ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Agora |
ผู้เขียน | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์ |
เผยแพร่ |
7 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำพิพากษายุบพรรคก้าวไกลโดยมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 : 0 และให้ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคคนละ 10 ปีนับจากวันที่ศาลสั่ง
โดยรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิทั้ง 11 คน มีดังนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ชัยธวัช ตุลาธน, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์, ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตรตระกูล, สมชาย ฝั่งชลจิตร, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, เบญจา แสงจันทร์, อภิชาติ ศิริสุนทร, สุเทพ อู่อ้น และอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ ตามข่าว “ด่วน! มติเอกฉันท์ ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง ยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิ กก.บห. 10 ปี” ทางลิงก์ https://www.matichon.co.th/politics/news_4723149
ผลการตัดสินนี้เป็นไปตามคาด แต่การคาดการณ์เกือบทั้งหมดเป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเหตุผลทางกฎหมายโดยแท้
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความน่าเชื่อของระบบยุติธรรมในประเทศไทยและลักษณะของการเมืองไทยในปัจจุบัน
การวินิจฉัยยุบพรรคครั้งนี้จะส่งผลกระเทือนไปสู่อะไรต่อไปบ้าง ก็พอประมวลแนวโน้มและเหตุการณ์ล่วงหน้ามาส่วนหนึ่งได้ดังต่อไปนี้
1.
ส.ส.และสมาชิกพรรคก้าวไกลส่วนใหญ่ยังคงเดินต่อไปในเส้นทางการต่อสู้แบบเดิม ด้วยการย้ายไปสู่พรรคใหม่ที่มีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว
ข่าวที่ได้ยินมากที่สุดคือการเข้าไปเทกโอเวอร์พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลแล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ในภายหลัง
ส่วนจะจริงตามข่าวหรือไม่ แล้วจะเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคอะไร ใครเป็นหัวหน้า อีกไม่นานทุกคนก็คงจะรู้
2.
ส.ส.จำนวนหนึ่งย้ายไปอยู่พรรคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคที่ถูกพูดถึงมากที่สุดตามหน้าข่าวก็คือพรรคสีน้ำเงินที่เพิ่งปฏิบัติภารกิจกินรวบสภาสูงมาได้หมาดๆ
ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้วจะมี ส.ส.ย้ายพรรคไปมากเพียงใด เป็นจำนวนเท่าไหร่ เยอะเหมือนผึ้งแตกรังดังที่เขาลือหรือไม่
ที่แน่ๆ คือการย้ายพรรคครั้งนี้น่าจะทำให้พวกเขากลายเป็นเศรษฐีใหม่ในชั่วข้ามคืน แต่ก็หมดอนาคตทางการเมืองไปตลอดกาล
3.
กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิการรับสมัครลงเลือกตั้งไป 10 ปี ส่วนใหญ่จะย้ายไปทำงานให้กับคณะก้าวหน้า แต่ก็อาจมีบางคนที่หันไปทำงานอย่างอื่นแล้วเลิกเล่นการเมืองไปเลย
บทบาทของการทำงานให้คณะก้าวหน้าจะดำเนินไปในแบบเดียวกับที่เห็นอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่เข้าไปขับเคลื่อนคณะก้าวหน้า
จะเห็นได้ว่าอดีต ส.ส. อย่างเช่น ช่อ พรรณิการ์ วานิช และปิยบุตร แสงกนกกุล ยังคงมีความเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเหมือนเดิม
4.
พรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่แทนที่ก้าวไกลจะได้ที่นั่ง ส.ส.ในสภามากกว่าเดิม
พูดง่ายๆ คือพรรคนี้จะชนะการเลือกตั้งสมัยหน้ายิ่งกว่ารอบที่ผ่านมา ดังคำพูดที่ว่า “ยิ่งยุบยิ่งโต”
ดังจะเห็นได้จากผลเลือกตั้งในอดีต ที่พรรคอนาคตใหม่ได้ไป 81 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2562 ต่อมาเมื่อถูกยุบพรรค ร่างใหม่ในนามว่าพรรคก้าวไกลก็กวาดจำนวน ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2566 ไปได้ถึง 151 คน คว้าชัยเหนือคู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทยไปได้อย่างเหลือเชื่อ
5.
อาจมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จในบางมาตรา แต่ไม่ใช่เพื่อทำให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทว่า เป็นไปเพื่อสกัดพรรคใหม่ของขั้วส้ม
เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นแล้วก่อนการเลือกตั้งทั้งปี 2562 และ 2566 ครั้งแรกออกแบบรัฐธรรมนูญมาใหม่เพื่อสกัดพรรคเพื่อไทย ตามวาะที่ว่า “ออกแบบมาเพื่อเรา” ต่อมาก็เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบอีกครั้ง หลังจากที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวมาในปี 2562 ทั้งนี้ก็เพื่อปราบพยศพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะ
ที่ไหนได้กลับยิ่งทำให้ก้าวไกลได้มากกว่าเดิม ประสบการณ์ที่แล้วมาในอดีตทำให้คาดเดาได้ว่าอีกหน่อยก็คงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราอีกจนได้เพื่อหวังยึดกุมความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง
6.
ส.ว.จะเป็นกลไกสำคัญในการวางคนประจำตามตำแหน่งต่างๆ ขององค์กรอิสระ เพื่อผลในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างเพื่อรับมือกับศึกเลือกตั้งครั้งหน้า สมรภูมิทางการเมืองถูกจับตามองอย่างมากในเวที ส.ส. แต่ต่อไปการขับเคี่ยวชิงไหวชิงพริบกันจะอยู่ในพื้นที่อื่นมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างวุฒิสภาที่จะมีปฏิบัติการต่างๆ ตามมาให้เห็นอย่างเข้มข้นจนสังเกตเห็นได้เป็นระยะๆ
7.
การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะอย่างผู้บริหารระดับสูงจะเป็นไปภายใต้ทิศทางการเมืองที่กล่าวมาทั้งหมด ดังนั้น จะมีข่าวการเปลี่ยนตำแหน่งที่ดูแปลกๆ ให้ได้รู้สึก “เอ๊ะ” อยู่บ่อยๆ เพราะกลไกราชการเป็นเครื่องจักรสำคัญของปฏิบัติการทางการเมือง
จากหลักที่ต้องวางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดจะรวนเรให้เห็นเป็นประจำตามหน้าข่าว
ยิ่งสมรภูมิทางการเมืองดุเดือดเท่าไหร่ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการก็ยิ่งทวีความตึงเครียดขึ้นเท่านั้น
8.
แนวทางของพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะดุเท่าก้าวไกลหรือไม่ยังไม่แน่ชัด เป็นไปได้ว่าอาจลดดีกรีลงในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
แต่อาจแหลมคมและจัดหนักขึ้นในเรื่องอื่นๆ อย่างเช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น หรือทุนผูกขาด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากสังเกตจากคำสัมภาษณ์ของปิยบุตร แสงกนกกุล ในช่วงหลังก็ดูเหมือนว่ายังไม่มีแนวโน้มที่พรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นจะเบาลง เพียงแต่อาจปรับเปลี่ยนวิธีการให้แนบเนียนมากขึ้นก็เป็นได้
9.
ทั้งตัวแกนนำพรรค นักการเมือง และสมาชิกของพรรคใหม่จะยังคงเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุไม่มากเหมือนเช่นเดิม กรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่จะเป็นคนในวัย 40-50 ปี มีปูมหลังทางการศึกษาจากต่างประเทศ มีความเข้าใจทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัล
สังเกตเห็นได้จากแกนนำที่เป็นตัวเต็งเกือบทั้งหมดล้วนแล้วแต่ผ่านการศึกษามาจากต่างประเทศ เช่น “ไหม” ศิริกัญญา ตันสกุล จากฝรั่งเศส, “ต้น” วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร จากอังกฤษ, “ไอติม” พริษฐ์ วัชรสินธุ จากอังกฤษ, “โจ” ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร จากญี่ปุ่น เป็นต้น
10.
อาจมีความพยายามไม่ให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งยังไม่มีใครทราบว่าด้วยวิธีใดกันแน่ แต่เครื่องมือสำคัญคงหนีไม่พ้นกลไกรัฐบางส่วน เช่น กระบวนการยุติธรรม องค์กรอิสระ ระบบราชการ หน่วยงานด้านความมั่นคง กองทัพ ตลอดจนปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารและการผลิตสื่อโฆษณาชวนเชื่อ
ตัวอย่างที่เห็นในช่วงหลังคือมีคอนเทนต์ทั้งเพลง ละคร ซีรีส์ สารคดี ที่มีทุนสร้างสูง ออกเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์โดยไม่ระบุผู้สร้างและผู้ออกทุน
เนื้อหาส่วนใหญ่พยายามให้ความชอบธรรมกับระบอบเก่าและทำลายความน่าเชื่อถือของระบอบใหม่ ทั้งผ่านการอ้างเหตุผล ข้อมูล และโจมตีตัวบุคคลสำคัญบางคนเป็นการเฉพาะ
11.
เกิดการเมืองแบบ “สงครามตัวแทน” คือคู่ต่อสู้ที่แท้จริงอยู่ด้านหลังชักใยผู้เล่นที่แสดงออกอยู่ที่ฉากหน้า เป็นการเมืองแบบหลังฉาก กล่าวคือ หน้าฉากที่ปรากฏให้เห็นเป็นเพียงผลลัพธ์ที่มาจากการตกลงกันหรือทำลายล้างกันอยู่ข้างหลัง ก่อนที่ผลของการจับมือหรือต่อสู้ในฉากหลังจะปรากฏออกมาให้คนเห็นที่ฉากหน้า ดังนั้น การอ่านสถานการณ์ทางการเมืองจึงต้องอาศัยการสังเกตและถอดรหัสสิ่งที่เห็นเสียมากกว่าอาศัยกระบวนการทางการเมืองในระบบแบบตรงไปตรงมา อย่างเช่น กระบวนการนิติบัญญัติในรัฐสภา
12.
หวนคืนสู่ “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” ระบอบประชาธิปไตยเกิดการกลายพันธุ์กลายเป็นระบอบลูกผสมที่คำขยายใหญ่โตกว่าคำหน้า แทนที่ประชาธิปไตยอันหมายถึงอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจะเป็นแกนหลักของระบอบการเมืองการปกครองแต่กลับกลายเป็นคำขยายไปแทน ผลกระเทือนนี้ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยในไทยชะงักงันและติดหล่มไปอีกนานหลายปี
นอกจากนั้น ประชาชนยังถูกกันออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการรวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมือง เนื่องจากถูกเตะตัดขาหรือทอนกำลังลงได้โดยง่ายผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ดูน่ากังขา
มิหนำซ้ำยังมีมวลชนจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะแสดงอาการดีใจ เยาะเย้ยถากถาง หรือสมน้ำหน้า
ทั้งๆ ที่วิธีการนี้มิใช่การทำลายเพียงกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ยังบั่นทอนประชาธิปไตยทั้งหมดโดยรวมอีกด้วย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022