เซียนทุกสำนัก ‘ฟันธง’ | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

สถานการณ์ลำดับต่อไปโฟกัสไปลุ้นระทึกกับคดีที่ “40 ส.ว.ชุดเก่า” เข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรีของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่

กรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยรับโทษ 6 เดือน จึงถือเป็นบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริต และฝ่าฝืนมาตรฐานจริธรรมอย่างร้ายแรง

ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้องไว้วินิจฉัย และมีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้อง คือ “นายเศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลจะพิจารณาวินิจฉัย

คดีนี้ “ผู้ถูกร้องที่ 2” คือ “นายพิชิต ชื่นบาน” ห้องเครื่องที่ 40 ส.ว.ยื่นร้อง ชิงไขก๊อกออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ ขณะที่สถานการณ์กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ลอยแพ “นายเศรษฐา” เพราะใน 2 วันต่อมา “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของ “นายพิชิต” ไว้พิจารณา

และขีดเส้นตายให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาส่งกลับศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบ 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง เวลากระชับมาก คือวันที่ 10 กรกฎาคม 2567

แต่ดังที่เคยบอกมาแล้วว่า “นายกฯ นิด” เหมือนลูกช้าง ยามตกที่นั่งลำบาก เคราะห์ใหญ่หลวงกำลังจะมาเยือน จะแตกพ่ายทางการศึก จู่ๆ มีหลวงปู่จอมขมังเวทย์เหาะมาช่วยในช่วงเวลาสำคัญ

คือสามารถดึง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ มือกฎหมายสมัยรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้เป็นเสือข้ามห้วย มานั่งในตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

มาเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร คอยให้คำแนะนำ ชี้ช่องทางสว่าง ช่วยขัดเกลาคำชี้แจง สรุปคือมาเป็นกุนซือ มือทองสมองเพชรสู้คดีนี้ให้เป็นการเฉพาะ หลังจากดึง “เนติบริกร” มาเป็นตัวช่วยสำคัญได้แล้ว “นายเศรษฐา” เหมือนเจอตาน้ำ หลังเส้นตายเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ได้ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมไปเพียงคนเดียว ได้แก่ “นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์” เลขาธิการคณะรัฐมนตรี

อากัปกิริยาที่ดูประหนึ่งวิตกกังวล ลังเล ห้าสิบต่อห้าสิบ หอบเอาความมั่นใจ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดย “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดพิจารณาวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ ในวันที่ 14 สิงหาคม ถัดจากคดียุบพรรคก้าวไกล 7 วันเศษ

คดีของ “นายเศรษฐา” หลังได้ “ลุงณุ” มาเสริมแกร่ง คอการเมือง เซียนทุกสำนัก อ้วน ต่ำ ดำ ผอม กลับหลังหัน พากันฟันธงตรงกันว่า ผลน่าจะเป็นบวก อยู่รอดปลอดภัย ประมาณว่า เฮียเส็งมุมแดงชี้โบ๋ ต่อ 5-4 เฮียแสงมุมน้ำเงินชี้เบ๋ ต่อ 6-3

ขณะที่เจ้าตัวเองก็ดูมั่นใจ โดยเฉพาะเชื่อมั่นกับคำแถลงปิดคดีด้วยเอกสาร ที่ยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญล็อตสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ซื่อแป๋แนะนำให้ อ้างถึงบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้อยู่ขณะนี้

ซึ่ง “นายมีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน กับบทบัญญัติมาตรา 160(4) และ (5) ที่ให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ดี ในเรื่องขาดคุณสมบัติให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้วินิจฉัย

ในกรณีของ “นายพิชิต ชื่นบาน” ได้ลาออกไปก่อนศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ทำให้ “นายพิชิต” อยู่ในฐานะผู้ถูกร้องในชั้นศาล อีกทั้ง “นายพิชิต” ยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจึงได้ตัดสินใจไปโดยความสุจริต ตามประเพณี และข้อพึงปฏิบัติทางการเมืองโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ปมแต่งตั้ง “นายพิชิต” เป็นรัฐมนตรี ถูกต้องตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้งก่อนแต่งตั้ง สำนักเลขาธิการยังทำหนังสือให้รัฐมนตรีที่ถูกร้องชี้แจงข้อเท็จจริงว่าคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือลับมาก ด่วนที่สุด ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี

เฉพาะตามมาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98(7) เป็นกรณีที่เคยได้รับโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันกระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

และมาตรา 160(7) ของรัฐธรรมนูญ กรณีไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

ซึ่งเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 สำนักงานกฤษฎีกา มีหนังสือตอบกลับมาว่า ประเด็นตามมาตรา 160(6) การได้รับโทษจำคุกไม่ว่าโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งใด เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม เว้นแต่บุคคลนั้นได้พ้นโทษเกิน 10 ปีแล้ว

ส่วนมาตรา 160(7) รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึง “คำสั่งให้จำคุก”

แม้ช่วงนี้ จวนเจียนจะถึงวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอยู่หลัดๆ แป๊บเดียวหน่อยหนึ่งแล้วเท่านั้น จะถึง 14 สิงหาคม แต่ “นายเศรษฐา” คงมั่นใจกับเอกสารที่ยื่นชี้แจง ความรู้สึกกดดันลึกๆ ถูกลบเลือนออกไปหมด อารมณ์ดูจะชิล-ชิล ไม่เครียด

ตอนนี้ เวทีการเมืองไม่มีใครถกแถลงเกี่ยวกับ “นายเศรษฐา ทวีสิน” รอดหรือไม่รอด

ข้ามห้วยไปเสวนากันว่าหลังสิงหาคมนี้ “นายกฯ นิด” จะปรับคณะรัฐมนตรี ปีกไหนออก พรรคไหนเข้ามากกว่า