2 คดีสะเทือนวงการยุติธรรม รวบอัยการเก๊-คาเครื่องแบบ อีกรายโดนจับคาโต๊ะทำงาน เรียกรับ 2 แสนแลกเคลียร์คดี

นาทีตำรวจนำหมายจับเข้าควบคุมตัวคาเครื่องแบบ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวของ อัยการกำมะลอ นับว่าสะเทือนความเชื่อมั่นศรัทธาของกระบวนการยุติธรรม

ทำให้สำนักงานอัยการสูงสุดต้องสั่งทบทวนมาตรการคัดเลือกบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมในภาคประชาชนให้เข้มงวดมากขึ้น

 

จับอัยการเก๊คาเวทีบรรยาย

ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งย่านนนทบุรี กำลังเจ้าหน้าที่ สน.ตลิ่งชันเข้าจับกุมนายมงคล ปรีสุขเกษม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาตลิ่งชัน ในความผิดฐานกระทำความผิดฐานกระทำโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สำนักงานอัยการสูงสุดโดยไม่มีสิทธิ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ และ พ.ร.บ.เครื่องหมายราชการ พ.ศ.2482 ตามความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 146 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

นายมงคลถูกจับกุมขณะแต่งเครื่องแบบอัยการเต็มยศขึ้นบรรยายกฎหมายให้นักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวฟัง

นายมงคล ปรีสุขเกษม อัยการเก๊

นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงเบื้องหลังการบุกจับกุมครั้งนี้ว่า บุคคลดังกล่าวแอบอ้างเป็นอัยการ สวมเครื่องแบบเป็นอัยการโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งคดีนี้อัยการสำนักงานคดีอาญาตลิ่งชัน ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย และมีอีกหลายเรื่องที่เป็นการแอบอ้างเป็นอัยการ

หลังการจับกุมหลายหน่วยงานได้ติดต่อสอบถามข้อมูล เพื่อรวบรวมหลักฐานทยอยแจ้งความ ซึ่งจะต้องดำเนินคดีต่างกรรม ต่างวาระ

และยังพบว่ามีพยานพบเห็นนายมงคลยังมีพฤติการณ์แต่งกายคล้ายเครื่องแบบปกติขาวและกากี และเครื่องหมายแสดงสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ผ่านเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

นอกจากนี้ นายมงคลยังถ่ายภาพร่วมกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยงานราชการต่างๆ จนทำให้มีผู้หลงเชื่อว่าเป็นข้าราชการอัยการจริง

โพสต์ภาพถ่ายกับบุคคลสำคัญ

ขณะที่การตรวจสอบประวัติย้อนหลังไป พบว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกแต่เจ้าตัวมีพฤติกรรมแอบอ้างมานาน โดยเมื่อช่วงปี พ.ศ.2565 นายมงคลเป็นที่ปรึกษาอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนในลักษณะที่ปรึกษาส่วนตัว โดยไม่ได้จัดพื้นที่หรือห้องให้ปฏิบัติงาน

อีกทั้งปัจจุบันอธิบดีอัยการได้ขยับขึ้นเป็นรองอัยการสูงสุดแล้ว อธิบดีอัยการสำนักการสอบสวนคนปัจจุบัน ไม่ได้แต่งตั้งนายมงคลเป็นที่ปรึกษา ดังนั้น นายมงคล จึงไม่สามารถแอบอ้างใช้ตำแหน่งได้อีก

แต่ปรากฏว่านายมงคลไม่หยุดพฤติกรรม

นอกจากการแอบอ้างตำแหน่งไปเดินสายบรรยายอบรมแล้ว นายมงคลได้แอบอ้างเป็นอัยการรุ่นพี่ ไปจีบอัยการหญิงท่านหนึ่ง แต่เมื่อตรวจสอบประวัติไม่พบเป็นอัยการ นอกจากนี้ นายมงคลยังได้อ้างตำแหน่งอัยการไปตามจีบตำรวจหญิงด้วย

