ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2567 มีนัยอย่างยิ่งต่อทิศทางการทำงานของวุฒิสภาตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปีต่อจากนี้
ตั้งต้นที่การเสนอร่างญัตติแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา จำนวน 5 ร่าง ได้แก่ ร่างฯ ของนายเปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกกลุ่ม ส.ว.สีขาว อดีตแคนดิเดตชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา
ร่างฯ ของนายประภาส ปิ่นตบแต่ง สมาชิกกลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ ร่างฯ ของนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกกลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ ร่างฯ ของนายเอกชัย เรื่องรัตน์ ผู้เรียกตนเองว่า ส.ว.อิสระ และร่างฯ ของ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ตัวแทนกลุ่ม ส.ว.สีน้ำเงิน
ผลปรากฏว่าที่ประชุมวุฒิสภาลงมติในวาระที่หนึ่ง ไม่รับร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาทั้ง 4 ร่าง ได้แก่ ร่างฯ เปรมศักดิ์ ร่างฯ ประภาส ร่างฯ เทวฤทธิ์ และร่างฯ เอกชัย ไว้พิจารณา
มีเฉพาะร่างฯ ของ พล.ต.ท.ยุทธนา “ส.ว.สีน้ำเงิน” เท่านั้น ที่ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติรับร่างฯ ไว้พิจารณา
จากนั้นเข้าสู่วาระการประชุม ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด
มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตั้ง กมธ.ขึ้นใหม่ เพื่อทำงานต่อเนื่องจาก กมธ.ชุดเดิม ซึ่งเป็น ส.ว.ชุดเก่า โดยตามกระบวนการต้องพิจารณาชื่อของอัยการสูงสุด (อสส.) ตามที่คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เสนอชื่อ นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอัยการสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่ง
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ อภิปรายว่า เข้าใจว่าบุคคลที่ถูกเสนอชื่อนั้นไม่มีความอาวุโสสูงสุด จึงอยากให้ส่งชื่อกลับไปเพื่อให้ยืนยันกลับมาอีกครั้ง อีกทั้งการเห็นชอบบุคคลเข้าสู่ตำแหน่ง ควรทำให้เกิดความโปร่งใส และตอบคำถามกับประชาชนได้ว่าเป็นผลงานของ ส.ว.ปัจจุบันตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้รับมรดกของ ส.ว.ชุดใดมา ดังนั้น ขอให้เริ่มต้นจากการตรวจสอบที่เข้มข้นจาก กมธ.ใหม่ ไม่รับข้อมูลที่เป็นของเดิม ที่ กมธ.ทำเป็นการลับ และไม่รู้ว่าการตรวจสอบเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกัน มีความเห็นจาก ส.ว.รายอื่น เช่น พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย นายสรชาติ วิชยสุวรรณพรหม อภิปรายว่า การแต่งตั้งอัยการสูงสุดและศาลปกครองสูงสุด หากถอยแล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่ อาจจะไม่ทันต่อการได้ตำแหน่งดังกล่าวในเดือนตุลาคม พ.ศ.2567 ดังนั้น ควรพิจารณาเสนอชื่อ กมธ. เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองและพิจารณา
จากนั้นนายบุญส่ง ประธานที่ประชุม ยืนยันให้พิจารณาเสนอชื่อ กมธ. เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ และขอให้มีการเสนอชื่อ ทำให้ที่ประชุมเข้าสู่กระบวนการเสนอชื่อ กมธ. แต่มีการเสนอชื่อ ส.ว.เป็น กมธ.ตรวจสอบประวัติเกินกว่า 15 คน ทำให้ที่ประชุมต้องใช้การลงมติผ่านบัตรลงคะแนนเพื่อตัดสิน
เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการเสนอรายชื่อแบบเป็นกลุ่มก้อน โดยนายนิรัตน์ อยู่ภักดี ส.ว. เสนอรายชื่อ กมธ. 15 คน พบว่าเป็นสัดส่วนที่เตรียมมาแล้วล่วงหน้า และเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว. อภิปรายว่า การเสนอเป็นชุดใหญ่แบบนี้ ภาพที่ออกไปคือ สภารีโมต สภาใบสั่ง ซึ่งตนอายและไม่ยอม เพราะการตั้งองค์กรอิสระถือเป็นหัวใจของวุฒิสภา และขอให้ท่านต้องตอบให้รู้ว่าจะต้องขออนุญาตจากใครที่เป็นเจ้าของสภา
อย่างไรก็ตาม มีการเสนอชื่อรวม 33 คน ซึ่งเป็นจำนวนเกินกว่าที่กำหนด ทำให้ต้องใช้การตัดสินด้วยการออกบัตรลงคะแนน นายบุญส่งจึงแจ้งให้พักการประชุม 1 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ ก่อนออกเสียงลงคะแนนเพื่อตัดสิน
การประชุมเริ่มต้นอีกครั้งหลังจากพักการประชุมไปประมาณ 1 ชั่วโมง มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม
น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ ส.ว. ลุกขึ้นอภิปรายว่า วาระนี้เป็นวาระที่สำคัญที่สุดของการเป็น ส.ว. คือวาระการแต่งตั้งหรือตรวจสอบองค์กรอิสระ ทำไมเราไม่คุยกัน ทำไมต้องลงมติ หรือทำไมต้องเลือกแพ็กกันมา
“ขอให้ช่วยกลับไปทบทวนในจิตใจสักนิด ขอให้ปิดไลน์ และเมื่อสักครู่มีคนเดินมาบอกว่าให้อ่านไลน์ด้วย พอเถอะ ดิฉันอับอายประชาชนทั้งชาติทั้งประเทศ” น.ส.รัชนีกรกล่าว และว่า ขอให้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ย และหากไกล่เกลี่ยไม่ได้ขอให้เลือกกันเองหรือจับสลาก
ทำให้ พล.อ.เกรียงไกรชี้แจงว่า ทุกคนก็มีความรู้สึกเหมือนสมาชิก เพราะทุกคนเข้ามาเพื่อทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมืองเหมือนกัน
ซึ่งการเสนอรายชื่อเป็น กมธ. ก็เห็นอยู่แล้วว่ามีการเสนอเป็นกลุ่ม 2-3 กลุ่ม และทุกคนก็เป็นไปตามกฎกติกาข้อบังคับที่เราปฏิบัติร่วมกัน เพราะฉะนั้น ตนขออนุญาตดำเนินการตามมติต่อไป
ทำให้กลุ่ม ส.ว.พันธุ์ใหม่ และกลุ่มอิสระ ไม่พอใจที่จะเลือกเป็นกลุ่มก้อน จึงมีการเสนอให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อทั้งหมดแสดงวิสัยทัศน์ ว่าเหมาะสมเป็น กมธ.หรือไม่
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว.กลุ่มสีขาว อภิปรายว่า “การเลือก กมธ.ส่งผลต่ออัยการสูงสุดแน่นอน และเมื่อไม่มีใครสนใจเสียงข้างน้อยอีกต่อไป จึงมีอย่างเดียวที่ตนจะทำได้ในขณะนี้ คือไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับการโหวตครั้งนี้ และคิดว่าการทำเช่นนี้ประธานในที่ประชุมต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ทำไปแล้วผลประโยชน์ตกกับใคร” นพ.เปรมศักดิ์กล่าว และได้เดินออกจากห้องประชุมทันที โดยมี ส.ว.บางส่วนเดินตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม พล.อ.เกรียงไกรได้วินิจฉัยให้เดินหน้าลงมติเลือก กมธ.ให้เหลือ 15 คน โดยให้ ส.ว.กาบัตรว่าจะเลือกรายชื่อใดที่เสนอมา
ผลปรากฏว่า “ส.ว.สายน้ำเงิน” ได้รับเลือกทั้ง 15 คน คือ 1.นายกมล รอดคล้าย 2.พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร 3.นายนิเวศ พันธ์เจริญวรกุล 4.พล.ต.ท บุญจันทร์ นวลสาย 5.นายประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล 6.พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี 7.นายวร หินดี
