ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
ในที่สุดพรรคก้าวไกลก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบและตัดสิทธิกรรมการพรรค 10 ปี
และในที่สุดก็เป็นอีกครั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 เปลือยตัวเองว่าคือรัฐธรรมนูญที่ปฏิปักษ์ประชาธิปไตยที่สุด
เพราะทำให้พรรคชนะอันดับ 1 ตั้งรัฐบาลไม่ได้, ทำลายแคนดิเดตนายกฯ ที่มีคนเลือกสูงสุด และทำลายพรรคทั้งพรรคไปเลย
เช่นเดียวกับการยุบอนาคตใหม่ที่ถูกฝ่ายรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ไล่ดูด ส.ส.อย่างน่าละอาย ก้าวไกลเผชิญการไล่ดูด ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาลนี้ในเวลานี้ด้วย เพียงแต่ขณะที่การดูดในยุคคุณประยุทธ์ทำเพื่อให้เสียงรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้านจนพ้นภาวะ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ”
การดูดตอนนี้มีเป้าหมายที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
กลไกของการดูดรอบนี้ทำผ่านอดีต ส.ส.ก้าวไกลและอนาคตใหม่ที่สังกัดพรรคเล็ก
แบบแผนการดูดแบบแรกคือชวนไปคุยโดยอ้างว่าจะให้เงินค่าคุยทันที 2 ล้าน หรืออีกแบบคือชวนย้ายพรรคตรงๆ โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 15 ล้าน และเปิดทางให้ต่อรองได้ถึง 30 ล้าน โดยอ้างว่าทั้งหมดต้องจบที่คุยกับท่านรัฐมนตรี
แน่นอนว่าอดีต ส.ส.จากพรรคเล็กและ “ท่านรัฐมนตรี” ไม่ได้ทำเรื่องทั้งหมดนี้โดยลำพัง พรรคเล็กเป็นทางผ่านเพื่อเก็บ ส.ส.งูเห่าไว้ก่อนอพยพทั้งหมดไปรวมกับพรรคใหญ่ในอนาคต ทั้ง “พรรคเล็ก” และ “ท่านรัฐมนตรี” จึงต้องการ ส.ส.งูเห่าไว้เพิ่มอำนาจต่อรองในการย้ายพรรคไปพรรคใหญ่ที่จะตามมมา
ถ้า “พรรคเล็ก” และ “ท่านรัฐมนตรี” มี ส.ส.ในสังกัดมาก โอกาสที่มีความสำคัญในพรรคใหม่เมื่อเทียบกับ “ท่านรัฐมนตรี” คนอื่นที่อยู่พรรคมาก่อนก็จะมากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับโอกาสในการได้คุมกระทรวงใหญ่และงบประมาณก้อนใหญ่ๆ ก็จะมากกว่าเดิม หรืออย่างน้อยก็ไม่แพ้ “ท่านรัฐมนตรี” คนอื่นที่อยู่มานาน
จริงอยู่ว่ากระบวนการนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรค แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าไม่มีการยุบพรรค กระบวนการนี้ก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ยุบพรรคจึงเป็นปฐมบทสำคัญของการทำลายประชาธิปไตยที่น่าขยะแขยงขั้นใช้เงินซื้อ ส.ส.เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลและอำนาจต่อรองของ “ท่านรัฐมนตรี” ราวกับเป็นเรื่องธรรมดา
ใครที่บอกว่ายุบพรรคเป็นเรื่องกฎหมายล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับการเมืองนั้น ถ้าไม่แกล้งโง่ก็แปลว่าคิดว่าคนอื่นโง่เต็มที
เพราะการยุบพรรคก้าวไกลคือโอกาสกวาดล้างพรรคชนะอันดับ 1, ตัดสิทธิคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และผู้นำพรรคคนอื่นที่เป็นกรรมการพรรค, กำจัดพรรคฝ่ายค้าน และทำให้ฝ่ายรัฐบาลไม่มีคู่แข่งทางการเมืองเลย
