หลังยุบ ‘ก้าวไกล’

การยุบพรรคก้าวไกลไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย

เพราะนี่คือสิ่งที่คนทั่วไปในสังคมไทยคาดเดาได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว คนที่สนใจการเมืองก็ยิ่งรู้ ส่วนนักการเมืองทั้งฝ่ายก้าวไกลเองและฝ่ายอื่นๆ ต่างก็ล่วงรู้เรื่องนี้กันดี มาก่อนวันที่ 7 สิงหาคม

นี่คือเรื่องที่ทุกคนรู้ๆ กันอยู่ จนเมื่อพรรคก้าวไกลถูกยุบขึ้นมาจริงๆ จึงไม่ได้เกิดผลสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นหรือความเปลี่ยนแปลงใหญ่ต่อสังคมการเมืองไทยอย่างฉับพลันทันที

(ทั้งๆ ที่การยุบสถาบันการเมือง ที่มี ส.ส.ร้อยกว่าเสียง และชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว นั้นไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาสักเท่าไหร่)

ปัญหาคือพวกเราได้อะไรจากการ “ยุบก้าวไกล”?

ถ้าถามว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะช่วยขจัด-บรรเทาความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยได้หรือไม่?

ใครๆ ก็รู้ว่าลำพังแค่การยุบก้าวไกล ความแตกแยกทางการเมืองที่มีรากลึกกว่านั้นคงไม่สูญสลายหายไป เพราะพรรคก้าวไกล/อนาคตใหม่ก็เป็นเพียงดอกผล-พลวัตหนึ่งที่ผลิบานออกมาจากความขัดแย้ง ซึ่งก่อตัวมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540

แม้ไม่มีก้าวไกล ความขัดแย้งใหญ่ของสังคมการเมืองไทยก็จะยังคงดำรงอยู่ มิหนำซ้ำ กลับจะยิ่งทวีอาการร้าวลึกยิ่งขึ้น เมื่อมีพรรคการเมืองอีกหนึ่งพรรค ที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเกินสิบล้านเสียง โดนยุบซ้ำอีกหน

ยังไม่นับว่าสังคมไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางสังคมเศรษฐกิจ ติดตัวมาแต่เดิมอย่างมากมายมหาศาล

ปัญหาเหล่านั้นล้วนเป็นมูลเหตุแห่งความขัดแย้งแตกแยก ที่แก้ไขไม่ได้ด้วยการยุบพรรคการเมือง

ขณะเดียวกัน ความคิด-อุดมการณ์แบบ “ก้าวไกล” ก็ไม่ได้สูญหายไปไหน

อย่างน้อยที่สุด เราสามารถวัดเรื่องนี้ได้จากอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากที่แสดงออกมาทันที ภายหลังพวกเขาได้รับฟังคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ถ้ามีคนห่วงเรื่อง “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย”

ดูเหมือนว่าหลังจากวันที่ 7 สิงหาคม 2567 โอกาสในการถูก “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” นั้นจะยังมีอยู่ดังเดิม แม้ไม่มีพรรคก้าวไกลแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าทุกอย่างในสังคมการเมืองไทยนับจากนี้จะคงเดิมไปหมดเสียทุกอย่าง

ดังที่หลายคนรู้กันดีว่า การลงมือทำอะไรแบบเดิม ใช่ว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์เดิมๆ ทุกครั้งไป

เช่น การยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้ก่อให้เกิดพรรคก้าวไกล ที่เติบโตขึ้นจากอนาคตใหม่อย่างผิดหูผิดตา

ส่วนการยุบก้าวไกลจะก่อให้เกิดอะไรนั้น ยังไม่มีใครคาดเดาผลลัพธ์ได้แน่ชัดนักหรอก แม้กระทั่งตัวคนยุบเอง

อีกเรื่องที่น่าห่วง คือ การยุบพรรคการเมืองซ้ำๆ และการ “เปลี่ยนข้างรวบขั้ว” ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะเดียวกัน กลับยิ่งทำให้ “ทางเลือกของการเมืองไทย” มีลักษณะลีบเรียวคับแคบลง

แม้พรรคการเมืองยังมีหลายพรรค พรรคที่โดนยุบก็มีพรรคใหม่กำเนิดขึ้นมาแทนที่ ทว่า แท้จริงแล้ว ประชาชนกลับเผชิญหน้ากับ “ตัวเลือก” ที่เหลืออยู่เพียงแค่สองทางหลักๆ

การยุบพรรคก้าวไกลคือการตะโกนท้าทายหรือยื่นคำขาดอย่างเสียงดังฟังชัดกับพลเมืองทั้งสังคมว่า พวกเขาจะเลือกแนวทางทางการเมือง “แบบก้าวไกล” หรือ “ไม่ก้าวไกล”

ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากในอนาคตอันใกล้ ดันมีประชาชนมากเกินกว่า 14 ล้านคน ที่ร่วมกันยื่นคำขาดกลับไปว่า พวกเขาพร้อมจะเลือกวิถีทาง “แบบก้าวไกล”

สังคมไทย (โดยการตัดสินใจของคณะผู้มีอำนาจ) กำลังเดิมพันกับตัวเองสูงขึ้นเรื่อยๆ •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน