ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | จดหมาย |
เผยแพร่ |
จดหมาย | ประจำวันที่ 9-15 สิงหาคม 2567
• ผมอยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่
ที่มิวนิก โอลิมปิก 1972
ทันทีที่ทราบข่าวจากสื่อไทย
ว่ามีการก่อวินาศกรรมวางเพลิงเผารางรถไฟป่วนเครือข่ายการสื่อสารของระบบรถไฟฝรั่งเศส ก่อนการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เหตุเกิดช่วงเช้าของวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ก่อนเริ่มการแข่งขันเพียงไม่กี่ชั่วโมง
ทำให้รถไฟหลายสายของฝรั่งเศสต้องหยุดชะงัก ผู้โดยสารเป็นแสนๆ ต้องค้างเติ่ง
และการก่อวินาศกรรมนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น
นึกย้อนไปถึงการก่อเหตุวินาศกรรมขึ้นครั้งแรกในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ครั้งที่ 20
จัดขึ้นเมื่อ 52 ปี ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม-11 กันยายน พ.ศ.2515 หรีอ ปี ค.ศ.1972 ณ เมืองมิวนิก มลรัฐบาวาเลีย ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนีตะวันตก
ในช่วงเวลานั้น ประเทศเยอรมนีแบ่งออกเป็น 2 ประเทศ
เยอรมนีตะวันตกใช้การปกครองแบบประชาธิปไตย
ส่วนเยอรมนีตะวันออกใช้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์
รัฐบาลไทยในสมัยนั้นอนุญาตให้คนไทยไปได้เฉพาะเยอรมนีตะวันตกเท่านั้น
เยอรมนีตะวันออกคนไทยไปไม่ได้
การเข้าเยอรมนีตะวันตกของคนไทยในช่วงเวลานั้นสะดวกสบายมาก เนื่องจากไม่ต้องมีวีซ่า
อะไรๆ ดูง่ายๆ สะดวกสบายไปหมด เมื่อเทียบกับปัจจุบัน การเข้าเยอรมนีค่อนข้างยาก
ผมไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
เยอรมนี และฝรั่งเศสเป็นทางผ่าน
ผมถือโอกาสแวะเที่ยวปารีส ฝรั่งเศส ก่อนจะไปมิวนิก
ผมตื่นเต้นมากที่ได้มีโอกาสเดินทางออกนอกประเทศ สมัย 50 ปีก่อน เป็นประเพณีที่คุณพ่อ คุณแม่ ญาติ พี่น้อง ต้องมาส่ง ทุกๆ คนที่ไปส่ง ดีใจที่เราไปหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อกลับมาทำงานทดแทนบุญคุณบ้านเกิด
คนไปส่งหลายคนอดร้องไห้ไม่ได้ ในยุคนั้นสมัยนั้น ไม่มีการกลับมาเยี่ยมบ้านระหว่างเรียน
สำเร็จการศึกษาแล้วถึงกลับมาดินแดนมาตุภูมิ
การไปมิวนิกในยุคนั้นไม่มีการบินตรง เครื่องบินต้องแวะ ตลอดทาง 4-5 แห่งเห็นจะได้
คือ บังกลาเทศ (ปากีสถานตะวันออกเดิม) การาจี ปากีสถาน (ปากีสถานตะวันตก) จอร์แดน และอีกหลายๆ ประเทศแถบตะวันออกกลาง
จากกรุงเทพฯ -ปารีส ใช้เวลา 24 ชั่วโมง
จากนั้นต้องเปลี่ยนเครื่องบินที่ปารีส บินมายังเมืองมิวนิก
ผมถึงสนามบินนานาชาติมิวนิก ก่อนวันพิธีเปิดโอลิมปิกประมาณ 3-4 วัน
เช้าตรู่ของวันที่ 5 กันยายน 2515 ในขณะที่อยู่ระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก เป็นเวลาที่ทุกๆ คนกำลังหลับสบาย
ประมาณตีสี่ กลุ่มผู้ก่อการร้ายใช้ชื่อว่า กันยาทมิฬ (Black September) จำนวน 8 คน บุกเข้าไปในหมู่บ้านนักกีฬา
จับตัวนักกีฬาอิสราเอล 9 คนเป็นตัวประกัน และได้สังหารโค้ชมวยปล้ำ 1 คน และนักกีฬายกน้ำหนักชาวอิสราเอลอีก 1 คน
เงื่อนไขที่ผู้ก่อการร้ายยื่นให้อิสราเอลคือ ให้ปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ 234 คน เป็นการแลกเปลี่ยนตัวประกัน
การปฏิเสธ คือหลักการปฏิบัติที่ทางอิสราเอลถือมาตลอด
เพราะหากยอมรับเงื่อนไข ศัตรูก็จะทำลักษณะนี้อย่างไม่จบไม่สิ้น
ทางเยอรมนีพยายามอย่างไม่ลดละในการส่งคนเข้าไปเจรจากับผู้ก่อการร้าย แต่ไม่เป็นผล
