เปลี่ยนม้ากลางศึก? เขย่าเก้าอี้ ‘บิ๊กทิน’ ภาค 2 กระแสปรับ ครม. สะเทือน โผทหาร จับตา ‘ดีล’ กห. เปลี่ยน

หลังมีสัญญาณชัดว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะได้ไปต่อ จะรอดคดีศาลรัฐธรรมนูญ คดีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต. ที่จะวินิจฉัย 14 สิงหาคมนี้ กระแสการปรับคณะรัฐมนตรีก็เริ่มสะพัด

โดยพุ่งเป้ามาที่เก้าอี้ รมว.กลาโหม ที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหมพลเรือนที่นั่งมาจะครบ 1 ปีแล้ว

มีทั้งกระแสข่าวเดิม หวนกลับมาใหม่ ว่า ถึงเวลาที่นายเศรษฐาจะมาควบ รมว.กลาโหมแล้ว หลังจากที่ให้นายสุทินเป็นให้ครบปีก่อน โดยมีชื่อบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม ที่กอด “ดีล” รอคิวมานาน เป็นตัวเต็ง รมช.กลาโหม

คาดว่ากระแสข่าวนี้ เกิดจากการที่ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลาออกจาก ส.ส. เป็นการรับประกันว่า จะไม่หลุดจากเก้าอี้ รมต. ในฐานะบ้านใหญ่โคราช จึงยังคงเหลือเพียงนายสุทินที่ยังไม่ได้ถูกสะกิดให้ลาออก

แต่กระแสข่าวใหม่ ก็ควบคู่มาติดๆ ว่า นายเศรษฐาต้องการทุ่มเทการทำงานในตำแหน่งนายกฯ เพียงตำแหน่งเดียว ไม่ควบ รมว.กลาโหม ยังคงให้นายสุทินทำหน้าที่ต่อไป

เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นที่ยอมรับ ในภาพลักษณ์ของ รมว.กลาโหมพลเรือนที่เป็นนักการเมืองสายต่างจังหวัด และสามารถเข้าใจกองทัพ และชี้แจงแทนกองทัพได้ดี

 

 

นายสุทินเองก็ดูมั่นใจในผลงาน และกองหนุน จึงได้กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี ที่อาจหลุดโผ ครม.นั้นว่า ก็มีข่าวแบบนี้มาเรื่อยๆ ไม่น่าวิตกอะไร

แต่ตาม “ดีล” ที่มีกับขั้วอนุรักษนิยม จะต้องมีบิ๊กทหารมาเป็น รมช.กลาโหม ตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล แต่ทว่า นายสุทินยังคงเหนียว ยังได้ไฟเขียวให้นั่งเก้าอี้สนามไชย 1 ต่อไป

ประการหนึ่ง เพราะการเป็นพลเรือน เป็นนักการเมืองอีสาน เป็นอดีตครูบ้านนอก ที่เป็นความโดดเด่นของนายสุทิน ที่บรรดา ผบ.เหล่าทัพ และนายทหารในกองทัพส่วนใหญ่แฮปปี้กับบทบาทของนายสุทิน

อีกประการหนึ่งคือ ต้องการเพิ่ม รมช.กลาโหม ที่เป็นทหาร มาเสริมการทำงานของนายสุทินให้แข็งแกร่งขึ้น

แต่ทว่า กระแสข่าวที่ออกมา กลับไม่ใช่ พล.อ.ณัฐพล สายตรงบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และอดีตนายกฯ ที่วางตัวไว้ตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาล

เพราะก่อนหน้านี้ พล.อ.ณัฐพลถูกอดีตคนเสื้อแดงต่อต้าน และการทำงานในกลาโหมก็ไม่ค่อยราบรื่นนัก และในระยะหลังนายสุทินก็ไม่ค่อยมอบหมายงานเท่าใดนัก เพราะมักจะมอบหมายงานให้บิ๊กอั๋น พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ที่ปรึกษา รมว.กลาโหม มากกว่า

ดังนั้น อาจเป็นนายทหารขั้วกลาง ที่เป็นทั้งสายพี่น้อง 3 ป. ขั้วอีลีต และทหารสายสีแดง พรรคเพื่อไทย ที่สนิทสนมกับทหารขั้วชินวัตร จนทำให้มีชื่อของบิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกลาโหม ที่ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ถูกขานชื่อขึ้นมา