จากที่ตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิด 16 กรรม ทั้งคดีข่มขู่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ การใช้คำสั่งแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาไปใช้ขอเครื่องหมายจากหน่วยราชการต่างๆ บางกรณีขึ้นไปถึงสำนักงานอัยการจังหวัดอ้างว่าเป็นอัยการชั้น 5 และไปขอดูสำนวนไปขอดูพยานหลักฐานต่างๆ โชคดีที่อัยการที่อยู่สถานที่ไม่หลงเชื่อตรวจสอบพบว่าไม่ได้เป็นอัยการจริงๆ

นอกจากนี้ นายมงคล ยังโพสต์ภาพตนเองขณะแต่งกายเครื่องแบบปกติขาวของข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยประดับเครื่องหมายคล้ายเครื่องหมายของสำนักงานอัยการสูงสุดในลักษณะเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ให้คนอื่นเข้าใจว่าเจ้าตัวเป็นข้าราชการฝ่ายอัยการ

และยังได้แต่งกายเครื่องแบบ ถ่ายภาพร่วมกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยงานราชการต่างๆ จนทำให้มีผู้หลงเชื่อว่าเป็นข้าราชการอัยการจริง

สำนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวนจึงดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับนายมงคล เมื่อวันที่ 5 มกราคม ต่อพนักงานสอบสวน สน.ตลิ่งชัน จนพนักงานสอบสวนขอออกหมายจับและศาลอนุญาตหมายจับเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน จนมีการบุกจับกุมตัวได้เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

นายมงคล ปรีสุขเกษม แต่เครื่องแบบเต็มยศ

พฤติกรรมโฉ่โผล่อีก

พฤติกรรมของอัยการกำมะลอรายนี้ยังผุดออกมาเรื่อยๆ โดยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ในไลน์กลุ่มของอัยการ ได้มีการแชร์ หนังสือรับรองที่ อส 0058 (ธัญบุรี)/พิเศษ ของสำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ถนนรังสิต-นครนายก ปทุมธานี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 รับรองว่า นายมงคล เป็นที่ปรึกษาอธิบดีอัยการงานการสอบสวน รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด มีตำแหน่งเทียบเท่าข้าราชการอัยการระดับ 5 เทียบเท่าตำแหน่งผู้บริหาร ปฏิบัติราชการ ให้เกิดผลดีแก่สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้มีระเบียบวินัย มีคุณธรรม มีความประพฤติเรียบร้อย ช่วยเหลืองานราชการในสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยความเรียบร้อยและสุจริต ขอรับรองว่าข้อความนี้เป็นความจริงทุกประการ ดังนั้น จึงออกหนังสือรับรองตำแหน่งและความประพฤติของนายมงคล

สำหรับการขอหนังสือรับรองดังกล่าว เนื่องจากนายมงคลจะไปขอเครื่องหมายอาสายิ่งชีพของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการจะขอได้มักจะเป็นข้าราชการระดับอัยการชั้น 5 ขึ้นไป และเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย

โดยหนังสือรับรองดังกล่าวเป็นที่วิพากวิจารณ์ว่าเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจกระทำได้ เนื่องจากตำแหน่งที่ปรึกษาอธิบดีอัยการเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาเองส่วนตัว ไม่สามารถเทียบเท่ากับชั้นใดๆ ของอัยการได้เลย และไม่มีในระเบียบกฎหมายของอัยการ สำหรับอัยการชั้น 5 เป็นตำแหน่งเทียบเท่าระดับอัยการจังหวัดหรืออัยการผู้เชี่ยวชาญ

นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เล่าพฤติกรรมของนายมงคล ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้เคยแอบอ้างเป็นที่ปรึกษาอัยการสูงสุด ข่มขู่จะทำร้ายดาบตำรวจนายหนึ่ง ที่สำนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี จึงถูกฟ้องร้องดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ศาลตัดสินจำคุก 1 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท แต่ผู้ต้องหารับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ จำคุก 15 วัน ปรับ 5,000 บาท โทษรอลงอาญา 2 ปี

