ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ฝนไม่ถึงดิน |
ผู้เขียน | ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี |
เผยแพร่ |
ปีนี้เข้าปีที่ 12 ที่ผมทำงานที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และปีนี้ผมได้โอกาสในการกล่าวปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่หลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรนี้เปิดมาเท่ากับจำนวนปีที่ผมเริ่มทำงาน
กล่าวคือ นักศึกษากลุ่มแรกที่ผมสอนก็คือกลุ่มแรกที่เข้าเรียนหลักสูตรนี้ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเกือบ 12 ปีที่แล้ว
สิ่งที่ผมถ่ายทอดต่อไปนี้เป็นกระบวนการเรียบเรียงความคิดของผมควบคู่กับสิ่งที่ผมได้พูดกับกลุ่มนักศึกษาใหม่ที่พวกเขาจะมีอายุต่างกับผมถึง 20 ปี เทียบกับช่วงอายุที่ต่างกันเพียง 7-8 ปี เมื่อผมเริ่มทำงานวันแรก
สิ่งที่ผมเห็นใน 12 ปี ก่อนที่จะมีรัฐประหารปี 2557 บรรยากาศการเมืองเป็นอีกแบบ
เราเห็นบรรยากาศของการเมืองภาคประชาชนรูปแบบต่างๆ เสรีนิยม ขบวนการรากหญ้า ขบวนการอนุรักษนิยม ก่อนที่จะจบลงที่รัฐประหารปี 2557
ใน 12 ปีเราเห็นความสิ้นหวังในช่วงแรกของการต้านรัฐประหาร
แต่ในขณะเดียวกัน 4 ปีถัดมาเราเห็นการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก้าวแรกทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จ
เราเห็นขบวนการคนรุ่นใหม่ที่แผ่ขยายอย่างกว้างขวาง การปราบปราม การแบ่งขั้วทางความคิด
เราเห็นการเลือกตั้งปี 2566 เห็นการเติบโตของพลังแห่งความหวัง
ผมเห็นนักศึกษาของผมจากรุ่นสู่รุ่น ที่เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในบทบาทที่แตกต่างกันในหน้าประวัติศาสตร์
“ผมมีเรื่องที่ง่ายที่สุดและสำคัญที่สุด ที่ผมอยากแชร์กับนักศึกษาใหม่ มันมาจากหนังสือเด็ก-เจ้าชายน้อย เป็นคำ Quote ที่พูดต่อกันมาหลายภาษา มาหลายปี ด้วยคำพูดที่ว่า – เรื่องที่สำคัญที่สุดที่มนุษย์ผู้ใหญ่หลงลืมคือสิ่งที่สวยงามที่สุดในโลกนี้ ไม่สามารถมองเห็นหรือสัมผัสได้ มันสามารถรู้สึกได้ด้วยหัวใจ”
ผมถามคำถามต่อนักศึกษาในประสบการณ์ของทุกท่านมีเคยมีสิ่งที่สวยงามที่รู้สึกได้ด้วยหัวใจหรือไม่?
