหนาวซึ่งเหลือเวลากลางวันสั้นลง ก็เป็นฤดูที่กิจกรรมในไร่นาลดลงหรือไม่มีไปด้วย นาฬิกาธรรมชาติกำหนดว่า ก่อนเข้าหน้าหนาว คือเวลาที่จะต้องซ่อมแซมบ้านเรือน อุดรูต่างๆ ที่จะทำให้ลมหนาวแทรกเข้ามาในตัวเรือนได้ กิจกรรมนี้ทำเท่ากับที่มีแรงจะทำ เช่นครอบครัวที่มีลูกชายมากก็อาจทำเสร็จได้ในเร็ววัน ครอบครัวที่มีสามีเป็นแรงงานคนเดียว ก็ต้องค่อยทำค่อยไปกว่าจะเสร็จหลายวัน ดังนั้น เขาจึงอาจเริ่มงานก่อนเพื่อนบ้าน

สังเกตนะครับว่า นาฬิกาธรรมชาติให้อิสรภาพในการจัดกิจกรรมระดับที่สูงมากทีเดียว

แต่เวลาในโรงงานซึ่งมากับเสียงหวูด ไม่อนุญาตให้ต่อรองหรือจัดลำดับของกิจกรรมตามการตัดสินใจที่อิสระเสรี โรงงานมีเวลาอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่เคยมีใครประสบมาก่อน เป็นเวลาที่กำหนดกิจกรรมตายตัว หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำและทำให้เสร็จทันเวลาด้วย จึงเหมือนย่างเข้าไปในโลกต่างดาวโดยแท้

ถ้ากรรมกรไม่เรียนรู้และซึมซับเอาเวลาแบบจักรกลเข้ามาเป็นเวลาของตน ก็คงอยู่ในโรงงานต่อไปไม่ได้ อาจต้องรวมตัวกันยกไปรบกับเจ้าที่ดินเพื่อชิงเอาที่ดินของตนคืนมา การผลิตแบบโรงงานกลายเป็นแบบแผนการผลิตของทุนนิยมอุตสาหกรรมสืบมาได้ ก็เพราะกรรมกรในระยะแรกได้เรียนรู้และซึมซับเอาเวลาแบบต่างดาวนี้เข้าไปในตัวแล้ว ผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่า ความหิวก็มีส่วนอยู่ไม่น้อย แต่นอกจากความหิวแล้ว ยังมีเรื่องของความคิดเกี่ยวกับเวลาที่ต้องเปลี่ยนไปอยู่ด้วย

แม้ความรู้เพียงน้อยนิดที่ผมมีเกี่ยวกับนาฬิกา ก็ทำให้การ “เล่น” นาฬิกาสนุกถึงเพียงนี้ แน่นอนผมย่อมเลือกเอาความรู้ประเภทที่ทำให้จะ “เล่น” นาฬิกาจริงหรือปลอมก็สนุกไม่ต่างกัน