แต่ยังไม่พ้นช่วงเวลาโทษรอลงอาญา 2 ปี นายมงคลได้สร้างวีรกรรมอีกครั้ง ก่อเหตุคุกคามอัยการหญิงท่านหนึ่งในเชิงชู้สาว และบุกเข้าไปที่บ้านฝ่ายหญิง ขณะแต่งกายแอบอ้างเป็นพนักงานอัยการ และโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย

หลังเกิดเหตุการณ์นี้ สำนักงานอัยการสูงสุดเร่งทบทวนและหามาตรการ คัดเลือกบุคคลเข้ามามีส่วนร่วมภาคประชาชนให้มากขึ้น และจะเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น โดยยึดหลักภายใต้ระเบียบอย่างเคร่งครัด และคัดกรองบุคคลที่จะมีส่วนร่วมภาคประชาชนให้ละเอียดขึ้น และหากใครกระทำผิดลักษณะนี้ จะดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด และเร่งรัดการให้ได้รับโทษโดยเร็วเพื่อไม่ให้ประชาชนถูกหลอก และทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

แม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของกระบวนการยุติธรรม และถือว่ายังโชคดีที่อัยการกำมะลอคนนี้ ยังไม่ไปถึงขั้นหลอกรีดเงินชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ อ้างในการช่วยเหลือวิ่งเต้นคดี ต่างกับอีกรายที่เป็นอัยการจริง แต่กลับใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

นาทีบุกจับอัยการเมืองคอน คาสำนักงานพร้อมเงินสดของกลาง

อัยการจริงก็มี-โดนคดีรีดเงิน

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยนายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. และ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. และ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. นำกำลังบุกเข้าจับกุมนายชาตินรินทร์ เกตุกำพล อายุ 53 ปี อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้กลั่นกรอง (หัวหน้าองค์คณะอัยการ) ตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ จ.60/2567 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ภายในห้องทำงานสำนักงานอัยการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมของกลางเงินสด 150,000 บาท

การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากมีผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีข้อหาลักทรัพย์โฉนดที่ดิน ร้องเรียนว่าถูกอัยการรายนี้เรียกรับเงิน 2 แสนบาท อ้างว่าสามารถเคลียร์คดีที่อยู่ในชั้นอัยการได้ จึงตัดสินใจยอมจ่ายเงินงวดแรกให้ไปก่อนจำนวน 5 หมื่นบาท หลังจากนั้นนำเรื่องเข้าปรึกษากับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. จนมีการบูรณาการกำลังร่วมกับตำรวจ บก.ปปป.และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลออกหมายจับ

หลังจากนั้นวางแผนให้ผู้เสียหายนัดหมายกับนายชาตินรินทร์ว่า จะนำเงินที่เหลืออีก 150,000 บาท ไปจ่าย โดยนายชาตินรินทร์แจ้งให้นำไปจ่ายถึงห้องทำงานในสำนักงานอัยการประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจ่ายเงินดังกล่าวแล้วเจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าไปจับกุมพร้อมของกลางเงินสดดังกล่าว เบื้องต้นเจ้าตัวให้การปฏิเสธ

นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดทราบเรื่องและมีคำสั่งให้ย้ายอัยการคนดังกล่าวเข้ามาส่วนกลางโดยด่วน และยังสั่งการให้นายฉัตรชัย ใจดี อธิบดีอัยการภาค 8 รายงานข้อเท็จจริงเข้ามาด่วน

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลีกเลี่ยงที่จะกระทบภาพลักษณ์องค์กรไม่ได้ หากผลการตรวจสอบออกมาจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดทั้งในคดีอาญาและวินัย ที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุดถือว่า เรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องที่กระทบต่อภาพลักษณ์กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อองค์กรอัยการอย่างร้ายแรง ที่ผ่านมาถ้าเกิดเหตุทำนองนี้สำนักงานอัยการจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดทุกเรื่อง” นายประยุทธกล่าวยืนยัน

อัยการนับว่าเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของกระบวนการยุติธรรม หากไม่ได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาเสียแล้ว ย่อมสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด