ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 - 15 สิงหาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ขอแสดงความนับถือ
หากมอง “แม่” ในมุมกว้าง
มิใช่ปัจเจก แต่มองกว้างเป็น “มาตุภูมิ” หรือ “แผ่นดินแม่”
ในมติชนสุดสัปดาห์นี้ มีมุมมองของคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ ที่น่าสนใจ
รุ่นใหม่ คือ ตะวัน มานะกุล
รุ่นใหญ่คือ สุทธิชัย หยุ่น เจ้าของนามปากกา “กาแฟดำ” ที่พวกเรารู้จักกันดี
แต่ “ตะวัน มานะกุล” ซึ่งเป็น “แขก” แวะเวียนมาเยือน “มติชนสุดสัปดาห์” เป็นครั้งคราว
สมควรต้องแนะนำ
แนะนำโดยอ้างอิงผ่านเอกสารประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอแสดงความยินดีกับ ตะวัน มานะกุล บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ประจําปี 2557
สําเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาทฤษฎีการเมือง (Political Theory) ณ วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (The London School of Economics and Political Science) สหราชอาณาจักร
และปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ (Faculty of political Science) ณ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) สหราชอาณาจักร”
ตามโฟล์ไฟล์ข้างต้น
ตะวัน มานะกุล ไม่ธรรมดา
และถือเป็น “หัวกะทิ” ของประเทศ
ตะวัน มานะกุล เขียนบทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ (หน้า 66)
เรื่อง “ความรู้สึกไร้อำนาจกับอาการสิ้นหวังทางการเมือง”
เกี่ยวเนื่องกับ “มาตุภูมิ”
เขาเริ่มต้นบทความพิเศษของเขาว่า
“แต่ก่อนเรื่องย้ายหนีไปอยู่ต่างประเทศนี่
ผมเข้าใจว่าเขาเอาไว้บ่นตัดพ้อกัน
ไม่ก็ไว้ให้ใครบางคนเอาไว้ขับไล่ผู้เห็นต่างทางการเมือง
แต่ในฐานะคนเดินทางไปทำงานไทย-ต่างประเทศ
กลับบ้านรอบนี้ผมรู้สึกว่าคนที่พูดเรื่องนี้เขาจริงจังกันขึ้นมาก”
(พูดว่า) “ผมขายที่ดินส่งลูกไปโตเมืองนอกหมดแล้ว เกิดมาหกสิบปีรู้สึกว่าประเทศไทยมีความหวังบ้าง ไม่มีบ้าง แต่ช่วงหลังมานี้ผมรู้สึกว่าไม่มีเลย”
(พูดว่า) “เชื่อผม อีกไม่เกินสิบยี่สิบปี ประเทศนี้ล่มสลายแน่นอน ทำอะไรไม่ได้ด้วย”
(พูดว่า) “ตอนนั้นกูมีโอกาสอยู่ต่อ กูไม่น่าตัดสินใจกลับมาเลย”
ตะวัน มานะกุล เขียนอีกว่า
“…ถ้อยคำเหล่านี้ชวนให้ผมใคร่ครวญอยู่พักใหญ่
เพราะอีกสักพักผมจะกลับไปทำงานในไทยถาวร
ส่วนตัวผมเข้าใจว่าทั้งหมดนี้เกิดจากความรู้สึกหมดหวัง
แต่อยากเข้าใจว่าความหมดหวังนี้มันเกิดจากอะไร…”
และด้วยความ อยากเข้าใจ นั้น
จึงนำมาสู่บทความพิเศษ “ความรู้สึกไร้อำนาจกับอาการสิ้นหวังทางการเมือง” ดังกล่าว
อ่านแล้วจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
เป็นสิ่งที่เราในฐานะผู้ร่วม “มาตุภูมิ” ควรคิดและไตร่ตรอง
ว่าทำไมคนไทยจำนวนหนึ่งจึง “ทิ้งแผ่นดินแม่”
และเมื่อ ตะวัน มานะกูล ซึ่งตัดสินจะกลับมาทำงานไทย “อย่างถาวร”
“แผ่นดินแม่” จะเอื้อต่อการกลับมาเพียงใด
ทั้งนี้ สุทธิชัย หยุ่น แห่งคอลัมน์กาแฟดำ
ตั้งประเด็นอย่างสอดคล้อง ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้
ทำไม “หัวกะทิ” ไทยไม่กลับบ้าน?
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับมาทำงานในประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งการเสนอให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งลูกจ้างและนายจ้างนี้
“กาแฟดำ” ชวนตั้งคำถามว่า เกาถูกที่คัน และจูงใจคนไทยในต่างแดนเพียงพอที่จะตัดสินใจย้ายตัวเองกลับมาทำงานในเมืองไทยไหม
และชีวิตแบบ “ไทยๆ” ที่ต้องมีเส้นสาย
ต้องมีคอนเน็กชั่น
ต้องอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์
ต้องทนกับเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบที่มีอยู่ในเกือบทุกซอกมุมของสังคมไทย
จะทำให้ “หัวกะทิ” รับมือและปักหลักอยู่ “มาตุภูมิ” ได้แค่ไหน
หรือเมื่อมีโอกาสและช่องทางที่ดีกว่า
หลายคนจึงต้องทำใจทิ้งแผ่นดิน “แม่” •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022