ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
ตลอดเวลาเกือบสามทศวรรษที่ผ่านมา เชค ฮาซีนา กุมอำนาจสูงสุดอยู่ในบังกลาเทศมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี อำนาจทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศขนาดเล็กในเอเชียใต้ที่มีประชากร 171 ล้านคนแห่งนี้ยืนยาวมาได้ขนาดนั้น ก็ด้วยอาศัยความเชี่ยวกรากและกลเม็ดเด็ดพรายทางการเมือง ผสมผสานกับอำนาจที่ได้รับการหนุนหลังจากกองทัพ
ผลของการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งให้ เชค ฮาซีนา ขึ้นครองอำนาจสูงสุดอีกครั้งเป็นสมัยที่ 5 ท่ามกลางเสียงครหาเพิ่มมากขึ้นทุกทีว่า ยิ่งนับวัน รัฐบาลและองคาพยพแห่งอำนาจทั้งหลายใช้อำนาจไปในทางกดขี่ข่มเหงราษฎรมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ยังจับกุมคุมขังบรรดานักการเมืองฝ่ายตรงข้าม บ่อนทำลายโครงสร้างทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแทบไม่หลงเหลือ
ตรงกันข้ามกลับขยับเข้าใกล้ความเป็นรัฐเผด็จการที่ปกครองโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือ พรรคสันนิบาตอวามี (เอแอล) ของท่านผู้นำ
เชค ฮาซีนา อาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จ ผสมกับความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจที่ทำให้จีดีพีของประเทศขยายตัวสูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์ก่อนหน้าเกิดวิกฤตโควิด กุมอำนาจในบังกลาเทศเรื่อยมา
สูตรสำเร็จในการครองอำนาจทางการเมืองของเชค ฮาซีนา ดูเหมือนจะได้ผลมาตลอด จนกระทั่งเกิดการชุมนุมประท้วงขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นำโดยขบวนการนักศึกษา ที่ไม่พอใจการฟื้นฟูระบบโควต้า ซึ่งใช้เพื่อจัดสรรตำแหน่งหน้าที่ราชการราว 30 เปอร์เซ็นต์ ให้กับบรรดาลูกหลานของอดีตนักรบในสงครามเพื่ออิสรภาพ เมื่อครั้งบังกลาเทศแยกตัวออกมาจากปากีสถานในปี 1971
ข้อครหาของผู้ชุมนุม ก็คือ การรื้อฟื้นระบบเก่าดังกล่าวขึ้นมา เพียงเพื่อยังประโยชน์ให้กับลูกหลานของบรรดานักการเมืองของพรรคสันนิบาตอวามีโดยเฉพาะ รัฐบาลใช้วิธีการปราบปรามอย่างหนัก ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปจากการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างน้อย 200 ราย
โดยที่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า มีคนตายในการประท้วงครั้งนี้มากมายกว่านั้นหลายเท่า นอกเหนือจากที่มีการกวาดจับผู้ชุมนุมไปคุมขังไว้กว่า 1,000 คน
แต่การปราบปรามแทนที่จะทำให้การชุมนุมประท้วงสร่างซาลง กลับกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้มากยิ่งขึ้นจากขบวนการนักศึกษาและประชาชน ในวันที่ 3 และ 4 สิงหาคม ชาวบังกลาเทศแห่แหนกันออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนเป็นเรือนแสน
ขมวดปมเรียกร้องเหลือเพียงประการเดียว นั่นคือ นายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิต
รัฐบาลยืนกรานเดินหน้าปราบปราม เพิ่มมาตรการเข้มข้นยิ่งขึ้นด้วยการประกาศเคอร์ฟิว ตัดการเชื่อมต่อกับเครือข่ายบรอดแบนด์และบริการของเครือข่ายมือถือทั้งหมด
เช้าวันที่ 5 สิงหาคม ผู้ประท้วงเป็นเรือนแสน เคลื่อนขบวนมุ่งหน้าสู่บ้านพักนายกรัฐมนตรีในกรุงธากา เผชิญกับสารพัดการต่อต้านจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งแต่แก๊สน้ำตา ไปจนถึงกระสุนยางและกระสุนจริง