มีหลากหลายคำตอบ ความรัก มิตรภาพ ความเชื่อใจ ความยุติธรรม ความเสมอภาค ความปลอดภัยในชีวิต ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญต่อมนุษย์แต่เราอาจไม่สามารถเห็นหรือสัมผัสได้
สำหรับผมความรู้สึกนี้เคยเกิดขึ้นชัดเจน เมื่อตอนช่วงปี 2564 เมื่อผมเห็นนักศึกษา ที่ชีวิตล้วนเปราะบาง หลายคนเป็นหนี้ กยศ. หลายคนยังต้องทำงานพาร์ตไทม์ ชีวิตลำบาก แต่พวกเขารวมตัวกันยืนหยัดเพื่อที่จะบอกต่อผู้คนที่มีอำนาจในสังคม เพื่อสร้างสังคมที่ยุติธรรม
พวกเขาถามท้ากับความอยุติธรรมหมายมาดปรารถนาในการสร้างสังคมที่ยุติธรรมากขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะทำไม่สำเร็จ หลายคนมีชีวิตที่ลำบากมากขึ้น หลายคนมีเส้นทางที่ต่างไป
แต่สำหรับผมการนึกถึงช่วงเวลานั้นคงเรียกได้ว่า สามารถนิยามในสิ่งที่สวยงามแต่มิอาจมองเห็นหรือสัมผัสได้
ผมอธิบายต่อไปว่าในเบื้องแรกที่ผมมาเป็นอาจารย์ ผมคิดว่าคงดีไม่น้อย หากผมสามารถมีลูกศิษย์ที่ไปต่อมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่มีชื่อเสียง จะ Oxford หรือ Harvard
คงจะดีไม่น้อย ได้ทุนการศึกษาของรัฐบาล
หรือหากพวกเขาสามารถที่จะเป็น CEO เจ้าของกิจการ เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นข้าราชการชั้นแนวหน้า ก็คงเป็นเรื่องที่ดีและสำคัญต่ออาชีพของครูอาจารย์ไม่น้อย
แต่เรื่องสำคัญที่ผมเรียนรู้ในช่วงเวลาสิบกว่าปีของการสอนมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะมีผม ก่อนที่จะมีธรรมศาสตร์ หรือก่อนหน้าที่เราจะได้สัมพันธ์กันในทางวิชาการ
โลกนี้ก็มี ส.ส.มาแล้วเป็นหมื่นเป็นแสนคน มีนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีมาแล้วเป็นหมื่นคน
หรือมีเศรษฐีนักธุรกิจมาแล้วเป็นแสนเป็นล้าน
หรือก็มีคนที่จบ Harvard หรือ Oxford มาแล้วเป็นหมื่นเป็นแสนคน
เหมือนกับที่โลกนี้พิมพ์เงินมาเป็นแสนๆ ล้านบาทต่อวัน โดยที่ไม่ได้ทำให้โลกนี้มันดีขึ้นหรือต่างไปแต่อย่างใด
ถ้าจะมีเพียงสิ่งเล็กๆ ที่ผมจะคาดหวังกับเด็กมัธยมที่จะเข้ามาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และอีก 4 ปีก็จะเข้าสู่โลกการทำงาน ก็มีเพียงแค่ให้พวกเขายืนหยัดกับความยุติธรรม อยู่เคียงข้างผู้ที่อ่อนแอ เจ็บปวดกับความทุกข์ร้อนของผู้อื่น
เราอาจไม่เคยต้องทำงานใช้แรงแต่เราสามารถสู้เพื่อค่าแรงขั้นต่ำได้
เราอาจไม่เคยท้องแต่สู้เพื่อสิทธิ์ลาคลอด 180 วันได้ ไม่เคยเป็นหนี้ กยศ. แต่ก็สามารถสู้เพื่อสิทธิ์มหาวิทยาลัยฟรีได้
สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นไม่ใช่เพียงแค่ ไฟ เกษตรกรรม อาวุธ หรือการประดิษฐ์ตัวอักษร แต่คือการที่เราสามารถรู้สึกเจ็บปวดกับเรื่องราวของผู้อื่นได้ คือเครื่องยืนยันความเป็นมนุษย์ของเรา
โลกใบนี้จะอยู่ในมือของพวกเขา พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเปลี่ยนแปลง และโลกนี้จะยุติธรรมมากขึ้น ในมือของคนรุ่นใหม่
ผมเขียนบทความนี้เสร็จประจวบเหมาะกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการยุบพรรคก้าวไกล พอดี ไม่ได้ทำให้เนื้อหาข้างบนเปลี่ยนแปลงแตกต่างไป
ผมเชื่อว่าไม่ช้าก็ไว ความก้าวหน้าจะมาแทนความล้าหลัง
ความเท่าเทียมจะมาแทนความเหลื่อมล้ำ
และไม่ว่าเราจะชอบหรือชัง เราก็จะต้องเตรียมใจสำหรับโลกที่ยุติธรรมมากขึ้นอยู่ดี
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022