ผู้เข้าไปเจรจาต้องทำตามที่ผู้ก่อการร้ายตั้งเงื่อนไข ซึ่งค่อนข้างรัดกุม
เช่น ตัวแทนต้องเป็นสุภาพสตรีเท่านั้น ปลอดอาวุธทุกชนิด ใส่กางเกงขาสั้น เปิดท้องและส่วนอื่นๆ ของร่างกายให้เห็นว่าไม่มีอาวุธ หรือวัตถุที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้
หลายๆ สำนักข่าวรายงานว่า ผู้ก่อการร้ายพูดภาษาเยอรมันคล่องเอาการทีเดียว การเจรจาเป็นการเจรจาที่หินสุดสุด มีเงื่อนไขมากมาย ละเอียดยิบ
ผู้ก่อการร้ายใช้ตัวประกันเป็นโล่กำบังตลอดเวลา
ทางการส่งกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยและหน่วยซุ่มยิงของเยอรมันเป็นจำนวนมาก น่าจะเกิน 100 อัตรา กระจายกำลังไปตามตึกต่างๆ รอบๆ ตึกที่ตัวประกันและผู้ก่อการร้ายใช้อยู่ ไม่ว่าจะมองไปที่ไหน หลังคา หรือเฉลียง เป็นเจอหน่วยนี้ทั้งนั้น
การปฏิบัติงานครั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของเยอรมนีกับอีกหน่วยงานของอีกประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า อิสราเอลได้ส่งหน่วยพิฆาตมาที่เยอรมนี แต่เยอรมนีไม่ให้เข้าร่วมปฏิบัติการ
เหตุการณ์ผ่านไปจนถึงสิ้นวัน การเจรจายังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะผู้ก่อการร้ายยื่นเงื่อนไขเหมือนเดิม ในขณะที่ไม่มีใครเปิดเผยถึงเงื่อนไขของอิสราเอล และเยอรมนีเลย
เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน ในเยอรมนีกลางวันยาวกว่ากลางคืนมาก ในช่วงเวลาดึกๆ ใกล้ๆ เที่ยงคืน รอยต่อของการขึ้นวันใหม่ มีการเคลื่อนย้ายผู้ก่อการร้ายและตัวประกันทีละชุดๆ
ผู้ก่อการร้ายทำงานแบบมืออาชีพมาก คาดว่าได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี ผู้ก่อการร้ายจะนำตัวประกันเป็นโล่ไปขึ้นรถด้วยกัน
เมื่อตรวจตราจนมั่นใจว่าปลอดภัย เช่น ไม่มีศัตรูแอบซ่อน หรือมีระเบิดซุกอยู่ หรือสิ่งแปลกปลอมซุกอยู่ในรถ หลังจากนั้นค่อยให้สัญญาณให้ชุดต่อไปที่อยู่ในบ้านซึ่งทำหน้าคุ้มกันตามไปที่รถ พวกที่อยู่ในรถก็ทำหน้าที่คุ้มกันแทน เป็นการสลับหน้าที่กันทำงาน
ในช่วงเช้าของวันถัดมา วันที่ 6 กันยายน เวลาประมาณตี 2 ผู้ก่อการร้ายบังคับให้ตัวประกันออกจากรถยนต์ไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์พร้อมๆ กับตัวเอง เพราะเป็นการป้องกันจากการถูกยิงจากพลซุ่มยิง
เมื่อเหตุการณ์สังหารที่มิวนิกสิ้นสุดลง มียอดผู้เสียชีวิตรวม 20 คน เป็นตัวประกันชาวอิสราเอล 11 คน ผู้ก่อการร้าย 8 คน ตำรวจ 1 นาย
เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวประกันเสียชีวิตทั้งหมด
ทันทีที่เหตุการณ์นี้คลี่คลาย ผมตรงดิ่งไปยังสนามบินเพื่อหนีไปประเทศที่ใกล้ที่สุด
โชคเข้าข้างผม ผมซื้อตั๋วเครื่องบินจากมิวนิกไปปารีสได้
เหตุการณ์สังหารหมู่ที่มิวนิกเป็นโศกนาฏกรรมที่มนุษย์เราทุกๆ คนไม่อยากให้เกิด และเป็นการสูญเสียที่สุดจะประเมินค่าได้
ขออย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ผมคนหนึ่งละที่ไม่ต้องการอยู่ในเหตุการณ์สังหารหมู่แบบนี้
เพิ่มชัย ศุภมิตร
ปารีสเกมส์ ใกล้ปิดฉาก
โชคดีไม่มีโศกนาฏกรรมรุนแรงเกิดขึ้น
ขอบคุณ “เพิ่มชัย ศุภมิตร”
ที่ย้อนอดีตขมขื่น
เป็นบทเรียนเตือนใจว่าไม่ควรเกิดในปัจจุบันและอนาคต
และหวังว่า “อิสราเอล” ที่ผ่านสิ่งโหดร้ายมามาก
จะเป็นตัวหลักในการคลี่คลายปัญหาในตะวันออกกลาง
ที่ทั่วโลกห่วงใยว่าจะบานปลาย
เป็นโศกนาฏกรรมโลกอีกครั้ง •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022