เจาะปมประท้วงเดือดบังกลาเทศ ขับนายกฯ พ้นเก้าอี้

Anti-government protestors display Bangladesh's national flag as they storm Prime Minister Sheikh Hasina's palace in Dhaka on August 5, 2024. Bangladesh army chief Waker-Uz-Zaman spent nearly four decades rising to the top of the military and said on August 5, he was "taking full responsibility" after Prime Minister Sheikh Hasina was ousted and fled (Photo by K M ASAD / AFP)

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศที่ยาวนานถึง 15 ปีของนางเชค ฮาซีนา ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม จากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กินเวลานานหลายสัปดาห์จนถึงจุดแตกหักที่ผู้ประท้วงหลายพันคนบุกเข้าไปในทำเนียบนายกรัฐมนตรี จนทำให้เธอต้องหนีออกนอกประเทศ

ในเมื่อตอนนี้ยังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าอนาคตการเมืองของบังกลาเทศจะเป็นอย่างไร จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะเจาะลึกการประท้วงที่นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์บังกลาเทศ

การประท้วงเริ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นักศึกษามหาวิทยาลัยได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างสงบเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกการกำหนดโควต้าตำแหน่งงานในภาครัฐ หลัง 1 ใน 3 ของตำแหน่งงานดังกล่าวถูกสงวนไว้ให้ญาติของทหารผ่านศึกที่ร่วมทำสงครามจนได้รับเอกราชจากประเทศปากีสถานในปี 1971

ผู้ประท้วงอ้างว่าระบบนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ เอาไว้ให้สมาชิกพรรคอวามีลีกของเธอเข้าทำงานในภาครัฐ และควรถูกปฏิรูป

ถึงแม้ว่าต่อมาศาลสูงสุดของบังกลาเทศจะตัดสินว่าการกลับมากำหนดโควต้าทำงานภาครัฐดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่คำตัดสินของศาลไม่ได้ยกเลิกการสงวนโควต้างานดังกล่าวทั้งหมด

ในเวลาต่อมา การประท้วงต่อต้านนโยบายได้ขยายวงกลายเป็นการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ผู้ที่ออกมาประท้วงไม่ได้มีแค่นักศึกษาอีกต่อไป แต่ยังมีชาวบังกลาเทศวัยทำงานออกมาเคลื่อนไหวด้วย

เมื่อการประท้วงขยายวง การปะทะกับตำรวจและผู้สนับสนุนรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นตามมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน

นางฮาซีนาได้สั่งให้ตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในบางพื้นที่ของประเทศ ประกาศเคอร์ฟิว และเรียกผู้ประท้วงว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย” ที่หวังทำลายเสถียรภาพของประเทศ

จนท้ายที่สุดเพียง 1 วันหลังการปะทะที่นองเลือดที่สุด มีผู้เสียชีวิตมากถึง 94 คน นางฮาซีนาได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกจากบังกลาเทศหลังผู้ประท้วงนับพันคนได้บุกเข้าไปในทำเนียบนายกรัฐมนตรีของเธอ

ผู้ชุมนุมนับล้านคนบนท้องถนนเฉลิมฉลองและเต้นรำบนรถหุ้มเกราะของกองทัพหลังการประกาศลาออกของเธอ

อย่างไรก็ตาม โควต้าการเข้าทำงานในภาครัฐไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดการประท้วง

นางฮาซีนาทำให้บังกลาเทศเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก รายได้ต่อหัวของชาวบังกลาเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหลังประชาชน 25 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน มีการสร้างถนน สะพาน และโรงงานใหม่

แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการเติบโตดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้ตำแหน่งงานที่รองรับนักศึกษาจบใหม่เพิ่มขึ้นตาม

มีการประมาณการว่าคนวัยหนุ่มสาวชาวบังกลาเทศมากถึง 18 ล้านคนยังว่างงาน นักศึกษามหาวิทยาลัยของบังกลาเทศต้องเผชิญกับอัตราการว่างงานสูงกว่าคนรุ่นเดียวกันที่ระดับการศึกษาต่ำกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าบังกลาเทศจะเป็นอุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่ของโลก แต่การทำงานในโรงงานไม่ได้เป็นที่ดึงดูดสำหรับเด็กบังกลาเทศรุ่นใหม่ เหตุผลที่ว่ามานี้ทำให้พวกเขาอยากให้มีการยกเลิกการกำหนดโควต้าตำแหน่งงานในภาครัฐ เพื่อที่พวกเขาจะมีงานทำมากขึ้น

ผู้ประท้วงหลายคนยังไม่พอใจการคอร์รัปชั่นภายในรัฐบาลของนางฮาซีนาอีกด้วย ชาวบังกลาเทศจำนวนไม่น้อยมองว่าผู้ที่มีความใกล้ชิดกับพรรคอวามีลีกเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ประชาชนคนธรรมดาต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิยังชี้ว่านางฮาซีนายังกดขี่ผู้เห็นต่าง สื่อ และผู้ที่วิจารณ์รัฐบาล

ผู้ประท้วงทำสำเร็จในการขับไล่นายกรัฐมนตรีฮาซีนาพ้นจากตำแหน่งและมีการประกาศยุบสภาในวันที่ 6 สิงหาคม แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าอนาคตของบังกลาเทศจะเป็นอย่างไร

และจะสามารถออกจากความปั่นป่วนทางการเมืองครั้งใหญ่นี้ได้หรือไม่

เวลาเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้