ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ประเทศไทยกลายเป็น “ข่าวด่วน” ในรายงานสำนักข่าวใหญ่ทั่วโลกอีกครั้ง กับกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล
ไม่ได้เกินความคาดหมายอะไร เพราะว่ากันตามจริง “คดีการเมืองของไทย” เป็นคดีที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครในโลก
ดูตัวบทกฎหมายอย่างเดียวไม่ค่อยได้ ต้องดูบริบทการเมือง ที่มาและที่ไป
จะเลือกมองเฉพาะแต่ละกรณีไม่ได้ ต้องมองในมิติทางความคิดว่าพรรคการเมืองดังกล่าวสังกัดอุดมการณ์ใดๆ อยู่ตรงข้ามกับอุดมการณ์อนุรักษ์จารีตนิยมไทยหรือไม่ รวมถึงต้องย้อนดูจากไทม์ไลน์การเมืองไทยช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
เพราะความขัดแย้งทางการเมืองไทยมีลักษณะเป็น “สายธารประวัติศาสตร์” ที่มีการต่อสู้มายาวนานของ “ฝ่ายอำนาจเก่า” และ “กลุ่มพลังอำนาจใหม่”
เมื่อมองจาก 2 กรอบนี้ ก็จะได้คำตอบเบื้องต้นว่า การยุบพรรคก้าวไกลจึงไม่ใช่เรื่อง “คาดไม่ถึง” หรือ “คาดเดาไม่ได้เลย”
เพราะตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยน่าจะทำสถิติเป็นประเทศที่มีการยุบพรรคการเมืองง่ายและมากติดอันดับโลก
ตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 หรือเมื่อ 17 ปีที่แล้ว ต่อด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 จนกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
ขณะที่ในการเลือกตั้ง 2562 พรรคเพื่อไทยใช้ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อเข้ามาเล่นกับกติกาเลือกตั้งใหม่ของ คสช. สุดท้ายก็พลาดท่า ถูกยุบเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562
ในครานั้นก็เกิดกลุ่มพลังทางการเมืองใหม่นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ประกาศเป้าหมายชัดในการต่อสู้กับพลังอำนาจเก่า สุดท้ายก็ไม่รอด ถูกสั่งยุบพร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี
และล่าสุดก็คือสัปดาห์นี้กับ “การยุบพรรคก้าวไกล” ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคมากกว่าสิบคน กรณีเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 ซึ่ง กกต.เห็นว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
สําหรับชนวนเหตุของการยุบพรรค คดีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ยื่นคำร้องให้ยุบ อ้างว่าพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
โดย กกต.อ้างถึง “ข้อเท็จจริงปรากฏ” ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยมีมติเอกฉันท์ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลกับพรรคก้าวไกล ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จากกรณี ส.ส.ก้าวไกล ร่วมกันเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง
สำหรับ กก.บห.ก้าวไกล ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ประกอบด้วย
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายชัยธวัช ตุลาธน น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายปดิพัทธ์ สันติภาดา นายสมชาย ฝั่งชลจิตร นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล นายอภิชาต ศิริสุนทร น.ส.เบญจา แสงจันทร์ นายสุเทพ อู่อ้น และนายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์
แน่นอนว่า พรรคก้าวไกลรู้ตัวดี ตลอดหลายเดือนของการพิจารณาคดี พรรคก้าวไกลก็พยายามยื่นขยายเวลาหลายครั้ง รวมถึงยื่นพยานหลักฐานในฐานะผู้ถูกร้องเพิ่ม แม้แต่การงัดพยานสำคัญอย่าง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นักวิชาการกฎหมายมหาชนรุ่นใหญ่ที่เคยนั่งเก้าอี้ทางการเมืองหลังการรัฐประหาร 2549 ส่งความเห็นโต้แย้ง กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญจนเป็นที่ฮือฮา
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังแถลงข่าว รายงานความคืบหน้า การให้ข้อมูลหลักฐานในการสู้คดี การชี้แจงข้อกล่าวหาอย่างละเอียดต่อประชาชนต่อเนื่อง
หลังการพิจารณาคดีจบไม่ถึงชั่วโมง โซเชียลมีเดียของพรรคยังสามารถปล่อยคลิปวิดีโอในทำนองพร้อมเดินหน้าก้าวต่อไป ทำงานตามคำสั่งประชาชน พร้อมปล่อยภาพโคลสอัพแกนนำรุ่นต่อไป
แม้คนนอกพรรคก้าวไกลก็พอจะรู้แนวคำพิพากษา ดูจากปฏิกิริยาของนักการทูต 18 ประเทศตะวันตก ที่นัดพบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ไม่กี่วันก่อนการอ่านคำวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม ผลจากการยุบพรรคก็จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายอย่าง อาทิ
พรรคก้าวไกลต้องเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน แทนนายชัยธวัช ตุลาธน
ขณะที่จำนวน ส.ส.ในสภาก็จะลดลงเหลือปฏิบัติหน้าที่ได้ 492 คน โดยพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่มีเก้าอี้ ส.ส.มากสุดในสภา จะเหลือเก้าอี้ ส.ส. 143 คน นั่นทำให้ พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน มีเสียงมากกว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำรัฐบาลเพียง 2 เสียงเท่านั้น คือ 143 ต่อ 141 เสียง
โดยทั้ง 143 เสียง ก็ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน เพื่อไม่ให้ขาดสมาชิกภาพ ส.ส. ท่ามกลางกระแสข่าวการพยายามดึงงูเห่าไปเสริมทัพพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลบางพรรค เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง
ขณะที่สภาต้องจัดประชุมเพื่อเลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 คนใหม่แทนนายปดิพัทธ์ เช่นเดียวกับ กกต.ก็ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 แทนตำแหน่งของนายปดิพัทธ์ด้วย
ส่วนแกนนำรุ่น 3 ก็เป็นประเด็นที่กำลังได้รับการจับตา ดูจากตำแหน่งแห่งที่ของการแถลงข่าวหลังการวินิจฉัย ต้องจับตาบทบาทของ ศิริกัญญา ตันสกุล, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผลจากคำวินิจฉัยครั้งนี้ ยังจะต้องจับตาต่อเนื่องไปยัง 44 ส.ส.ก้าวไกล ที่ร่วมลงลายมือชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ ที่ขณะนี้คำร้องอยู่ในชั้น ป.ป.ช. แต่การตัดสิทธิทางการเมืองนี้จะขั้นอยู่กับการพิจารณาของศาลฎีกา
การเมืองในสภาว่าเข้มข้นแล้ว การเมืองนอกสภายิ่งเข้มข้นยิ่งกว่า
เพราะต้องยอมรับว่าพรรคก้าวไกลมีลักษณะการยึดโยงกับประชาชนในระดับสูง
เป็นผลจากการทำงานทางความคิดต่อเนื่องมาจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบจนขยายปริมาณผู้สนับสนุนอย่างสูงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งกว่า 14.5 ล้านเสียง
อันที่จริงผลจากการยุบพรรคไทยรักไทย ก็ส่งผลให้เกิดการชนะเลือกตั้งอย่างสูงต่อพรรคพลังประชาชน และผลของการยุบพรรคพลังประชาชน ก็เป็นผลสำเร็จอย่างสูงในการเลือกตั้งปี 2554 ของเพื่อไทย
ซึ่งก็ไม่ต่างกัน ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ “ความตื่นรู้ทางการเมือง” ก็ส่งต่อมายังพรรคก้าวไกลในระดับทวีคูณ
และ “ความตื่นรู้ทางการเมือง” ความเข้มแข็งทางการเมืองของ “พลังใหม่” ต่างหากที่น่ากลัว เพราะมันท้าทายกับ “พลังอนุรักษ์จารีตนิยม” โดยตรง
กระตุ้นคนจำนวนมากให้มีสำนึกทางการเมืองตั้งคำถามต่ออำนาจเดิม เปลี่ยนระบบคิดการเมือง ลงเล่นการเมืองในระบบท้าทายระบบการเมืองแบบ “บ้านใหญ่อุปถัมภ์” พฤติกรรมและปฏิบัติการทางการเมืองเหล่านี้ต่างหาก… ที่น่ากลัว
มีคำถามว่าคนที่ถูกตัดสิทธิการเมืองจากนี้ไปจะทำอะไรต่อ?
ชัยธวัช และ พิธา ต่างยืนยันตรงกันว่า จากนี้ไปจะลงพื้นที่อย่างหนักต่อสู้ทางการเมืองในระบบทุกระดับ เริ่มจากสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่พิษณุโลก รวมถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ
“จะเริ่มทำการเมืองในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จะไม่ทิ้งไปไหน จนกว่าประชาชนไม่ต้องการ วันนี้เรามาเศร้าเสียใจให้เต็มที่ พรุ่งนี้ขีดเว้นต่อหน้าและระเบิดมันในคูหาทุกการเลือกตั้งต่อไป จากนี้จะมีเลือกตั้งซ่อม เขต 1 พิษณุโลก ในฐานะประชาชน ก็จะช่วยหาเสียง อบจ.ราชบุรี ที่อาจใช้พลังที่รู้สึกกัดกร่อนเป็นพลังเชิงบวก จะไม่ทิ้งพวกคุณแน่นอน” นายพิธาระบุ
นับเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย กับการประหารชีวิตนักการเมืองรุ่นใหม่นับสิบ ยุบพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งคะแนนอันดับ 1 ของประเทศ
แม้ ส.ส.กว่า 143 คนยังได้ไปต่อ แต่ก็เป็นเส้นทางการเดินที่เหนื่อย ต้อง “เล่น” อยู่ในเกมที่ฝ่ายตรงข้ามออกแบบมา ยิ่งนานวัน ความฝันที่ตั้งเป้าหมายไว้ ยิ่งไม่มีทีท่าจะมาใกล้
เอาแค่เรื่องยุบพรรค ที่ทั่วโลกเขาเห็นตรงกันแล้วว่ามันผิดปกติ แถมพรรคการเมืองใหญ่ทั้งฟากฝ่ายค้านและรัฐบาลปัจจุบันล้วนโดนกระทำจากโครงสร้างนี้กันมาต่อเนื่อง
วันนี้มีอำนาจแล้ว แทนที่จะช่วยกันตีกรอบความสัมพันธ์อำนาจใหม่ จำกัดอำนาจการยุบพรรคการเมืองไม่ให้เกิดขึ้นง่าย หรือจะเกิดขึ้นก็ต้องทำในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ชัดเจนแบบอารยประเทศ กลับนิ่งดูดาย ปล่อยให้มีการใช้อำนาจยุบพรรคขยายไปเรื่อยๆ สร้างบรรทัดฐานแปลกๆ ไปเรื่อยๆ
ไม่ว่าการเมืองในสภาหรือนอกสภา จากนี้ไปก็ต้อง “เหนื่อย” กันอีกนาน
เศรษฐกิจก็หดหู่ สังคมก็เต็มไปด้วยอาชญากรรม การเมืองก็ตึงเครียด … อนาคตประเทศยังมืดมน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022