ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
มนตรา ลึกลับ
ตรึงขึง จิตร ภูมิศักดิ์
ส่งผล สะเทือน
การก้าวเข้าไปบนถนนสาย จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวสำหรับ ชลธิรา สัตยาวัฒนา ก็เช่นเดียวกับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และก็เช่นเดียวกับ สุชาติ สวัสดิ์ศรี
เพียงแต่แต่ละรากฐานสะท้อนถึงจุด “ต่าง”
แรกทีเดียว ไม่ว่า ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ไม่ว่า สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไม่ว่า ชลธิรา สัตยาวัฒนา ล้วนเป็น “เสรีนิยม”
มิได้มีกลิ่นอาย “ซ้าย” ยิ่งกลิ่นอาย “มาร์กซิสต์” ยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึง
การศึกษาทำความเข้าใจว่าด้วยเหตุปัจจัยอันใดทำให้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ชลธิรา สัตยาวัฒนา ตกอยู่ในลักษณาการเดียวกัน
นั่นก็คือ ต้อง “มนต์” ของ จิตร ภูมิศักดิ์
จึงมีความสำคัญ จึงทรงความหมาย ทั้งในทาง “ความคิด” ทั้งในทาง “การเมือง” อย่างลึกซึ้ง
นี่ก็เช่นเดียวกับสถานการณ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์
ตัวตน วัยเยาว์
ของ จิตร ภูมิศักดิ์
จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดที่ปราจีนบุรี ศึกษาระดับประถมที่กาญจนบุรี ระดับมัธยมต้นที่พระตะบอง มัธยมปลายที่วัดเบญจมบพิตร
จากนั้น ผ่านเตรียมอุดมเข้าสู่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยพื้นฐานเขาก็เหมือนเด็กไทยทั่วไปที่ถูกครอบงำโดยหลักสูตรที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่แผ่นดินของรัชกาลที่ 5 ยิ่งกว่านั้น ยังได้รับความคิดชาตินิยมที่ฝังลึกในห้วงก่อนและหลังสงครามอินโดจีน
หากมองผ่านงานเขียนก็จะเห็นพัฒนาการของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เป็นลำดับ
จิตรชอบอ่านและเขียนหนังสือตั้งแต่อยู่มัธยม มีความนิยมศิลปวัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด สนใจอ่านหนังสือหลักๆ เช่น โบราณวัตถุ, พงศาวดารกัมพูชา, ตำนานอักษรไทย, ประชุมจารึก เป็นต้น
เมื่อบารมีแก่กล้าก็เขียนเรื่อง “กำเนิดลายสือไทย” ลงในหนังสือ “เยาวศัพท์” ของคณะสมาคมนักเรียนแห่งประเทศไทย
ทั้งยังเขียนบทความทางภาษาและวรรณคดีไทยไปลงในหนังสือที่มีชื่อทางด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็น “ปาริชาติ” ไม่ว่าจะเป็น “วงวรรณคดี” ไม่ว่าจะเป็น “วิทยาสาร” กระทั่ง ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ นักโหราศาสตร์และนักวรรณคดีในแนวคลาสสิค ฟันธงว่า
“ด้วยท่วงทำนองและวิธีการเขียนวิธีอ้างอิงที่ไม่ซ้ำแบบกับใคร
จากการค้นคว้าเอกสารและการติดต่อไต่ถามผู้ใหญ่ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ต่อไปเด็กหนุ่มผู้นี้จะเป็นแก้วอีกดวงหนึ่งของคนไทย ถ้าหากเขาไม่ละทิ้งความพิสมัยในวรรณคดีนั้นเสีย”
แต่ จิตร ภูมิศักดิ์ ดูเหมือนจะไม่พอใจอยู่เพียงนั้น
ผลจาก อักษรสาส์น
สุภา ศิริมานนท์
นอกจากจะให้ความสนใจในด้านวรรณคดี และค้นคว้าทางภาษาถึงขนาดที่ ทวีป วรดิลก ยืนยันออกมาว่า “สามารถอ่านศิลาจารึกของชอบเมื่อหลายพันปีก่อนได้ และวรรณคดีเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยา
เขาสามารถวินิจฉัยได้ว่า คำไหนที่ใช้ในยุคไหน” แล้ว
จิตร ภูมิศักดิ์ ยังมีนิตยสาร “อักษรสาส์น” อันถือกันว่าเป็นนิตยสารที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการให้แสงสว่างทางภูมิปัญญาแก่บรรดาผู้สนใจในวัฒนาการของสังคมในระหว่างปี 2493-2495 ครบทุกเล่ม
ในช่วงหลังจากถูกโยนบกและเข้าไปทำงานหนังสือพิมพ์มีเงื่อนไขที่ดีบางประการสำหรับ จิตร ภูมิศักดิ์ ในการศึกษาค้นคว้า
ด้านหนึ่ง ได้หนังสือทางวิชาการจำนวนมากจากที่ ดร.เกตนีย์ยกให้
ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งเขาเริ่มได้ศึกษางานเขียนที่ก้าวหน้า เช่น จาก “พระลอถึงศรีบูรพา” ของ “อินทรายุธ” และ พ.เมืองชมภู “อัตถนิยมกับจินตนิยม” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์
ต่อจากนั้น ก็อ่าน “ชุมนุมปาฐกถาภาคฤดูร้อนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” อ่าน “แคปิตะลิสม์” ของ สุภา ศิริมานนท์ และอ่านงานของ อรัญ พรหมชมภู
มิตร ร่วมรบ ยืนยันผ่าน “ชีวประวัติบางตอนของ จิตร ภูมิศักดิ์” ว่า
หนังสือที่กล่าวข้างต้นปูพื้นลัทธิมาร์กซ์-เลนินให้แก่ จิตร ภูมิศักดิ์ หลังจากนั้นเขาก็พยายามศึกษาค้นคว้าเอาจากภาษาอังกฤษ ที่สำคัญคือในระหว่างปี 2497-2498 เขามี “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” ของมาร์กซ์, เองเกล “สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง” ภาษาอังกฤษ “ปัญหาลัทธิเลนิน” ของสตาลิน
ได้มุมานะอ่านหนังสือเหล่านี้อย่างจริงจัง
กล่าวได้ว่า การถูกสั่งพักการเรียนคือช่วงแห่งการศึกษาอย่างทุ่มเทและช่วงแห่งการก้าวกระโดดใหญ่ทางความคิดแห่งชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์
ภาษา วรรณคดี
สู่ มาร์กซ์ เลนิน
หากถามว่าก้าวกระโดดใหญ่อย่างไร คำตอบก็คือ การก้าวจากนักศึกษาภาษาและวรรณคดีตามแผนเดิมที่นิยมกันในหมู่นักปราชญ์และนักวรรณคดีในขณะนั้นมาเป็นนักศึกษาทางภาษาและวรรณคดี
“โดยมีลัทธิมาร์กซ์-เลนินและความคิดเหมาเจ๋อตงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ” ดังบทสรุปของ มิตร ร่วมรบ
นับแต่ปี 2498 เป็นต้นมา งานกวีนิพนธ์ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็มิได้เป็นแบบ “วจีจากน้อง” อันเป็นภาพสะท้อนของกวีโดยทั่วไปที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คือ เอาความไพเราะของ “รสคำ” เป็นหลัก
ความคิดหรือ “รสความ” เป็นเรื่องรอง ดังบทสรปของ ทวีป วรดิลก
หากเขียนออกมาอย่างแจ่มชัดในทิศทางที่ว่า “ศิลปะทั้งผองต้องเอื้อเพื่อชีวิต มองมวลมิตรผู้ใช้แรงทุกแห่งหน ใช่เพื่อศิลปะอย่างที่นับสัปดน ใช่เพื่อคนศิลปินชีวินเดียว”
เส้นทางของ จิตร ภูมิศักดิ์ จึงพัฒนาการดังที่ สุภา ศิริมานนท์ ได้สรุปและประมวลออกมาอย่างเป็นระบบและอย่างรวบรัด
ต้องอ่านประกอบกับส่วนเสริมในแต่ละกระบวนแห่งความคิด
ประมวลสรุป เส้นทาง
ความคิด จิตร ภูมิศักดิ์
ตลอดเวลาหลายปีที่ได้รู้จักกันจนกระทั่งเขาจากไป จิตร ภูมิศักดิ์ มีความสำนึกที่หนักแน่นที่สุดอันหนึ่งที่ว่า เขามีภารธุระ (หมายถึงภารกิจทางประวัติศาสตร์) ที่จะต้องทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์ส่วนใหญ่
ต้องช่วยทำช่วยส่งเสริมให้มนุษย์ส่วนใหญ่มีความเจริญก้าวหน้า มีสถาพรภาพ มีความเป็นธรรมในสังคมโดยถ้วนหน้า
เขาจึงได้ดำเนินการต่อสู้ตลอดมา
เขาได้เคยทดลองต่อสู้ตามแนวที่บัณฑิตทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีรุ่นเก่าได้เคยทำดังที่ได้เขียนเรื่องแบบ “พิมายด้านจารึก” แต่วิธีเหล่านั้นให้คำตอบสุดท้ายแก่เขาไม่ได้ วิธีเหล่านั้นล้วนแต่เป็นทางตันและมิได้เป็นไปเพื่อความดีขึ้นของมนุษยชาติ
และในที่สุดเขาก็ได้ค้นพบตามวิธีการตามแนววัตถุนิยมประวัติศาสตร์ซึ่งเป็น
“หลักและเงื่อนไขที่ให้ความสว่างไสวแก่ภูมิปัญญาของเขาอย่างแจ่มชัดที่สุด และเขาได้ยอมรับเชื่ออย่างฝังลึก เนื่องจากมันเป็นหลักและเงื่อนไขซึ่งเกาะแน่นอยู่กับประชาชน”
ดังที่ สุภา ศิริมานนท์ ได้สรุปไว้ใน “แนวความคิดของ จิตร ภูมิศักดิ์ เกี่ยวกับสังคมไทย”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022