แต่พร้อมๆ กัน ก็มีข่าวว่า พล.อ.นิพัทธ์ เสนอชื่อบิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.14 อดีตทหารเสือราชินี ร.21 รอ. และเคยเป็น รมช.กลาโหม ในรัฐบาล คสช. และอดีตเลขาธิการ คสช. เป็นแคนดิเดต รมช.กลาโหมด้วย

 

นอกจากนี้ ภาพประวัติศาสตร์ในงานพระราชทานเพลิงศพมารดาของนายเศรษฐา ที่วัดเทพเทพศิรินทร์ สายตาและภาษากายของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับ พล.อ.ประยุทธ์ และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร สะท้อนความรอมชอม และตอกย้ำว่า “ดีล” ที่มีอยู่จริง

จึงมีข่าวว่าทางขั้วอนุรักษนิยมจะเสนอชื่อบิ๊กทหารเกษียณ มาเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้ รมช.กลาโหม แทนชื่อ พล.อ.ณัฐพลด้วย

โดยมีกระแสข่าวว่า หลังนายเศรษฐารอดจากศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการปรับ ครม.ต่อเลย ในตำแหน่งที่ว่างอยู่

โดยเฉพาะหลังจากที่นายสุทินได้เข้าพบนายเศรษฐาบนตึกไทยคู่ฟ้า เมื่อบ่าย 7 สิงหาคมที่ผ่านมา

หากมีการปรับ ครม.ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ก็สะท้อนได้ว่า อาจหวังผลเรื่องการจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลประจำปี 2567

เพราะตามกำหนดเดิมกลาโหมนัดให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ส่งบัญชีรายชื่อมารวมที่ พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ภายใน 15 สิงหาคมนี้ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนด้านธุรการและการหารือนอกรอบ ระหว่างนายสุทิน กับ พล.อ.สนิธชนก และ ผบ.อ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่จะร่วมคณะนายสุทินเดินทางไปเยือนเพนตากอน สหรัฐอเมริกา 15-25 สิงหาคมนี้

หากปรับ ครม. แล้วมี รมช.กลาโหม มาเพิ่ม ก็จะทำให้คณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลของกลาโหม หรือ “บอร์ด 6 เสือกลาโหม” ได้กลายเป็น 7 เสือกลาโหมตามปกติ

ท่ามกลางการจับตามองว่า หากมีการปรับเปลี่ยน รมว.กลาโหม หรือ รมช.กลาโหม ในช่วงการจัดโผโยกย้าย อาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ โดยเฉพาะจำนวนเสียงของฝ่ายการเมือง เพิ่มจาก 1 เป็น 2 เสียง

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับในพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551 ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการไม่สามารถตกลงกันได้ในบางตำแหน่ง ก็ให้ใช้การโหวต

เดิม 6 เสือกลาโหม ที่มี รมว.กลาโหม ปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. เสียงฝ่ายการเมืองจะมีแค่ 1 เสียง แต่ตามระเบียบ พบว่าหากเสียงโหวตก้ำกึ่งเท่ากัน แต่ รมว.กลาโหม ในฐานะประธาน จะสามารถโหวตตัดสินในท้ายที่สุด

แต่อย่างไรก็ตาม การจัดโผทหาร เป็นอำนาจของ ผบ.เหล่าทัพอยู่แล้ว แต่ฝ่ายการเมืองก็มีอำนาจในการร่วมพิจารณากลั่นกรอง ให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรม และตามหลักเกณฑ์

โดยมีข่าวสะพัดว่า ฝ่ายการเมืองไม่ต้องการให้กองทัพตกอยู่ในสภาพของการมีขั้วอำนาจใดเป็นเจ้าของยาวนาน แต่ต้องให้ความเป็นธรรมให้ถ้วนหน้า

โดยเฉพาะเก้าอี้ ผบ.ทบ. ที่แม้การเมืองแทรกแซงไม่ได้ แต่ให้ความเป็นธรรมได้ เพราะแคนดิเดต ผบ.ทบ. ก็เป็นทหารคอแดงทั้งคู่ และไม่ใช่สายอำนาจชินวัตรใดๆ ดังนั้น รัฐบาลจะไม่ถูกมองว่าแทรกแซงเพื่อหวังเอานายทหารของตนเองขึ้นมากองทัพ