8.นายวิรัตน์ รักษ์พันธ์ 9.นายวิวรรธน์ ไกรพิสิทธิ์กุล 10.นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร 11.พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา 12.นายสุนทร เชาว์กิจค้า 13.นายอภิชาติ งามกมล 14.นายอลงกต วรกี และ 15.นายเอนก วีระพจนานันท์
จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภามีมติตั้ง กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด คือ นายประสิทธิ์ศักดิ์ มีลาภ
โดยมอบหมายให้ กมธ.ชุดที่ตรวจสอบประวัติผู้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดด้วย
ด้านแกนนำ ส.ว.กลุ่มพันธุ์ใหม่และกลุ่มอิสระ แถลงร่วมกันภายหลังวอล์กเอาต์จากห้องประชุม โดย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ส.ว. กล่าวว่า การทำหน้าที่ในสภาของเราต้องหยุดชะงัก เนื่องจากประธานในที่ประชุมและเสียงส่วนใหญ่ได้ดำเนินการทางสภาโดยใช้เสียงข้างมากลากไป พวกเราซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยทักท้วงทุกวิธี แต่เสียงข้างมากก็ไม่ยอม ตนจึงเห็นว่าวิธีการเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนที่ประธานจะไม่รอมชอมสมาชิก ปล่อยให้เสียงข้างมากทุบเอาๆ
จึงขอวอล์กเอาต์ไม่ร่วมสังฆกรรม เพื่อให้การประชุมวันนี้มีแค่คนที่เป็นเสียงฝ่ายเดียว ดำเนินการคัดเลือกบุคคลองค์กรยุติธรรม และทำให้ประชาชนได้รู้ว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น เป็นรอยด่างของวุฒิสภาชุดนี้
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส ส.ว. กล่าวเสริมว่า โดยหลักการการตั้ง กมธ.ชุดนี้ขึ้นจำนวน 15 คน จะต้องมีการจัดสัดส่วนกันว่าตัวแทนของแต่ละกลุ่มจะมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ผลปรากฏว่ากลุ่มที่เขาแพ็กกันมาเป็นบ้านใหญ่ มีการเสนอทั้งหมด 15 ชื่อเต็มจำนวน โดยไม่แบ่งให้ ส.ว. กลุ่มอิสระ ถือว่าเป็นการรวบรัดตัดตอน มีการดำเนินการโดยไม่สนใจ ส.ว.เสียงข้างน้อย จึงรู้สึกว่านี่ไม่น่าจะเป็นไปตามกลไกระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นไปตามเสียงข้างมากลากไป
นางอังคณา นีละไพจิตร ส.ว. กล่าวว่า ได้พยายามที่จะเสนอทางเลือกให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพราะเห็นว่าหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของวุฒิสภา คือการเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เราเคารพเสียงส่วนใหญ่ แต่เสียงส่วนใหญ่ต้องไม่ละเลยเสียงข้างน้อย
การเสนอเป็นแพ็กเกจมา สุดท้ายจะทำให้คนส่วนหนึ่งมีอำนาจที่จะออกแบบหรือได้มาซึ่งองค์กรอิสระแบบใดก็ได้ ในฐานะเสียงข้างน้อย สิ่งที่ทำได้มากที่สุด คือการไม่อยู่ร่วมในการคัดเลือกครั้งนี้ ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะร่วมวงเพื่อรับรองมติที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อถามว่า ในอนาคตข้างหน้าจะนำไปสู่เผด็จการวุฒิสภาหรือไม่ กลุ่ม ส.ว.ที่ร่วมกันลงมาแถลงข่าวกล่าวขึ้นพร้อมกันว่า “วันนี้ก็เป็นแล้ว”
ถ้าถามว่าวุฒิสภาเป็นสีอะไร วันนี้คงต้องตอบว่าเป็นสีน้ำเงิน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022