ก้าวไกลไม่ใช่พรรคแรกที่มีชะตากรรมแบบนี้ เพราะในอดีตพรรคใหญ่อย่างไทยรักไทยและพลังประชาชนก็เคยเผชิญเหตุการณ์นี้มาก่อน แต่ขณะที่พรรคฝ่ายคุณทักษิณ ชินวัตร ทั้งคู่โดนยุบหลังรัฐประหารหรือหลังจากตั้งรัฐบาลไปแล้ว ก้าวไกลคือพรรคแรกที่ชนะอันดับ 1 แล้วไม่ได้ตั้งรัฐบาลและโดนยุบทันที
อนาคตใหม่และไทยรักษาชาติเป็นอีกสองพรรคใหญ่ที่โดนยุบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 แบบก้าวไกล แต่ไทยรักษาชาติโดนยุบก่อนวันเลือกตั้งจนแทบไม่ส่งผลต่อความรู้สึกใคร ยกเว้นคุณทักษิณที่แผนแตกแบงก์พันตั้งพรรคนอมินีถูกทำลาย
แม้อนาคตใหม่จะโดนคดีคล้ายก้าวไกล แต่เพราะอนาคตใหม่โดนยุบในวันที่ยังไม่ได้ชนะอันดับ 1 ถึงแม้จะเป็นพรรคที่มาแรงที่สุดในการเลือกตั้ง 2562 ผลสะเทือนจากการยุบอนาคตใหม่จึงไม่มากเท่าก้าวไกลซึ่งเกิดเรื่องในวันที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แต่กลับถูกกีดกันจากทุกฝ่ายในการทำหน้าที่ทางการเมือง
สําหรับบุคคลและพรรคที่มองก้าวไกลเป็นศัตรู คำถามชวนขนหัวลุกคือถ้าการยุบอนาคตใหม่ทำให้ก้าวไกลชนะอันดับ 1 แล้วได้ ส.ส.และคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว การกำจัดก้าวไกลในวันที่ชนะอันดับ 1 จะทำให้พวกเขาเป็นแชมป์และได้ ส.ส.กับคะแนนเสียงเพิ่มแค่ไหนในการเลือกตั้งถัดไป
เมื่อเทียบกับไทยรักไทยและพลังประชาชนที่โดนยุบหลังชนะอันดับ 1 เหมือนก้าวไกล คดีของสองพรรคใหญ่ฝ่ายคุณทักษิณเกิดในวันที่พรรคเป็นรัฐบาลแล้วเผชิญมรสุมจากฝ่ายต่อต้านมหาศาล ซ้ำยังเป็นมรสุมจากข้อหาประเภทล้มเจ้า, ขายชาติ, ทำตัวตีเสมอสถาบัน ฯลฯ จนการยุบเกิดเวลาที่พรรคบอบช้ำไม่มีชิ้นดี
เพื่อให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ไทยรักไทยโดนยุบในวันที่คุณทักษิณถูกโจมตีว่า “ล้มเจ้า” จนรัฐมนตรีและเลขาฯ พรรคขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีคุณทักษิณด้วยข้อหานี้
ส่วนพลังประชาชนโดนยุบในวันที่คุณทักษิณถูกโจมตีว่า “ล้มสถาบัน” จนกลุ่มคุณเนวิน ชิดชอบ แยกตัวไปตั้งพรรคภูมิใจไทยแล้วโหวตประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี
พูดอีกแบบคือไทยรักไทยและพลังประชาชนโดนศาลสั่งยุบในวันที่ “รากฐานทางสังคม” ของทั้งสองพรรคถูกทำลายด้วยกลุ่มพันธมิตรฯ, ลูกจีนรักชาติ, กลุ่ม 40 ส.ว. ฯลฯ จนการยุบพรรคแทบหาเสียงคัดค้านไม่ได้เลยทั้งในปี 2550 ที่เกิดรัฐประหารหรือในปี 2551 ที่ฝ่ายคุณทักษิณโดนข้อหาขายชาติอย่างรุนแรง
ในฐานะที่ผมเป็นหนึ่งในคนซึ่งวิจารณ์การยุบพรรคทั้งไทยรักไทยและพลังประชาชนอย่างเปิดเผย ผมจำได้แม่นยำว่าวงการนักวิชาการที่คัดค้านเรื่องนี้ชัดมากๆ มีเพียงกลุ่มนิติราษฎร์ ส่วนนักการเมืองที่กล้าพูดว่าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งยุบพรรคนั้นแทบไม่มีเลย ยกเว้น ส.ส.ไทยรักไทยและพลังประชาชนไม่กี่คน
“รากฐานทางสังคม” ในกรณีก้าวไกลแตกต่างจากไทยรักไทยและพลังประชาชนอย่างสิ้นเชิง เพราะก้าวไกลเผชิญคดีนี้โดยมีนักวิชาการ, ประชาชน, อดีตนายกฯ, องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ ที่ยืนยันว่าก้าวไกลไม่ผิด รวมทั้งไม่มีเหตุให้ต้องยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองของผู้บริหารพรรคแม้แต่นิดเดียว
อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ตั้งคำถามได้ถูกต้องว่าพรรคก้าวไกลเซาะกร่อนประชาธิปไตยอย่างไร เพราะข้อหาว่าการเสนอแก้กฎหมาย 112 เป็นการทำลายระบอบทั้งที่กฎหมายยังไม่ได้เข้าสภานั้นเลอะเทอะจนเหลือเชื่อ (Beneath Contempt) และที่เหลือเชื่อกว่าคือการเขียนรัฐธรรมนูญให้เรื่องนี้ผิดได้จริงๆ
สําหรับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว คำถามคือจะตัดสินคดีก้าวไกลให้คนยอมรับการยุบพรรคและการตัดสิทธิกรรมการพรรค 10 ปีได้อย่างไรในสังคมที่นักวิชาการและผู้รู้ทั้งในและนอกประเทศมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการกระทำของก้าวไกลไม่เข้าข่ายมีความผิด และก้าวไกลไม่ควรถูกยุบพรรคเลย
วิธีสร้างความยอมรับคำตัดสินที่ง่ายที่สุดคือการสร้างคำตัดสินที่มีเหตุผลทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitutional Reasoning) แต่วิธีที่อธิบายคำตัดสินต่างๆ กลับเต็มไปด้วยการอ้างอิงว่ามีอำนาจตีความเรื่องต่างๆ (Self-Referential Reasoning) โดยหลายกรณีไม่ได้ให้เหตุผลทางรัฐธรรมนูญ
หนึ่งในข้อต่อสู้ของพรรคก้าวไกลคือรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการยุบพรรคการเมือง ประเด็นนี้สำคัญเพราะศาลรัฐธรรมนูญต่างกับศาลยุติธรรมอื่นๆ ในแง่ที่อำนาจศาลมาจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด หรือพูดอีกแบบคือถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจ ศาลก็จะไม่มีอำนาจเลย
คำตัดสินยุบก้าวไกลไม่ได้บอกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคการเมือง แต่ศาลอ้างว่ามีอำนาจยุบพรรคโดยอ้างมาตราอื่นจากกฎหมายอื่นซึ่งต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ทั้งที่รัฐธรรมนูญคือกรอบเขตอำนาจของศาล และถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ศาลมีอำนาจ ศาลก็ไม่ควรมีอำนาจแม้แต่นิดเดียว
อีกข้อที่ก้าวไกลสู้คดีคือ กกต.ไม่ได้ทำตามขั้นตอนในระเบียบยุบพรรคการเมือง แต่คำตัดสินยุบพรรควางอยู่บนความเชื่อว่า แม้ กกต.ไม่ทำตามขั้นตอน กกต.ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบก้าวไกลได้ ทั้งที่ปัญหานี้คือเรื่อง Due Process หรือ “กระบวนการที่มิชอบ” ซึ่งทำให้ กกต.ไม่มีอำนาจยื่นยุบก้าวไกล
คำอธิบายของ กกต.คือยื่นยุบเพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินว่าก้าวไกลเสนอแก้ 112 เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่ประเด็นคือต่อให้ศาลเคยตัดสินแบบนั้น กกต.ก็ต้องทำตามขั้นตอนในระเบียบยุบพรรคเสมอ จะอ้างคำตัดสินจากคดีที่แล้วมาเป็นข้ออ้างในการไม่ทำตามระเบียบโดยอัตโนมัติไม่ได้เลย
ทั้งหมดนี้คือปัญหาของคดียุบก้าวไกลซึ่งจะเป็นต้นตอของปัญหาใหม่ในสังคมไทย โดยเฉพาะปัญหาการเมืองจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าพรรคของ 14 ล้านเป็นพรรคเซาะกร่อนการปกครอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022