สถานการณ์ส่อเค้าว่ากำลังจะบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ กลายเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อให้นายทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เรื่อยไปจนถึงกลุ่มนักการเมืองอาวุโสในพรรคสันนิบาตอวามี ที่ตัดสินใจยับยั้งการใช้ความรุนแรงปราบปราม ปล่อยมวลชนให้รุดหน้าไปยังบ้านพักของเชค ฮาซีนา
นายกรัฐมนตรีหญิงของบังกลาเทศ ได้ตระหนักในอีกไม่นานต่อมาว่า อำนาจของกองทัพที่เคยให้การสนับสนุนตนเองยุติลงแล้ว เชค ฮาซีนา ถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อ “นำไปยังที่ปลอดภัย” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการเดินทางสั้นๆ สู่อินเดีย เพื่อเตรียมการลี้ภัยไปยังจุดหมายปลายทางในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษต่อไป
พล.อ.วอล์กเกอร์ อุซ-ซามาน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แถลงยืนยันในเวลาต่อมาว่า นายกรัฐมนตรีได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว และทางกองทัพเตรียมการจัดตั้งรัฐบาลรักษาการขึ้นภายใต้การหารือกับฝ่ายค้านและภาคประชาสังคม
โดยเลือก โมฮัมหมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่นอกประเทศ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราวเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง “ที่เสรีและเป็นประชาธิปไตย” ขึ้นต่อไป
ท่ามกลางความปรีดาปราโมทย์ของผู้ชุมนุมประท้วง อนาคตของบังกลาเทศยังคงแขวนอยู่บนเส้นด้าย
คําถามข้อใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นตามมาในเวลานี้ก็คือ รัฐบาลรักษาการภายใต้การหนุนหลังของกองทัพ สามารถฟื้นฟูความสงบ เป็นระเบียบเรียบร้อย ขึ้นได้หรือไม่ หรือบังกลาเทศที่ยังคงเป็นสังคมแตกแยก แบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนจะตกกลับสู่วังวนของความรุนแรงอีกคำรบในเร็ววัน
ประการถัดมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่า รัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศจะสามารถฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่น่าเชื่อถือขึ้นในบังกลาเทศได้อีกครั้งหรือไม่
ผู้สันทัดกรณีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า พรรคแห่งชาติบังกลาเทศ (บีเอ็นพี) พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด ไม่เพียงมีผู้นำหลายคนถูกจับกุมคุมขังอยู่ในเวลานี้ ยังมีประวัติความเป็นมาที่เต็มไปด้วยปัญหาทำนองเดียวกันกับที่พรรคสันนิบาตอวามี เคยมี อาทิ การสืบทอดอำนาจทางการเมืองสู่ลูกหลานของตนเอง การเล่นพรรคเล่นพวก เรื่อยไปจนถึงประวัติในการกดขี่และใช้อำนาจทางการเมืองในทางที่ผิดอีกด้วย
บังกลาเทศจำเป็นต้องมีนวัตกรรมทางการเมืองที่ทรงพลัง และยืนหยัดอยู่เคียงข้างประชาชนอย่างแท้จริง
ชาวบังกลาเทศเคยมีสิ่งที่ใกล้เคียงกับสิ่งนี้มาแล้วในปี 2007 เมื่อ โมฮัมหมัด ยูนุส พยายามจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองใหม่ขึ้นมา แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จ
ครั้งนี้ ทุกฝ่ายได้แต่หวังว่า ภายใต้การสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่ อดีตเจ้าของรางวัลโนเบลรายนี้จะประสบความสำเร็จ เพื่ออนาคตของบังกลาเทศทั้งประเทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022