จึงทำให้ชื่อของบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ ผช.ผบ.ทบ. แกนนำ ตท.24 แซงโค้งมาเป็น ผบ.ทบ.สายพิราบ ขณะที่บิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสธ.ทบ. (ตท.26) นั้น ถูกมองว่าเป็นสายตรงของสายอีลีตขั้วอำนาจเก่า

แต่หากความเห็นของ ผบ.เหล่าทัพนั้นๆ ไม่ตรงกับ ผบ.เหล่าทัพคนอื่นและบอร์ดส่วนใหญ่ ก็จะต้องโหวตตามหลักการประชาธิปไตย

สําหรับเก้าอี้ ผบ.ทร. ที่แคนดิเดตมี 4 คน แต่รู้กันดีว่า พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. สนับสนุนบิ๊กโอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผช.ผบ.ทร.จาก ตท.23 บิ๊กน้อย พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสธ.ทร. จสก. (ตท.24) และ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ทร. รุ่นน้อง ตท.25 ที่อาวุโสสูงสุด

บิ๊กเต๊ะ พล.ร.อ.สุพพัต ยุทธวงศ์ รองปลัดกลาโหม ที่มีกระแสข่าวในกลาโหมว่า พล.อ.สนิธชนกสนับสนุน เพราะเป็นเพื่อน ตท.24 ด้วยกัน และอยู่กลาโหมมาด้วยกัน

แต่ถ้าเทียบเส้นทางเดิน โปรไฟล์ ประวัติแล้ว พล.ร.อ.สุวินโดดเด่นที่สุด เพราะอยู่ในตำแหน่งหลักมาตลอด นอกเหนือจากที่ครองอาวุโสสูงสุด

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ พล.ร.อ.อะดุงจะยอมให้มีการโหวต เพราะหากเสนอชื่อ พล.ร.อ.ชลธิศ ขึ้นไปแล้วถูกกระแสโจมตีในเรื่องเก่าๆ ที่เคยถูกร้องเรียน ก็จะเสนอชื่อ พล.ร.อ.วรวุธ และ พล.ร.อ.สุพพัต สู้ตามลำดับ แต่ก็เสียเปรียบในเรื่องประวัติ เส้นทางเจริญเติบโต

เพราะถึงอย่างไร ผบ.เหล่าทัพย่อมมีความชอบธรรมในการตัดสินใจ ยกเว้นในกรณีที่เกิดความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

เช่น พล.อ.ธราพงษ์ ที่เคยถูก พล.อ.พนา ปาดหน้าแซงเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในโยกย้ายตุลาคม 2565 ส่วน พล.ร.อ.สุวิน ก็ถูกมองว่าเป็นรุ่นน้อง ต้องยอมให้รุ่นพี่เป็น ผบ.ทร.ก่อน มาแล้ว 2 ครั้ง แต่มาปีนี้ ปีสุดท้ายแล้ว จะเกษียณพร้อมรุ่นพี่ที่เป็นแคนดิเดตทั้ง 3 คน

อีกทั้งที่ผ่านมา ขั้วอำนาจใน ทร. ก็ต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ต่อด้วยบิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ และมาถึง พล.ร.อ.อะดุง

“โผนี้จัดยาก แต่ก็ไม่หนักใจ เพราะมีกฎเกณฑ์ชัดเจน มีเรื่องวัฒนธรรมองค์กรอยู่ ส่วนตนเองดูในภาพรวม ตามกฎเกณฑ์ ตามประเพณี” นายสุทินเปรย

ท่ามกลางการจับตามองว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย และนายกฯ พลเรือน และ รมว.กลาโหมพลเรือน จะนำมาซึ่งการปฏิรูปขั้วอำนาจในกองทัพหรือไม่

15 สิงหาคมนี้ วันส่งโผ และช่วงเขย่าโผ จนจบภายใน 15 กันยายน จึงเป็นช่วงที่กองทัพจะร้อนระอุเลยทีเดียว